สมาพันธ์ เอสเอ็มอี ชง “อุตตม” เร่งแก้หนี้ 3 กอง เติมทุนให้เอสเอ็มอี

สมาพันธ์ เอสเอ็มอี ชง “อุตตม” เร่งแก้หนี้ 3 กอง เติมทุนให้เอสเอ็มอี พร้อมยินดีเปิดรับนำเสนอข้อมูลทุกพรรคการเมือง ร่วมแก้ไขปัญหา วอนฝ่ายการเมืองเข้าใจกลุ่มเอสเอ็มอีให้มากขึ้น

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวภายหลังนายอุตตม สาวนายน แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย นำกลุ่มผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย อาทิ ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกมล นายสันติ กีระนันท์ และนายนริศ เชยกลิ่น เข้าพบกับผู้บริหารสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับผลกระทบที่เอสเอ็มอีได้รับจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันว่า

สถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ กระทบระบบเศรษฐกิจหนักกว่า วิฤตต้มยำกุ้ง และส่งผลต่อเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง ยิ่งตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศ และเป็นที่น่าตกใจว่า GDP ในภาคเอสเอ็มอีมีสัดส่วนเพียง ร้อยละ 34 สะท้อนให้เห็นว่าขีดความสามารถทางการแข่งขันของเอสเอ็มอีอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งต้องการที่พึ่งในการขับเคลื่อนไปข้าง

โดยทางสมาพันธ์ได้นำเสนอแนวคิดในการช่วยเหลือแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอีกับทุกภาคส่วนมาโดยตลอด แต่พบว่าความช่วยเหลือจากภาครัฐส่วนใหญ่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้หนี้สิน การเข้าถึงแหล่งทุน โดยขณะนี้ยังเผชิญปัญหาหนี้ 3 กอง ได้แก่ หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ ที่กำลังก่อปัญหาลุกลามมากขึ้นใน ปี 2565 และอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐเร่งแก้ไขก่อนโดยเร็ว โดยเฉพาะนโยบาย กฎหมายในการพัฒนาเอสเอ็มอี ที่ไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งรัดแก้ไขปัญหาเอสเอ็มอีไทย คือการแก้หนี้ 3 กอง ให้เร็วที่สุด เรื่องนี้ต้องแก้โดยไม่รีรอรัฐบาลใหม่ หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้จะยิ่งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเองก็จำเป็นต้องมีการปรับตัวหากธุรกิจล้มก็ต้องมองหากิจการใหม่ หารายได้เสริม แต่สิ่งหนึ่งที่น่าห่วงมากเป็นเรื่องของเศรษฐกิจ ปากท้อง ปัญหาค่าครองชีพ ที่จะส่งผลต่อรายได้ของประชาชนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ยอมรับว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ท่านมีความเข้าใจและความเข้าถึงนโยบายเศรษฐกิจฐานราก ดังนั้นคนที่จะเข้ามาดูแลนโยบายเอสเอ็มอี ที่มีผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากอีกทั้ง วิสาหกิจชุมชน ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ จะทำอย่างไร จะกำหนดนโยบายอย่างไรต่อไป เพื่อให้เข้าใจ เข้าถึงปัญหาผู้ประกอบการรายย่อย เอสเอ็มอี เพื่อแก้ไขหนี้อย่างเป็นระบบ เนื่องจากที่ผ่านมานโยบาย

อาทิ มาตรการลดภาระทางการเงิน แก้ปัญหาเรื่องหนี้สิน กองทุนฟื้นฟู พักหนี้ การผลักดันเรื่องของดิจิตอล ข้อเรียกร้องจากสถาบันการเงินเรื่องนี้ผ่านมาเป็นระยะเวลา 2 ปี แล้วยังไม่เป็นรูปธรรม ขอให้แก้ไขอย่างเร่งด่วน และครอบคลุม เข้าถึงผู้เดือดร้อนอย่างแท้จริง

ขณะนี้จึงเป็นสัญญาณที่ดีที่ได้หารือกับตัวแทนพรรคการเมือง นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ตรงจุดให้กับพรรคการเมืองทุกพรรค แม้ขณะนี้อยู่ในวิกฤตการเมืองสั่นคลอน แต่วิกฤตเอสเอ็มอีก็เดือดร้อนอย่างมากไม่ต่างกัน อยากเห็นภาครัฐแก้ไขอย่างบูรณาการ ประกอบกับเร่งรัดให้มีการพัฒนาผู้ประกอบการแรงงาน แก้ไขปัญหากฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นปรับลดกฎระเบียบด้านกฎหมายที่ได้รับผลกระทบค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม และเร่งรัดให้ผู้ประกอบการทุกจังหวัดต้องเข้ามาอยู่ในระบบ ลดใบอนุญาตและใบรับรองต้องเข้าถึงและลดขั้นตอนให้รายย่อยเข้าถึง

สุดท้ายการให้แต้มต่อผู้ประกอบการนั้นถึงมือผู้ประกอบการจริงแค่ไหน อย่างไร ขอให้ฝ่ายการเมืองเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งก่อนหน้านี้ นายกรณ์ จาติกวณิช เข้ามาหารือก่อนแล้ว ทั้งนี้ สมาพันธ์ขอย้ำว่า ยินดีประสานกับทุกคนทุกพรรคเพื่อให้คำนึงถึงผู้ประกอบการ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง ซึ่งพร้อมที่จะนำเสนอและพูดคุย กับทุกพรรคการเมือง และยินดีที่พรรคการเมืองจะหยิบยกสิ่งที่สมาพันธ์คิดไปกำหนดเป็นนโยบาย เพื่อผลักดันให้เอสเอ็มอีหลุดพ้นจากปัญหาและสามารถเติบโตได้ในอนาคต

“อยากให้ฝ่ายการเมืองเข้าใจกลุ่มเอสเอ็มอีให้มากขึ้น แล้วกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ ในการพัฒนาประเทศให้ยึดโยงกับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่กว่า 99.5 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ สมาคมเปิดรับทุกพรรคการเมือง ยินดีนำเสนอข้อมูล ”