สทนช.จี้กรมชลประทานแก้แล้งลุ่มน้ำยม-ป่าสัก

สทนช.เร่งแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง-ป่าสักตอนบน ประสานกรมชลประทานเร่งก่อสร้างประตูระบายน้ำ 4 โครงการช่วยเก็บกักน้ำหลากเพื่อใช้ประโยชน์ช่วงแล้งได้กว่า 190,000 ไร่ พร้อมเดินหน้าระบบส่งน้ำ อ่างฯ คลองลำกง และอ่างฯห้วยน้ำเฮี้ย จ.เพชรบูรณ์

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้ติดตามผลการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มปริมาณน้ำใหักับแหล่งน้ำต้นทุน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาล พร้อมรายงาน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รับทราบอย่างต่อเนื่อง

สุรสีห์ กิตติมณฑล
สุรสีห์ กิตติมณฑล

โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำและอุทกภัยเป็นประจำทุกปี แต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาโครงการแหล่งน้ำขนาดใหญ่ สทนช.ร่วมกับกรมชลประทานพิจารณารูปแบบการพัฒนาแหล่งน้ำ

โดยใช้ระบบประตูระบายน้ำเพื่อชะลอน้ำและผันน้ำเข้าทุ่งหรือแก้มลิงตลอดช่วงแม่น้ำยม ซึ่งจะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยในช่วงน้ำหลากและช่วยเก็บกักน้ำบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 4 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ต.ท่านางงาม อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก มีผลความก้าวหน้าร้อยละ 55 โดยคาดว่าจะเริ่มใช้บริหารจัดการน้ำได้ภายในปีนี้ ซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2566 จะเก็บกักน้ำได้ประมาณ 7 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 51,375 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 2,568 ครัวเรือน

2.โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังจิก ต.วังจิก อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ผลความก้าวหน้าแล้วร้อยละ 47 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2566 สามารถกักเก็บน้ำในแม่น้ำยมได้ประมาณ 6 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 37,397 ไร่ 3.โครงการประตูระบายน้ำท่าแห ต.กำแพงดิน อ.สามง่าม จ.พิจิตร ผลความก้าวหน้าร้อยละ 43 ซึ่งจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2565 สามารถเก็บกักน้ำได้ 12 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 81,111 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,412 ครัวเรือน

และ 4.โครงการประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ต.ไผ่ท่าโพ อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี (ปี 64-68) ปัจจุบันผลความก้าวหน้าร้อยละ 16 หากก่อสร้างแล้วเสร็จ สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 28,868 ไร่ เก็บกักน้ำได้ 5 ล้าน ลบ.ม.

“ประตูระบายน้ำแม่น้ำยม เมื่อแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในบริหารจัดการน้ำที่ช่วยลดผลกระทบน้ำท่วมและการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนในลุ่มน้ำยมให้ลดลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากการดำเนินการประตูระบายน้ำทั้ง 4 แห่งแล้วเสร็จทั้งหมด จะสามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง และบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในช่วงฤดูฝนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างได้ถึง 198,000 ไร่” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

นายสุรสีห์กล่าวเพิ่มเติมถึงความก้าวหน้าการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสักด้วยว่า ขณะนี้กรมชลประทานอยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินโครงการพัฒนาสำคัญ 2 โครงการ คือ โครงการระบบส่งน้ำอ่างเก็บน้ำคลองลำกง ซึ่งเป็นโครงการภายใต้แผนงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำป่าสักตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต.วังท่าดี อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ พื้นที่รับประโยชน์ 50,000 ไร่ ผลการดำเนินงานคืบหน้าร้อยละ 38 และโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำเฮี้ย ต.บ้านเนิน อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ หากดำเนินการแล้วเสร็จสามารถเก็บกักน้ำได้ 5.40 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ในพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 4,500 ไร่ และฤดูแล้ง 900 ไร่ ปัจจุบันผลการดำเนินงานคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 80