ศูนย์ IDE หนุนเอสเอ็มอี สร้างนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นับเป็นระยะเวลา 10 เดือนแล้วที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งศูนย์พัฒนานวัตกรรม “IDE Center” ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2560 จากเดิมภารกิจกรมทรัพย์สินทางปัญญาเน้นการรับจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่ภายหลังจากรัฐบาลมีนโยบายให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรม ตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นหน่วยงานที่มีการรวบรวมข้อมูลผลงานนวัตกรรมที่มายื่นจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้ว จึงต้องการนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ส่งเสริมนวัตกรรม

“นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์” รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เล่าว่า จุดเริ่มต้นคือเราต้องการทำอย่างไรที่จะเผยแพร่ข้อมูลให้เอสเอ็มอีนำองค์ความรู้ที่เรามีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ IDE Center (Innovation Driven Enterprise) จึงกลายเป็นศูนย์ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการขับเคลื่อนนวัตกรรม โดยมีบทบาทหลักคือ ให้คำแนะนำผู้ประกอบการ (on-site advisory services) เพื่อนำองค์ความรู้ และนวัตกรรมไปใช้เชิงพาณิชย์ โดยเบื้องต้นเน้น 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายS-curve ของรัฐบาล เช่น โรบอต ยานยนต์ อาหาร เกษตร เป็นต้น ซึ่งทางกรมจ้างนักวิชาการ 7 สาขา มาเป็นผู้ให้ความรู้ประจำศูนย์ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถนัดหมายเข้ามาหารือ

หากผู้ประกอบการมาใช้บริการที่ศูนย์จะสามารถตรวจสอบฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาของทั่วโลก โดยผ่านระบบฐานข้อมูลระดับเวิลด์คลาสที่มีให้บริการ 3 ฐานข้อมูล คือ partsnap, questel และ lexisnexis เพื่อตรวจสอบว่า สิ่งประดิษฐ์ที่ต้องการคิดค้นมีการทำมาแล้วหรือไม่ หรือมีจดทะเบียนไว้ที่ใดบ้าง จะสามารถพัฒนาต่อยอดได้อย่างไร ผู้ประกอบการสามารถมาขอรับบริการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา มีผู้มารับบริการแล้ว 227 ราย

ต่อยอดเชิงพาณิชย์

บทบาทอีกด้าน คือ การส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี (capacity building for SMEs) ไปแล้ว 1,138 ราย โดยอบรม และคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการอบรมมาส่งเสริมให้จดทะเบียนสิทธิบัตรแล้ว 13 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศโฆษณา และจัดกิจกรรมร่วมกับสถาบันพัฒนาทรัพย์สินทางปัญญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ 20 รายการ ซึ่งทางศูนย์จะมีนักวิชาการที่มาให้ความรู้การพัฒนาผลิตภัณฑ์แต่ละรายว่า สินค้ามีจุดอ่อน-จุดแข็งอย่างไร แก้ไขอย่างไร และนำสู่การจับคู่ธุรกิจ พบว่าได้รับการตอบรับแล้วหลายราย เช่น ผงมะพร้าวอ่อน ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารได้ และยังได้เชื่อมโยงกับทางธนาคารเอสเอ็มอี และธนาคารออมสิน มาให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อด้วยและโครงการ IP Champion ประกวดนวัตกรรมอุตสาหกรรมอาหารและเกษตร 6 ภูมิภาค คัดภูมิภาคละ 5 ราย รวม30 รายการ มาสู่การประกวดรับคัดเลือกเป็น “IP Champion” ที่กรุงเทพฯ โดยมีรางวัลสูงสุด 100,000 บาท เราพบว่ามีหลายรายการที่น่าสนใจ เช่น น้ำอัดลมจากเปลือกเมล็ดกาแฟช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ แผ่นมาสก์หน้าจากเส้นไหม และขนมมาการองไส้สมุนไพรผสมผลไม้ไทย เป็นต้น นอกจากนี้ ทางกรมได้เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการค้าปลีก เช่น บิ๊กซี โดยคัดเลือกสินค้าที่มีแนวโน้มที่จะทำตลาดได้ให้เข้าไปจำหน่ายประมาณ 15 รายการ เช่น สับปะรดบ้านคา จ.ราชบุรี ทองม้วนกรอบผสมซีฟู้ด Mathtara ส้มตำกรอบและน้ำปลาร้าปรุงรสแม่ตุ๊ก เป็นต้น

