ส.เอสเอ็มอี ไม่ขัด “อนาคตไทย” ทาบ “สมคิด” แคนดิเดตนายกชี้เป็นผู้เข้าใจเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจ
Mladen ANTONOV / AFP

สมาพันธ์เอสเอ็มอี ไม่ค้านแนวคิดพรรคอนาคตไทย ทาบ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” แคนดิเดตนายก ชี้เป็นผู้มีความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจฐานราก-ปัญหาเอสเอ็มอี ชงแก้ 3 หนี้เร่งด่วน พร้อมแนะขึ้นค่าแรงต้องรอบคอบ รอไตรภาคีเคาะ หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจนักลงทุนแห่หนี

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2565 นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่า จากกรณีที่สมาพันธ์เอสเอ็มอีได้ประชุมแลกเปลี่ยนมุมมองกับทีมนายอุตตม สาวนายน  แกนนำ และผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ถึงแนวทางแก้ปัญหาเอสเอ็มอี ซึ่งนายอุตตมตอบคำถามสื่อถึงการเดินหน้าทำงานในส่วนของพรรครวมถึงอยู่ระหว่างรอการตัดสินใจ ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี  ว่าจะเข้าร่วมทำงานทางการเมืองกับพรรค เมื่อใด

แสงชัย ธีรกุลวาณิช

“มองว่าท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีผลงานด้านเศรษฐกิจฐานราก และเข้าถึงผู้ประกอบการ SME ดีมากท่านหนึ่ง รวมทั้งมีประสบการณ์พัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ปัจจัยสำคัญ คือ สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน เราจำเป็นต้องขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายที่ตอบโจทย์ แก้ปัญหาให้ SME และเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างต่อเนื่องเป็นรูปธรรม”

ทั้งนี้ประเด็นข้อเรียกร้องที่ทางสมาพันธ์เสนอแนวคิดในการช่วยเหลือแก้ปัญหาให้เอสเอ็มอี ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้หนี้สิน การเข้าถึงแหล่งทุน โดยขณะนี้ยังเผชิญปัญหาหนี้ 3 กอง ได้แก่ หนี้ครัวเรือน หนี้เสีย และหนี้นอกระบบ ที่กำลังก่อปัญหาลุกลามมากขึ้นใน ปี 2565 และอยากให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐเร่งแก้ไขก่อนโดยเร็ว โดยเฉพาะนโยบาย กฎหมายในการพัฒนาเอสเอ็มอี ที่ไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง

ส่วนประเด็นการพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงงาน 492 บาทต่อคนต่อวันนั้น มองว่าหากปรับค่าแรงขึ้นในอัตราเดียวกัน โดยไม่ได้ประชุมหารือไตรภาคีเพื่อพิจารณาอัตราที่เหมาะสม จะยิ่งกระทบซ้ำเติมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการอาจจะย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ เพื่อไปใช้แรงงานที่ราคาถูกกว่า อย่าลืมว่าธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กจ้างงาน หากปรับขึ้น จะทำให้เอสเอ็มอีบางรายไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนค่าแรงได้ ประสบปัญหาขาดทุน  สุดท้ายจะกระทบภาพรวมเศรษฐกิจ และยิ่งตอกย้ำเรื่องความเหลื่อมล้ำของประเทศ

ดังนั้นต้องมีการพิจารณา 3 ฝ่ายไตรภาคีให้ดีก่อน และที่สำคัญรัฐบาลควรแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ต้นทุนอาหาร ค่าครองชีพประชาชน ที่เป็นต้นตอปัญหาการพิจารณาค่าแรงก่อนจะดีกว่า