ส่องอุตฯอะลูมิเนียมปี’65 ต้นทุนสิ่งแวดล้อมดันราคาขายพุ่ง

กระป๋องอะลูมิเนียม

ความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในตลาดอะลูมิเนียมโลกปัจจุบัน ทั้งจากการใช้มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมของจีน ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งวัตถุดิบ ราคาพลังงาน และต้นทุนค่าขนส่ง ตลอดจนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมล้วนส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานตลอดห่วงโซ่อุตสาหกรรมและราคาอะลูมิเนียม ซึ่งแน่นอนว่าจะยังคงมีทิศทางขาขึ้นอย่างน้อยอีก 4 ถึง 5 ปี

“นายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง” ซึ่งเพิ่งได้รับเลือกจากสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นวาระที่สอง วิเคราะห์สถานการณ์อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมซึ่งมีมูลค่าร่วมแสนล้านบาทในปัจจุบัน ว่าจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง

อีวี-โซลาร์ดันดีมานด์พุ่ง

จากการประเมินแนวโน้มความต้องการใช้อะลูมิเนียมในตลาดโลกปี 2565 คาดว่าจะมีปริมาณ 70 ล้านตัน มากกว่าการผลิตอะลูมิเนียมทั่วโลกที่มี 68 ล้านตัน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้จะเกิดต่อเนื่องไปจนถึงปี 2566 (2023) ส่วนในปี 2567-2568 (2024-2025) ประมาณความต้องการอะลูมิเนียมคาดว่าจะมากกว่าเดิม เนื่องจากแนวโน้มตลาดด้านรถยนต์ไฟฟ้า, แผงโซลาร์ และกังหันพลังงานลม EV เนื่องจากนโยบายการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพรินต์ทั่วโลก

ขณะที่ภาคการผลิตนั้น ผู้ผลิตอะลูมิเนียมทั่วโลกทั้งในอเมริกา ยุโรป แคนาดาและญี่ปุ่น ต่างได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการช่วยเหลืออุตสาหกรรมของรัฐบาลจีนในช่วงที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ทางสมาคมผู้ผลิตอะลูมิเนียมทั้งในอเมริกา ยุโรป แคนาดาและญี่ปุ่นได้ออกแถลงการณ์ร่วมกัน ผ่านทางรัฐมนตรีด้านการค้าในกลุ่ม G7 เรียกร้องไปยังรัฐบาลจีนเป็นครั้งแรก เพื่อให้เกิดการค้าที่เป็นธรรมและใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น จากช่วง 20 ปีที่ผ่านมาการผลิตของจีนเติบโตจาก 10% เพิ่มเป็น 60% ของการผลิตทั่วโลก

และล่าสุดในรายงาน OECD ปี 2021 ระบุว่า จากตัวแทนบริษัททั่วโลก 32 บริษัทที่มีการผลิตอะลูมิเนียมทั่วโลกประมาณ 70% พบว่าบริษัทจีนได้รับการช่วยเหลืออย่างน้อย 4-7% ของยอดขายจากรัฐบาลจีน ส่วนประเทศอื่นที่มีการช่วยเหลือจากรัฐบาล ก็เพียง 0.2% ของยอดขายเท่านั้น

“ผลจากการช่วยเหลือแบบไม่เป็นธรรม ทำให้ห่วงโซ่อุปทานเกิดการบิดเบี้ยวส่งผลกระทบต่อการจ้างงานมากกว่า 1.8 ล้านคน และกระทบอุตสาหกรรมนี้ในทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นการช่วยเหลือของรัฐบาลจีนส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นไปที่กลุ่มต้นน้ำ สร้างปัญหาก๊าซเรือนกระจก เพราะในจีนต้องใช้พลังงานจากถ่านหินถึง 88% นั้น จะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำถึง 10 เท่าตัว”

สินค้าจีนถล่มไทย

ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมยอมรับว่า “จริง ๆ แล้วอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมบ้านเราได้รับผลกระทบเนื่องจากเรื่องนี้มาหลายปี เพียงแต่ไม่มีมาตรการรองรับเกี่ยวกับการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทำให้การนำเข้าอะลูมิเนียมทั้งแผ่นบาง และแผ่นหนาปริมาณจากจีนเพิ่มขึ้นจาก 55% เป็น 76% ภายใน 5 ปีย้อนหลัง

แต่มาถึงปี 2563 เราได้รับผลกระทบจากโควิดค่อนข้างมากทำให้ปริมาณการนำเข้าอะลูมิเนียมแผ่นลดลง แล้วเพิ่งจะกลับมาปรับตัวสูงขึ้นในปี 2564 ซึ่งมากกว่าปี 2562 (ก่อนโควิด) และมีแนวโน้มสูงขึ้นในช่วงปี 2565 โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน”

