ข้องใจเงื่อนไขรับซื้อไฟVSPP โรงไฟฟ้าเล็กไฉนให้รายใหญ่เข้าประมูล

ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กกังขา เงื่อนไขประมูลโรงไฟฟ้า VSPP Semi-Firm เอื้อรายใหญ่หรือไม่ หลังเปิดทางโรงเก่าที่ไม่เคยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเข้าร่วมประมูลได้ แถมยังไฟเขียวให้สร้างโรงไฟฟ้าได้ไม่เกิน 2 เท่าของปริมาณไฟฟ้าเสนอขาย ทั้งนี้คำนิยาม ASPP กำลังผลิตต้องไม่เกิน 9.9 เมกะวัตต์ จี้ กกพ.ปรับแก้ไขร่างประกาศก่อนเปิดประมูล

เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็น ร่างประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในแบบ VSPP Semi-Firm” รวม 269 เมกะวัตต์ สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลและก๊าซชีวภาพ จากน้ำเสียของเสียและพืชพลังงาน ข้อกำหนดคือ จะต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าในลักษณะสัญญา Firm รวม 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม และสัญญา Non-Firm รวม 6 เดือนที่เหลือคือ สิงหาคมไปจนถึงเดือนมกราคม คัดเลือกโดยการแข่งขันทางด้านราคา (competitive bidding) การรับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้สำหรับโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สามารถเสนอขายไฟฟ้าได้ โดยอัตราค่าไฟฟ้าจะถูกปรับลดรวม 10 ปี หรือ 20 ปี ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดคือ ในกรณีผ่านการประเมินข้อเสนอด้านราคา จะต้องคืนเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ให้กับคู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้า แต่อัตราค่าไฟฟ้าจะแตกต่างจากโรงไฟฟ้าที่สร้างใหม่

นายฉันท์ฑิต บุ้นประสิทธิ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณไบโอกรีน เพาเวอร์ จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ กกพ.กำหนดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมากนั้น มีหลายประเด็นที่ กกพ.จะต้องให้ความชัดเจนคือ 1) ตามร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีการให้นิยามว่า VSPP คือโรงไฟฟ้ากำลังผลิตต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ หรือไม่เกิน 9.9 เมกะวัตต์นั้น แต่กลับออกนโยบายว่าสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ไม่เกิน 2 เท่าของปริมาณเสนอขายไฟฟ้า เช่น โครงการมีกำลังผลิตรวม 9.9 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าโรงไฟฟ้านั้น ๆ

จะมีกำลังผลิตรวมอยู่ที่ 19.8 เมกะวัตต์ ทำให้โครงสร้างของ VSPP ไปอยู่ในโซนเดียวกับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก หรือ SPP ในประเด็นนี้มองว่า เงื่อนไขนี้ผิดจากคำนิยามที่วางไว้หรือไม่

2) การเปิดให้โครงการเดิมที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ขายไฟฟ้าเข้าระบบมาก่อน สามารถเข้าร่วมประมูลได้นั้น เท่ากับว่าเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะในส่วนที่มีโรงงานน้ำตาลอยู่แล้วเข้ามาเสนอขายได้เลย เมื่อเสนอขายได้แล้วก็สามารถไปก่อสร้างโรงงานใหม่ต่อไป จากแนวทางดังกล่าวถือเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่หรือไม่ 3) การกำหนดรูปแบบเป็น Firm หรือกำหนดให้เดินเครื่อง 24 ชม.รวม 6 เดือนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนกรกฎาคม ในขณะที่ช่วงที่เหลือให้เดินเครื่องผลิตเพียงร้อยละ 65 ถือเป็นปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการ เพราะการเดินเครื่องเต็มจะทำให้บริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นในช่วงที่ต้องเดินเครื่องเพียงร้อยละ 65 นั้น กำลังผลิตในส่วนที่เหลือจะบริหารจัดการอย่างไร

“ต้องการให้ กกพ.แก้ไขร่างประกาศดังกล่าวก่อนที่จะมีการเปิดรับซื้ออย่างเป็นทางการในช่วงต้นปี 2561 นี้ เพราะหลายเงื่อนไขเข้าไปสร้างแต้มต่อและให้โอกาสกับโรงงานน้ำตาลโดยตรงก็ว่าได้ สร้างเกิน 9.9 เมกะวัตต์ก็ไม่ใช่ VSPP แล้ว กกพ.ควรกำหนดเงื่อนไขที่เกิดประโยชน์ของภาพรวมเป็นหลัก และส่งเสริมภาคการเกษตรให้มาปลูกพืชพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก”

ADVERTISMENT

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจาก VSPP Semi-Firm คาดว่าจะเปิดให้ผู้สนใจยื่นประมูลต้นปีཹ นี้ สำหรับราคาค่าไฟฟ้ารับซื้อจะแยกตามประเภทและกำลังผลิตไว้อย่างชัดเจน รวม 3 ส่วนคือ FITf (ที่ประมูลได้) FITv ในปีนั้น ๆ และ FIT premium (แล้วแต่กรณี) โดยอัตรา FIT จะใช้สำหรับโครงการที่จ่ายเข้าระบบในปี 2560 ทั้งนี้หลังจากปี 2560 แล้วอัตรา FITv จะเพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐาน (core inflation)