เช็กชีพจร “โลจิสติกส์ไทย” หลัง “รถไฟจีน-ลาว”

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

สนค.เผยสถานการณ์ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยในปี 2564 โดยในปีที่ผ่านมา ฟื้นตัวดี เปิดใหม่เพิ่มขึ้น 34.1% ปี 2565 มั่นใจยังโต แนะรัฐต้องเร่งผลักดันการใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาว

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 36,733 ราย โดยเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดกิจการใหม่จำนวน 4,411 ราย เติบโต 34.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และ มีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจโลจิสติกส์ 48,743.73 ล้านบาท หรือ 10.2% ของการลงทุน ในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหมด

โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ (1) การอำนวย ความสะดวกของท่าเรือ (2) การขนส่งทางระบบท่อลำเลียง และ (3) ตัวแทนดำเนินพิธีการศุลกากร มีสัดส่วน 14.2% , 11.7% และ 11.4% ของจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดใหม่ทั้งหมด ตามลำดับ

ธุรกิจการขนส่งทางบกและธุรกิจรับส่งพัสดุ มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (มีจำนวนธุรกิจเปิดใหม่ รวม 3,666 ราย เติบโต 34.68% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า) โดยเมื่อดูในประเภทธุรกิจย่อย พบว่าจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่ง (สัดส่วน 51.2%) เป็น “ธุรกิจการขนส่งและขนถ่ายสินค้า” เติบโต 26.4% รองลงมา คือ “ธุรกิจการขนส่งสินค้าอื่น ๆ ทางถนน” ซึ่งรวมการขนส่งพัสดุ การขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ การขนส่งสินค้าแห้ง (สัดส่วน 13.9%) เติบโต 25.8% และอีกธุรกิจที่มีการเติบโตสูง คือ “ธุรกิจรับส่งเอกสาร/สิ่งของ” ที่มีการเติบโตสูงถึง 201.1%

โดยคาดว่ามีปัจจัยจากพฤติกรรมการรักษาระยะห่างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลดการเคลื่อนที่ของบุคคล และผลักดันให้เกิดการเคลื่อนที่ของสินค้าทั้งห่วงโซ่เพิ่มขึ้น สังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจในหมวดการขนส่งทางบก ส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business-to-Business : B2B) และธุรกิจประเภทไปรษณีย์และการรับส่งพัสดุภัณฑ์ ที่เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างผู้ค้ากับผู้บริโภค (Business-to-Customer : B2C) รวมถึงธุรกิจขนส่งสินค้าขั้นสุดท้าย (Last-Mile Delivery) ที่มีสัดส่วนและการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

ในส่วนของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปี 2564 มีมูลค่า 17.09 ล้านล้านบาท ไทยพึ่งพาการขนส่งทางเรือเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 67.2% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย (เติบโต 28.8%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และชิ้นส่วนรถยนต์ รองลงมา คือ การขนส่งทางอากาศ คิดเป็นสัดส่วน 21.7% (เติบโต 13.3%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร การขนส่งทางถนน คิดเป็นสัดส่วน 10.9% (เติบโต 32.7%)

สินค้าสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์บันทึกเทป และยางธรรมชาติ และการขนส่งทางราง คิดเป็นสัดส่วน 0.1% (เติบโต 34.8%) สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และแผ่นไม้อัด โดยมีตลาดที่สำคัญ คือ จีน เป็นอันดับหนึ่งในทุกรูปแบบการขนส่ง

ในปีที่ผ่านมา มูลค่าการส่งออกรวมจากไทยไปจีนทางถนน เติบโตถึง 62.9% โดยคาดว่าค่าระวางเรือที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้การส่งออกผลไม้ และพืชผัก มีการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (Shift Mode) มาใช้ทางถนนผ่านแดนมากขึ้น ด้วยระยะเวลาในการขนส่งที่สะดวกกว่า และอัตราค่าบริการที่มีความคุ้มค่ามากกว่า เมื่อเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น

โดยเฉพาะพิกัด 0810 สินค้าผลไม้สดอื่น ๆ (เช่น ทุเรียน ฯลฯ) ที่มูลค่าการส่งออกทางถนนเพิ่มขึ้น 164.3% และมีสัดส่วนการส่งออกทางถนน 65.2% (จากเดิม 47.4%) และพิกัด 0804 สินค้าผลไม้สดหรือแห้ง (เช่น มะม่วง ฝรั่ง มังคุด สับปะรด ฯลฯ) ที่มูลค่าการส่งออกทางถนนเพิ่มขึ้น 73.6% และมีสัดส่วนการส่งออกทางถนน 92.2% (จากเดิม 72.3%)

โดยเฉพาะเส้นทางด่านศุลกากรนครพนม และเชียงของ นอกจากสินค้าผักและผลไม้แล้ว ยังมีสินค้าจำพวกเครื่องประมวลผล ส่วนประกอบเครื่องจักร และวงจรพิมพ์ ที่มีการลดสัดส่วนการขนส่งทางเรือและทางอากาศ มาใช้ทางถนนเช่นกัน จากข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น และปัจจัยแวดล้อม อื่น ๆ คาดการณ์ว่าการค้าผ่านแดนจากไทยไปจีนในปี 2565 น่าจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยเชิงบวกต่อการขนส่งทางถนน ทั้งการเริ่มเปิดด่านทางบกของจีน (โมฮาน โหยวอี้กวน รถไฟผิงเสียง และตงซิง) และรถไฟลาว-จีนความเร็วสูง ที่คาดว่าจะขนส่งได้สะดวกมากขึ้นในช่วงกลางปี 2565

ปัจจุบันภาคโลจิสติกส์ของไทยมีศักยภาพสูงขึ้น และยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีน จำพวกทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งเป็นโอกาสของการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ด้วย

สำหรับภาครัฐจะต้องร่วมมือกันเร่งผลักดันการใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาว เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการส่งออกของไทย กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโลจิสติกส์ควบคู่กับการพัฒนาการค้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญ พร้อม ให้ติดตามสถานการณ์โลจิสติกส์อย่างใกล้ชิด และหยิบยกประเด็นสำคัญเสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เพื่อแก้ไขปัญหาด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ได้อย่างทันท่วงที