“ทองเปลว” เปิดแผนจัดการน้ำ ลุยโปรเจ็กต์ยักษ์รับยุทธศาสตร์ 12 ปี

สัมภาษณ์

จากสภาวะอากาศที่แปรปรวนหนัก บางปีแล้งบางปีฝนตกชุกเกินไป ทำให้แผนการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐเริ่มซับซ้อนมากขึ้นในการด้านซัพพลายและด้านดีมานด์ ทั้งการใช้น้ำในหลายภาคที่มากขึ้น การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ต้องวางแผนจัดสรรน้ำป้อน รวมทั้งต้องสอดรับกับยุทธศาสตร์น้ำระยะเวลา 12 ปี “ประชาชาติธุรกิจ” จึงถือโอกาสสัมภาษณ์ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ช่วยราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน ถึงแผนบริหารจัดการเพื่อให้เกิดความสมดุลมากที่สุด ดังต่อไปนี้

Q : ขอทราบนโยบายการบริหารจัดการน้ำกรมชลประทาน

นโยบายด้านการจัดสรรน้ำหลัก ๆ เลยคือการสนับสนุนกิจกรรมอย่างพอเพียง และสำรองน้ำสำหรับการเพาะปลูกต้นฤดูฝนปีถัดไป โดยจัดลำดับความสำคัญ 1.เพื่อการอุปโภคบริโภคและการประปา 2.เพื่อการรักษาระบบนิเวศทางน้ำ เช่น การผลักดันน้ำเค็ม การขับไล่น้ำเสีย 3.เพื่อการเกษตรกรรม 4.เพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งกรมชลประทานได้วางแผนปริมาณน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตชลประทาน ปี 2560/2561 รวมทั้งประเทศ ปริมาณน้ำใช้การ ณ 1 พ.ย. 2560 รวมทั้งประเทศ 42,350 ล้าน ลบ.ม. และแผนการจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้ง ปี 2560/2561 รวม 25,067 ล้าน ลบ.ม. และสำรองน้ำช่วงต้นฤดูฝน 16,757 ล้าน ลบ.ม.

Q : แผนบริหารจัดการน้ำปี”61

ผมได้แบ่งแผนบริหารจัดการน้ำเป็น 2 ฤดู คือ ฤดูฝน แต่ละภาคจะเหลื่อมกันเดือนสองเดือน ภาพใหญ่จะอยู่ช่วงเดือนพฤษภาคม-31 ตุลาคม ทุกปี และฤดูฝน คือฤดูการเพาะปลูก ทางกรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศในอีกลักษณะ ซึ่งจะมีตัวชี้วัดต่างกัน คือถ้าฝนตกต่อเนื่องจากช่วงนั้นถึงช่วงนี้ก็จะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย โดยปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝน 16 พ.ค. ซึ่งจะมาประสานกรมชลประทาน นั่นคือถ้าเป็นฤดูการเพาะปลูกในลุ่มเจ้าพระยา เราจะเริ่ม 1 พ.ค. หากฝนมาหรือไม่มาในเขตชลประทานจะต้องมีน้ำจากเขื่อนให้เลย เราก็ระบายน้ำให้ไป ต่อมาเมื่อฤดูฝนผ่านเข้าสู่ฤดูแล้งก็จะเริ่มจาก 1 พ.ย.-30 เม.ย.

ทุก ๆ ปี การเพาะปลูกเราจึงไม่เรียกฤดูฝนหรือแล้ง แต่เราจะเรียก ปลูกครั้งที่ 1 ฤดูฝน และครั้งที่ 2 คือ ฤดูแล้ง ที่ทำอย่างนี้เพราะว่าที่ผ่านมาการเพาะปลูกในฤดูฝนก็เหลื่อมคาบฤดูถัดมา เพราะฉะนั้น โดยเฉพาะในลุ่มเจ้าพระยา ในหนึ่งปีการเพาะปลูก 2-3 ครั้ง ที่ผ่านมาจึงเป็นข้อเสีย ทำให้ผลผลิตล้น การใช้น้ำเยอะ เราจึงมาคิดว่าในหนึ่งปีควรที่จะปลูก 2 ครั้งเท่านั้น จึงจะสมดุลทั้งการผลิต และการตลาด

