อุตฯเครื่องดื่มวิ่งแก้ประกาศสธ. เปิดทางขวดPETกลับมาใช้ใหม่

โรงงานน้ำดื่ม-น้ำอัดลมเดินหน้าขอแก้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 295 หวังน้ำขวด PET รีไซเคิล กลับมาบรรจุน้ำดื่มได้อีกครั้ง แทนที่จะต้องส่งออกขวด PET ไปขายต่างประเทศ ชี้ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้ามาก จนสามารถทำขวด PET ที่ปราศจากการปนเปื้อนกับอาหาร-น้ำดื่มได้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม-น้ำอัดลมได้มีการหารือกันและเตรียมที่จะเข้าพบกับ 3 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม-กระทรวงสาธารณสุข-กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อขอแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 295) พ.ศ. 2548 เรื่องกำหนดคุณภาพหรือมาตรฐานของภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติก ภายใต้ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522เนื่องจากผู้ประกอบการน้ำดื่ม-น้ำอัดลมต้องการที่จะนำ “ขวดพลาสติกที่บรรจุน้ำหรือเครื่องดื่ม” มาทำการ “รีไซเคิล” กลับมาบรรจุใหม่ แทนที่จะต้องส่ง “ขวดรีไซเคิล” ที่ผลิตได้ภายในประเทศส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศทั้งหมด โดยที่คู่ค้าภายในประเทศไม่สามารถใช้ประโยชน์จากขวดรีไซเคิลได้เลย

ทั้งนี้ ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 ข้อ 8 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามมิให้ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำขึ้นจากพลาสติกที่ใช้แล้วบรรจุอาหาร เว้นแต่ใช้เพื่อบรรจุผลไม้ชนิดที่ไม่รับประทานเปลือก” ส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องดื่ม-น้ำอัดลมไม่สามารถนำขวดพลาสติกรีไซเคิลกลับมาใช้ได้ใหม่

“ที่ผ่านมาเราเคยเข้าไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้หลายหน่วยงาน แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เพราะกฎหมายห้ามไว้ ในขณะเดียวกันเราก็ได้กลับไปศึกษาว่า ขวด PET เป็นอันตรายจริงหรือไม่ จึงเป็นที่มาว่า ทำไมเราอยากคุยกับกระทรวงวิทย์ให้มาช่วยกันวิจัยให้ชัดเจนว่า PET ไม่ได้ก่อให้เกิดสารเมื่อสัมผัสกับอาหารโดยตรง ส่วนกระทรวงอุตสาหกรรมอยากให้ช่วยเข้ามาช่วยดูว่า เมื่ออุตสาหกรรมพลาสติกและน้ำดื่มต้องการขวดรีไซเคิลมาใช้ เราก็อยากลงทุนสร้างโรงงานเพิ่ม ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเขาบังคับใช้กฎหมายอยู่ก็อยากจะมาหารือว่า จะทำอย่างไรหรือใช้วิธีการใดให้นำขวดพลาสติกรีไซเคิลกลับมาบรรจุน้ำดื่มได้อีกครั้ง” ผู้ประกอบการโรงงานน้ำอัดลมรายหนึ่งกล่าว

ด้าน นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันขวดพลาสติก (PET) ที่ใช้ในประเทศ ยังไม่มีการอนุญาตหรือนำมาใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 295 ได้ห้ามไว้ เพราะกังวลถึงผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งในอดีตยอมรับว่ายังไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่า กระบวนการผลิตขวดพลาสติกรีไซเคิลที่ใช้บรรจุน้ำดื่มปราศจากสิ่งเจือปนและปลอดภัยจนเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมน้ำดื่ม ต่อมาผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลก ทั้งในฐานะผู้ขึ้นรูปขวดพลาสติกและผู้ขึ้นรูปขวดรีไซเคิล ได้กลับไปศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่า PET ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย แต่กลับพบว่ากระบวนการผลิตหากไม่ดีพอจะเกิดสารปนเปื้อนในน้ำจนก่อให้เกิดอันตราย ดังนั้นจึงได้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยี หรือ know how มาใช้ควบคุมกระบวนการผลิตให้ปราศจากสิ่งเจือปนในน้ำดื่มได้

อย่างไรก็ตาม ขวดพลาสติกจะมีคุณภาพเกรดหลายระดับ หากเป็นกลุ่มฟู้ดเกรด จะมีส่วนประกอบหลักสำคัญคือ เม็ดพลาสติก PET 100% เมื่อนำมารีไซเคิล คุณภาพของเม็ดพลาสติกจะลดลงที่เรียกว่า กลุ่มรีไซเคิลเกรด หรือระดับเม็ดพลาสติก PET (vergin PET) จะเหลือ 80% และเป็น RPET(rePET) 20% ซึ่งเป็นระดับที่คาดว่าผู้ประกอบการสามารถผลิตได้ และบริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ต้องการขวดเกรดนี้

การที่บริษัทเครื่องดื่มรายใหญ่ในต่างประเทศเริ่มหันมาใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิล เนื่องจากเป็นนโยบายทั่วโลกที่ต้องการลดปริมาณการใช้พลาสติกเพื่อสิ่งแวดล้อมลง ผลที่ตามมาคือการได้รับการันตีในเรื่องของ “คาร์บอนเครดิต” ส่งผลทั้งภาพลักษณ์และการดำเนินธุรกิจที่มุ่งไปสู่ circular economy ส่วนต้นทุนการผลิตขวดรีไซเคิลที่นำกลับมาใช้ใหม่ในอุตสาหกรรมน้ำดื่มนั้น “ยังไม่มีการคำนวณที่แน่ชัด” แต่หากเทียบกันในปัจจุบันแล้ว ขวดพลาสติกรีไซเคิล “อาจจะ” มีต้นทุนที่สูงกว่าขวดใหม่ธรรมดา เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการหลอม การชำระล้างด้วยการต้ม ค่าใช้จ่ายจากการเก็บคัดแยก รวมถึงการวิจัย เพื่อยืนยันกระบวนการผลิตที่สะอาด เป็นต้น

ล่าสุดมีรายงานข่าวเข้ามาว่า การที่บริษัทเครื่องดื่มอยากนำขวดรีไซเคิลกลับมาใช้ใหม่นั้น ส่วนหนึ่งเป็นนโยบายจากบริษัทแม่ที่มุ่งไปที่การลดผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม “ขวดพลาสติก” ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้นเช่นกัน โดยบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำที่ดำเนินการตามนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ เอส เป๊ปซี่ โคคา-โคลา

ส่วนบริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดในโลกก็คือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) โดยมีโรงงานอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันทำธุรกิจรีไซเคิล PET และบริษัทยังมีแผนที่จะเปิดโรงงานแห่งใหม่ขึ้นที่จังหวัดลพบุรี