เช่นเดียวกับอะลูมิเนียมเส้น ที่นำเข้าจากจีนเกิน 70% ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มผู้ผลิตอะลูมิเนียมเส้นภายในประเทศรวมตัวกันยื่นขอเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) กับกระทรวงพาณิชย์ในสินค้า 8 พิกัด ซึ่งสาเหตุสำคัญที่การนำเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น เพราะอเมริกาและยุโรป มีมาตรการกีดกันทางภาษี รวมทั้งเอดี สินค้าจากจีนจึงไม่สามารถส่งออกไปในโซนนั้นอย่างสะดวก

เทรนด์สิ่งแวดล้อมดันราคา

ปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ส่งผลต่อห่วงโซ่การผลิตอะลูมิเนียม คือ กระแสเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดมลพิษทางทะเลที่ทำให้ตลาดกระป๋องอะลูมิเนียมเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในโซนอเมริกาและยุโรป ขณะที่การลงทุนการผลิตอะลูมิเนียมต้นน้ำทั่วโลกเกิดขึ้นไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปีจนถึงปี 2025

จากปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าสะอาดและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งถ้าทุกประเทศที่ได้ประกาศนโยบายคาร์บอนนิวทรอลและเนตซีโร ทำตามที่ได้ประกาศไว้ในการประชุม COP26 คาดว่าเราอาจจะได้เห็นราคาอะลูมิเนียมขึ้นไปในช่วง 4,000-5,000 เหรียญต่อตันในอนาคตก็เป็นได้

นอกจากนี้ อะลูมิเนียมยังมีค่าการตลาดที่เราต้องจ่ายเพิ่ม เรียกว่า มาร์เก็ตพรีเมี่ยมเพิ่มสูงขึ้นถึง 205 เหรียญต่อตันตลาดเอเชียในช่วงปลายปีที่ผ่านมา และลดลงมาในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามสถานการณ์โลก ส่วนในตลาดอเมริกาสูงถึง 718 เหรียญต่อตันในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วเป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกต่างหาก

ขณะเดียวกัน การให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะเรื่อง European Green Deal ซึ่งทางสหภาพยุโรปเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมก่อนประเทศอื่น ๆ CBAM เป็นส่วนต่อขยายระบบ EU-ETS (EU Emission Trading Scheme : EU-ETS) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566 และเริ่มมีค่าใช้จ่ายจริงในวันที่ 1 มกราคม 2569

คาดว่ามีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมอะลูมิเนียมที่มีการส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านทางใบแสดงสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CBAM certificates)

เอกชนปรับตัวรับเทรนด์โลก

เมื่อปลายปี 2564 กลุ่มอะลูมิเนียมจัดสัมมนาร่วมกับศูนย์ M-Tech และตัวแทนทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป้าหมายเพื่อหารือค่ากลางสำหรับการเก็บตัวเลขการปล่อยคาร์บอนทางตรงจากการผลิตโดยเฉลี่ย เพื่อเป็น base line ในการปรับปรุงพัฒนา และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในอนาคต นอกจากนี้ ทางกลุ่มพยายามปรับตัวนำไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มาทดแทนไฟฟ้าแบบดั้งเดิม

รวมถึงการสนับสนุนนโยบาย BCG โมเดล ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติเมื่อหันมาใช้วัตถุดิบหมุนเวียนให้มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน เมื่อหันมาใช้วัตถุดิบหมุนเวียนให้มากขึ้น ซึ่งภาคเอกชนโดยกลุ่มอะลูมิเนียมเตรียมจัดงาน Metalex Mar ระหว่างวันที่ 9-12 มีนาคม 2565 นี้ ที่ไบเทค เพื่อนำผลิตภัณฑ์แผงพลังงานแสงอาทิตย์ และกระบวนการนำเศษอะลูมิเนียมหมุนวนกลับมาใช้ทำกระป๋องมาจัดแสดง ตามแนวทางส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ตามนโยบาย ส.อ.ท.และภาครัฐ

“เรื่องการหมุนเวียนนำเศษอะลูมิเนียมวนกลับมาใช้นี้เป็นเรื่องที่เอกชนให้ความสำคัญมาก เพราะสามารถหมุนเวียนมาใช้กี่ครั้งก็ได้มีคุณภาพเหมือนเดิม ถือเป็นการดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนออกไซด์ได้ถึง 95% และประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 95% เมื่อเทียบการนำอะลูมิเนียมบริสุทธิ์จากกระบวนการต้นน้ำมาใช้อีกด้วย

แต่อีกด้านหนึ่งจะพบว่าปัจจุบันมีการส่งออกเศษเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศเกาหลี 56% ในปีที่แล้ว, จีน เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2563 เป็น 25% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2564 และมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกมาก หากรัฐมีมาตรการช่วยให้เกิดการหมุนเวียนเศษอะลูมิเนียมภายในประเทศอย่างชัดเจน เช่น ที่ปัจจุบันเวียดนามและมาเลเซียต่างกำหนดภาษีส่งออกเศษอะลูมิเนียม โดยเฉพาะเวียดนามกำหนดอัตรา 22% ก็จะช่วยให้หมุนวนให้นำกลับมาใช้ภายในประเทศมากขึ้น”