พอเข้าสู่ฤดูแล้ง เราก็มาดูว่าจะมีน้ำในเขื่อนต่าง ๆ เท่าไร หลัก ๆ เลยคือ น้ำตรงนี้จะใช้ในการอุปโภค-บริโภค อุตสาหกรรม ทุกเขื่อน หมายถึงว่า ในช่วงฤดูแล้งหากไม่มีฝน ต้องใช้น้ำจากเขื่อนเน้น ๆ เลย เพราะฉะนั้น ฤดูฝนจะใช้น้ำจากเขื่อนเสริมน้ำฝน ไม่ได้ใช้น้ำฝนทั้งหมดในทันที เพราะถ้าฝนตกหนัก เราก็สำรองเก็บ ถ้าฝนทิ้งช่วง เราก็ส่งให้เพาะปลูก ถ้าฝนตกบ้างไม่ตกบ้าง เราก็ส่งเติมเต็มช่วงฝนที่มันขาดไป เรียกว่าเป็นอาหารเสริม เราจึงต้องไปคิดว่า หลักการจัดสรรน้ำจะบริหารจัดสรรอย่างไร ให้พอ สำรอง และเพื่ออนาคต

Q : การจัดสรรน้ำปีหน้าเป็นอย่างไรเพียงพอหรือไม่

เราแบ่งการจัดสรรน้ำ โดยแนวคิด 1.คน กิน-ใช้ ต้องมาก่อนเลย เพราะถ้าไม่อย่างนั้นเมื่อขาดแคลนน้ำ คนก็แย่ จะเห็นว่าแค่คน กทม.ใช้น้ำจากเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ แควน้อยฯ ปริมาณมาก หาก 3 เขื่อนนี้แห้ง ไม่เฉพาะคนกรุง จังหวัดที่อยู่รายทางก็แย่เช่นกัน หรือถ้าเราเอาพืชเกษตรมาก่อน คนไม่ให้ คนก็แย่ พืชก็ตาย จึงต้องดูควบคู่ รวมถึงดูไปถึงเรื่องการประปา

2.ระบบนิเวศ ในข้อนี้อาจจะมองดูเป็นภาพกว้าง แต่ว่ามีส่วนสำคัญคือช่วยดันน้ำเค็ม การคมนาคมทางน้ำไม่ให้น้ำแห้ง ระบบพืชหน้าดินไม่ตาย เราต้องให้ความสำคัญมากเลย เพราะฉะนั้น จะมีขีดจำกัดว่า น้ำที่ต้องผ่านแต่ละจุด มันต้องมีระดับต่ำสุด ตรงนี้ถ้าหย่อนลง เราก็เอาน้ำมาเติม 3.น้ำเพื่อการเกษตรต่อเนื่อง หมายถึง พืชสวน พืชไร่ ที่เขาปลูกสวนส้มกว่าจะเติบโต หากต้นไม้ตายก็ใช้เวลา เราต้องรักษา เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจ

ถัดมา ผมก็มองว่า ถ้าเราส่งน้ำให้จนหมดเลย ปีหน้าฝนไม่ตก แย่เลยหรือถ้าฝนตกช้า ทิ้งช่วง มาบ้างไม่มาบ้าง เราจึงต้องสำรองไว้ใช้ปีหน้า เพื่อทุกอย่างที่กล่าวมา ทีนี้เอาน้ำที่เหลือมาให้นอกภาคเกษตรที่จะปลูกครั้ง ที่ 2 ซึ่งในปีนี้ทั้งเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่ง มีต้นทุนอยู่ 46,300 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าเยอะมาก ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการทั้งนั้น เพราะถ้าพูดว่าฝนมาปล่อยน้ำทิ้งรับน้ำใหม่ เขื่อนไม่เต็มไม่ได้ก็เกิดความเสี่ยง เรื่องนี้สำคัญ เพราะการคาดการณ์ไปข้างหน้า การจัดการ ควบคุม ขอความร่วมมือ ปีนี้ทุกอย่างได้ผลดี และเมื่อมีน้ำก็ไปจัดสรรน้ำตามที่ผมบอก และมีน้ำต้นทุนสำรองไว้ปีหน้า ต้องมองข้ามปี

Q : รูปแบบการจัดสรรน้ำของกรมชลฯ

มี 2 รูปแบบ คือ โครงการต่อเนื่องลุ่มเจ้าพระยา ที่ใช้น้ำ 22 จังหวัด มี 4 เขื่อนหลัก ส่วนลุ่มน้ำแม่กลองก็มี 2 เขื่อน วชิราลงกรณ กับศรีนครินทร์ 7 จังหวัด โดยการบริหารก็จะมีคณะกรรมการดูแล ส่วนอีกแบบคือโครงการเชิงเดี่ยว คือมีแหล่งน้ำ ระบบส่งน้ำ พื้นที่ชลประทานเป็นของตัวเอง บริหารภายใน โดยชลประทานจังหวัดดูแลโดยผู้ว่าราชการ หรือบางจังหวัดใช้ประธานกลุ่ม หรือแล้วแต่การบริหารจัดการ เพราะฉะนั้น น้ำต้นทุนมีเท่านี้ จะจัดสรรเท่าไรก็ส่งมาบริหารจัดการร่วมกันได้ซึ่งกรมชลฯแบ่งเป็น ภาคเกษตรและเกษตรต่อเนื่อง 75% อุปโภค-บริโภค 10% ที่เหลือคือระบบนิเวศ 13% และอีก 2% คืออุตสาหกรรม