ปลูกฝังนักพัฒนานวัตกรรม

อย่างไรก็ตาม “นายพิทักษ์” เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการปลูกฝังนักสร้างนวัตกรรม ซึ่งทางศูนย์ IDE ได้เชื่อมโยงเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศอีก 7 แห่ง ได้แก่ 1.มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) 2.มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) 3.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) 4.มหาวิทยาลัยนเรศวร (มน.) 5.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) 6.มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.) และ 7.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.)เพื่อให้กระจายองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมไปยังระดับภูมิภาค โดยผลสำเร็จที่เกิดขึ้นคือ สามารถให้ความรู้ผู้ประกอบการได้ถึง 1,557 ราย และมีการยื่นขอจัดทำคำขอสิทธิบัตร 14 คำขอ, คำขออนุสิทธิบัตร 82 คำขอ, คำขอการออกแบบ 68 คำขอ, คำขอเครื่องหมายการค้า 71 คำขอ และมีการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิในการผลิตแทน สินค้า 26 ราย นอกจากนี้ยังมีการจัดทำหลักสูตร e-Learning โดยการนำข้อมูลจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) มาแปลเป็นแบบเรียน e-Learning ทางเว็บไซต์ และมีใบประกาศรับรอง ซึ่งเป็นรูปแบบการเข้าถึงได้กว้างมากขึ้นจากการอบรมให้ความรู้ในรูปแบบปกติ ซึ่งทางศูนย์มี in-house training และมีการจัดโมบายยูนิตออกไปให้ความรู้ ซึ่งจะครอบคลุม 77 จังหวัด ในปี 2561

ปี”61 ดึงบิ๊กธุรกิจช็อป

แผนสำคัญของปี 2561 คือ การจัดทำตลาดกลางด้านทรัพย์สินทางปัญญาออนไลน์ “IP Mart” เพื่อแก้โจทย์ “นำงานวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง” เพราะที่ผ่านมานักวิชาการที่ทำงานวิจัยเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดความรู้ทางวิชาการเป็นหลักแต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ในการต่อยอดทางธุรกิจ เหมือนเก็บไว้บนหิ้ง ทางกรมได้เชิญชวนมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และสถาบันการสำคัญ 50 องค์กร ให้นำผลงานเหล่านั้นมาใส่ไว้บนเว็บไซต์ ซึ่งเราพร้อมจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง เป็น “e-Market Place” ให้คล้ายอาลีบาบา เชื่อมโยงกับผู้ซื้อรายใหญ่ ซึ่งได้หารือกับทางบริษัท มิตรผล ซีพีเอฟ เอสซีจี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งประสานเรื่องการขอสินเชื่อผ่าน พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสถาบันการเงิน เช่น เอสเอ็มอีแบงก์ โดยขณะนี้รวบรวมสินค้า 200 รายการ คาดว่าจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคม 2561

พร้อมกันนี้ กรมได้หารือกับอาชีวะ เพื่อจัดโครงการจัดประกวดพัฒนาผลงาน “1 อาชีวะ1 นวัตกรรม” เพราะนักศึกษาคิดค้นผลงานในแต่ละปีจำนวนมาก จึงได้หารือกับทางอาชีวะทั้งของภาครัฐและเอกชน 900 แห่งทั่วประเทศ และหารือกับโรงเรียนมัธยมปลาย จังหวัดทางภาคใต้ ร่วมโครงการ IP Camp ช่วงเดือนพฤษภาคม เพื่ออบรมให้ความรู้ จัดทำคลิปวิดีโอไม่ซื้อไม่ขายไม่ใช้ของปลอม 1 คลิปต่อ 1 จังหวัด รางวัลละ 50,000 บาท หลังจากนั้นจะนำผลงานที่ตกผลึกแล้วมาจัดแสดงในงาน IP Fair 2018 ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อต่อยอดทางพาณิชย์