ดีพร้อมผนึกกำลังเดลต้าฯ คิกออฟกองทุนนางฟ้าปีที่ 7 ดึง 3 พันธมิตรเอกชนร่วม

ดีพร้อมผนึกกำลังเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ฮับบา และมีเดียแท็งค์ เดินหน้าติดปีกสตาร์ตอัพไทย Delta X DIProm Angel Fund ปีที่ 7 พร้อมเร่งขับเคลื่อนนโยบายอัดฉีดเงินสู่ภาคอุตสาหกรรม สร้างความแข็งแกร่งเศรษฐกิจไทยในอนาคต

วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อม ในปี 2565 ภายใต้ นโยบาย “DIProm CARE : ดีพร้อมแคร์ ซึ่ง 2 ใน 4 ด้านหลักที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ คือ 1.ด้านการพัฒนาและยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ภายใต้สถานการณ์ทุกการเปลี่ยนแปลง (Reformation) โดยการปฏิรูปกลไกการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุค New Normal และ

2.ด้านการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านทั้งภาครัฐและเอกชน (Engagement) มาช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการใหม่ให้มีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้นโดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงพันธมิตรต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมและเติมเต็มการพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“สำหรับที่ผ่านมา ดีพร้อมมีการดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะสตาร์ตอัพไทย ซึ่งได้ให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างจริงจังอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ โครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ (Angel Fund) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจาก บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในการสนับสนุนทุนให้เปล่าแก่สตาร์ตอัพไปแล้วจำนวน 183 ทีม และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสูงถึง 650 ล้านบาท”

และในปี พ.ศ. 2565 ดีพร้อมยังคงเดินหน้าร่วมมือกับบริษัท เดลต้าฯ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 ผ่านโครงการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่อย่างดีพร้อม หรือ Delta X DIProm Angel Fund โดยมุ่งเป้าพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ ให้มีขีดความสามารถที่สูงขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกด้วยการใช้นวัตกรรมหรือองค์ความรู้ในอุตสาหกรรม และเพื่อให้ผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ มีศักยภาพและความพร้อมสำหรับการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อบริษัทเอกชนผู้ให้ทุนสนับสนุนนั้น

ดีพร้อม จึงได้จัดกิจกรรม “บ่มเพาะทักษะทางธุรกิจอย่างเข้มข้น” (Business camp) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ในภาคปฏิบัติเกี่ยวกับการนำเสนอแผนธุรกิจที่สามารถนำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของอุตสาหกรรมและนวัตกรรมที่ได้พัฒนาขึ้น โดยกิจกรรมดังกล่าวจะช่วยพัฒนาและสร้าง 6 ทักษะทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่แหล่งเงินทุนคุณภาพ

ประกอบด้วย ทักษะการวางองค์ประกอบและโมเดลธุรกิจ (Business Model Blueprint) ทักษะการออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ (Value Proposition & Customer Canvas) ทักษะการออกแบบการสร้างรายได้แบบต่าง ๆ (Revenue Model) ทักษะวิเคราะห์ การวางแผนด้านการเงิน (Financial Feasibility Canvas) การทดสอบตลาด (Market Validation) และทักษะการสื่อสารและการนำเสนอผลงานเพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมลงทุน (Pitch Deck Creation & Perfect Your Pitch)

ซึ่งกระบวนการบ่มเพาะใช้เวลาจำนวน 7 วัน ในรูปแบบ Hybrid (Online and Onsite) และการฝึกทักษะการแก้โจทย์ให้กับภาคอุตสาหกรรมผ่านกิจกรรม Hackathon อีกจำนวน 3 วัน โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และบริษัท ฮับบา จำกัด ร่วมเป็นที่ปรึกษาในการช่วยเพิ่มพูนองค์ความรู้ และทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจให้กับสตาร์ตอัพก่อนการนำเสนอโมเดลธุรกิจต่อแหล่งทุนในกิจกรรม Pitching Day ยิ่งไปกว่านั้น ได้มีความร่วมมือกับ บริษัท มีเดียแท็งค์ (Shark Tank Thailand) เพื่อส่งต่อสตาร์ตอัพเข้าร่วมรายการให้สามารถสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงไปสู่นักลงทุนรายอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ด้าน นายจาง ช่าย ซิง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเดลต้าฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) หรือดีพร้อมในการดำเนินธุรกิจเชิง CSR โดยการคืนกลับสู่สังคมในรูปแบบการสนับสนุนทุนเพื่อพัฒนาต่อยอดให้กับสตาร์ตอัพไทยผ่านโครงการ Delta Angle Fund โดยตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ผ่านมา เดลต้าฯ ได้ให้การสนับสนุนแก่สตาร์ตอัพ จำนวน 183 ทีม ให้การสนับสนุนเงินทุนให้เปล่าไปแล้วกว่า 19.16 ล้านบาท

และบริษัทยังคงเดินหน้าให้ความร่วมมือกับทางกรมอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 โดยในปีนี้ทางบริษัททุ่มเงินจำนวน 4 ล้านบาท เพื่อให้การสนับสนุนเงินให้เปล่าแก่สตาร์ตอัพไทยที่มีแนวคิด หรือสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและต่อยอดการเริ่มต้นธุรกิจ หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์