ส่งออกรับมือ EU ตั้งการ์ดสิทธิมนุษยชน

หอการค้าไทยรุกนโยบาย connect the dot ยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล ชี้ EU เพิ่มความเข้มงวดสินค้าไทยตั้งเงื่อนไขกฎระเบียบการค้า หากบริษัทใดไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจะไม่สามารถส่งสินค้าเข้าไปได้

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวในงานเสวนาการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชน จัดโดย คณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน คณะกรรมการธุรกิจประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ว่า

หอการค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้กำหนดนโยบาย connect the dot เชื่อมโยงการทำงานระหว่างรัฐ เอกชน เครือข่ายผู้ประกอบการเพื่อมุ่งสู่การยกระดับความสามารถการเเข่งขัน เศรษฐกิจ ทั้งทางตรงทางอ้อม

ทั้งนี้ หลักสิทธิมนุษยชนนับวันเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น หอการค้าไทยจึงตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้มาโดยตลอดและได้ทำงานแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แรงงาน ไม่ว่าจะเป็นประหาแรงงานประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) ได้ร่วมเข้าไปแก้ไขกฎหมายค้ามนุษย์ และพร้อมยกระดับธุรกิจมุ่งสู่เป้าหมายด้านสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่

ซึ่งการเสวนาเพื่อให้สมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยรับทราบรับมือถึงสถานการณ์กระเเสโลก การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนจะต้องสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กร คู่ค้า ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน

นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจที่รับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาก ซึ่งประเทศไทยมีแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 1 เมื่อปี 2562 โดยไทยเป็นประเทศแรกในเอเชีย-แปซิฟิกที่ประกาศแผนนี้ เพื่อส่งเสริมแนวทางดำเนินธุรกิจด้านสิทธิมนุษยชน 3 เสาหลัก คือ คุ้มครอง เคารพ เยียวยา และเน้นการแก้ปัญหาสำคัญเร่งด่วน

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตามปัจจุบันทั่วโลกประสบปัญหาโควิดจึงดำเนินการไปได้ยาก จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ new normal เเละบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานทั้งเอกชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป และเพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

คุณนรีลักษณ์ เเพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ขณะนี้สหภาพยุโรป ( EU ) เพิ่มความเข้มงวดในการเรื่องกฎระเบียบการค้าว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ซึ่งปีนี้เริ่มส่งสัญญาณแล้วว่า หากบริษัทไหนไม่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจะเป็นเงื่อนไขไม่สามารถส่งสินค้าเข้าไปได้

ADVERTISMENT

ดังนั้น ก่อนไปลงทุนสิ่งที่ภาคธุรกิจควรเตรียมการเพื่อรองรับกระเเสโลก จะต้องมีการประเมินสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Right Due Diligence : HRDD) มีความรับผิดชอบในการลงทุนข้ามพรมแดน การทำธุรกรรมโลกไซเบอร์ การออกกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนที่แรงงาน ต้องมีการรายงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างละเอียดก่อนส่งสินค้าไปยังประเทศนั้นๆ

คุณธาริณี สุรวรนนท์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจปัจจุบันจะมีการรายงานผลและดัชนีด้านความยั่งยืนขององค์กรมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นการทำรายงานโดยสมัครใจ จะเป็นแรงผลักดันในการสร้างความมั่นใจให้ธุรกิจนั้นๆ ได้รับเครดิตหรือเป็นเครื่องหมายที่เเสดงบ่งบอกถึงความยั่งยืนขององค์กร

อย่างไรก็ดี ขณะนี้องค์กรต่างประเทศเพิ่มความเข้มข้นเรื่องสิทธิมนุษยชนขึ้นมาที่นอกเหนือจากความยั่งยืน ESG อาทิ ตั้งกฎการบังคับใช้กับธุรกิจบางประเภทอุตสาหกรรม ขนาด ที่ตั้ง ในประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน มีการกำหนดขอบเขตบังคับใช้กฎหมายตั้งแต่บริษัทแม่ บริษัทลูก บริษัทร่วมทุนและคู่ค้า เช่น กรณีน้ำมันปาล์ม อินโดนีเซีย ที่มีห่วงโซ่เยอะความเสี่ยงก็มากตามมาเช่นกันส่งผลต่อการส่งออกสินค้า

ดังนั้นการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับหลักมนุษยชนมากขึ้นตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิตทุกขนาดทั้งบริษัทรายใหญ่ รายกลางและรายเล็ก เป็นประเด็นที่ทุกธุรกิจควรให้ความสำคัญอย่างมากในขณะนี้