Q : อนาคตเขตเศรษฐกิจและการขยายตัวอุตฯจะมากขึ้นวางแผนไว้อย่างไร

เรามองจากนโยบายรัฐบาลที่วางยุทธศาสตร์น้ำไว้ มองทุกมิติทุกลุ่มน้ำ เศรษฐกิจอุตสาหกรรมตรงไหนที่มีปัญหา ผมก็คงต้องมีคำถามที่ว่าเอาล่ะ การขยายตัวก็อยู่ที่ยุทธศาสตร์ประเทศ ซึ่งเราจะอยู่ในยุทธศาสตร์การจัดหาน้ำเพื่อความมั่นคงด้านการผลิต ทั้งหมดมี 6 ยุทธศาสตร์ เราวางไว้ 12 ปี ตั้งแต่ปี”57 ประกาศใช้ปี”58-69 และมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 18 ล้านไร่

และต้องพัฒนาแหล่งน้ำ เก็บกักน้ำเพิ่ม 9,000 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีอยู่แล้วรวม 80,000 ล้าน ลบ.ม. ที่สำคัญ คือ รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็บอกว่า อันไหนทำได้ ให้ทำทันที ที่เห็นได้ชัด คือ เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้แล้ว 1.59 ล้านไร่ และเก็บน้ำได้ 1,005 ล้าน ลบ.ม. ปี”60 อีก 477 ล้าน ลบ.ม. รวมแล้ว 3 ปีนี้ทำได้ 1,500 กว่าล้าน ลบ.ม. แต่เป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่กระทบ ซึ่งคนอยากให้โครงการใหญ่เกิด แต่โครงการใหญ่จะเริ่มปีนี้แล้ว ซึ่งสัมพันธ์กับงบประมาณที่เยอะขึ้น ระยะเวลาออกแบบ สำรวจ ประชาพิจารณ์ ผ่าน สผ.นาน หลายคนอาจจะมองไม่เห็น

Q : ทุกปีต้องเจอน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกที่ลุ่มต่ำ

การเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำมักจะเจอปัญหา นโยบายที่ท่านอดีตรัฐมนตรีเกษตรฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ จึงวางแผนการเพาะปลูกเหมือนเดิม แต่มีบางจุดจะต้องเลื่อนเวลา บางระกำ ต้องปลูก 1 เม.ย. แต่เดิมคือ พ.ค. ส่วน 12 ทุ่งที่ลุ่มภาคกลาง ให้ร่นมาปลูก 1 พ.ค. เกี่ยวภายใน 15 ก.ย. ข้าวต้องใช้เวลาปลูก 4 เดือน นับได้เลยครับว่า ท่วมทุกปี พอเราวางแผนแบบนี้แล้ว เห็นเลยว่าปีนี้ไม่ท่วม เราใช้ประโยชน์พักน้ำ ตัดน้ำเข้าทุ่ง ซึ่งท้ายเขื่อนก็เช่นกัน ก็เลื่อนขึ้นมา เพราะฉะนั้น การเพาะปลูกพื้นที่เหมือนเดิม แต่ต้องปรับเลื่อนเวลาการเพาะปลูกให้เหมาะสมและแม่นยำมากขึ้น

Q : การสานต่อโครงการพระราชดำริ

กรมชลประทานสานต่อโครงการพระราชดำริทุกพระองค์ ทำมาแล้วเท่าไหร่ คั่งค้างเท่าไหร่ เพื่อนำมาต่อยอดบริหารจัดการ ทั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ โครงการที่คั่งค้างต้องเร่งรัด โครงการที่ยังไม่แล้วเสร็จของในหลวงรัชกาลที่ 9 ต้องเร่งรัดให้เสร็จ ขณะที่โครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมีทั้งสิ้น 2,795 โครงการ แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำ 1,078 แห่ง ฝาย 787 แห่ง อื่น ๆ อาทิ การจัดหาน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ สระเก็บน้ำ ศูนย์ศึกษา แก้มลิง บรรเทาอุทกภัย 930 แห่ง สามารถทำประโยชน์ได้ 5.5 แสนครัวเรือน ความจุ 6,315 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่เกษตรที่ได้รับประโยชน์ 4.7 ล้านไร่ พื้นที่ชลประทาน 3.1 ล้านไร่ รวมถึงยังมีโครงการชลประทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีแผนของบฯ สำนักงาน กปร. ปีงบประมาณ 2561 จำนวน 85 โครงการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จำนวน 12 โครงการ