“ไบโอดีเซล B100” ล้นประเทศ 6ล้านลิตรต่อวัน โรงงานดัมพ์ราคาหนีตาย !

ไบโอดีเซล B100 ล้นตลาดหนัก พุ่ง3 ล้านลิตร หลายโรงงานเริ่มเดินเครื่องผลิตไม่ถึง 50% เพราะไม่มีลูกค้าการแข่งขันสูง แห่ดัมพ์ราคาขายต่ำสุดไม่ถึง 20 บาท/ลิตร คาดปี”61 มีโรงงานใหม่จ่อเข้าระบบอีก3 โรง ด้าน พีทีจีฯเตรียมดันโรงงานไบโอดีเซลเข้าระบบอีก 3 แสนลิตร ส่วนเพียวพลังงานฯระบุ ยังไม่มีแผนฟื้นโรงผลิต B100 ที่หยุดผลิตมานาน รอลุ้นดีมานด์จะเพิ่มขึ้นหรือไม่

นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์การผลิตไบโอดีเซล (B100) ว่า ปัจจุบันมีโรงงานผลิต B100 รวมทั้งสิ้น 13 โรงรวมกำลังผลิต 6.6 ล้านลิตร/วันในขณะที่ความต้องการใช้ B100 เพื่อนำไปผสมในเนื้อน้ำมันดีเซลมีเพียง3 ล้านลิตร/วันเท่านั้น ซึ่งหากทุกโรงงานเดินเครื่องผลิตเต็มที่เท่ากับว่าจะมีปริมาณ B100 ที่เป็น “ส่วนเกิน” ถึง 3 ล้านลิตร/วัน จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ 1) โรงงานผลิต B100 ส่วนใหญ่เดินเครื่องผลิตไม่ถึงร้อยละ 50หรือเดินเครื่องเฉพาะที่มีคำสั่งซื้อเข้ามาเท่านั้น และ2) ปริมาณส่วนเกินในระบบที่เกิดขึ้น รวมถึงข้อจำกัดด้านถังเก็บสต๊อกที่ไม่เพียงพอ ทำให้มีการจำหน่าย B100 (หน้าโรงงาน) แบบดัมพ์ราคาไม่ถึง20 บาท/ลิตร ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาเปรียบเทียบราคาประกาศจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ที่ราคา 23.64 บาท/ลิตร

จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการที่มีเพียงธุรกิจผลิตไบโอดีเซลอย่างเดียวค่อนข้างลำบาก และอาจจะต้องประสบปัญหาภาวะขาดทุนได้หากยังคงจำหน่าย B100 ในราคาถูก

ส่วนผู้ประกอบการที่มีทั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล และโรงงานน้ำมันปาล์มเพื่อป้อนให้กับการบริโภคจึงยังสามารถบริหารจัดการกระจายความเสี่ยงได้ จึงได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ในปี 2561 นี้ คาดว่าจะมีโรงงานผลิตไบโอดีเซลใหม่เพิ่มเติมอีกอย่างน้อย3 โรง อย่างเช่น โรงงานไบโอดีเซลของบริษัท พีทีจี เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) เจ้าของสถานีบริการน้ำมันพีที กำลังผลิตประมาณ 300,000 ลิตร/วัน

“นโยบายของภาครัฐสำคัญต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน ประเด็นสำคัญคือ จะเพิ่มความต้องการใช้ B100 ได้อย่างไร เพราะซัพพลายมีมากกว่าดีมานด์ถึง 2 เท่าในขณะนี้ จากเดิมที่ก่อนหน้านี้โรงงานผลิต B100 ก็จะเจอว่าบริษัทน้ำมันกดราคารับซื้อ B100 แต่ตอนนี้หนักกว่านั้นคือ ผู้ผลิตกดราคาเองเลย เพราะการแข่งขันสูง ถ้าขายแพงก็ไม่มีใครซื้อ และถึงแม้ว่าอยากสต๊อก B100 ไว้ก็ไม่ได้อีกเพราะไม่มีถังเก็บ”


ด้านนางกนกพร จารุกุลวนิชกรรมการผู้จัดการ บริษัท เพียวพลังงานไทย จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้บริษัทแม่คือ บริษัท อาร์พีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ RPC ได้ลงทุนพัฒนาโรงงานไบโอดีเซล กำลังผลิต 300,000 ลิตร/วัน โดยใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ ภายใต้การบริหารของบริษัท เพียวไบโอดีเซล จำกัด นั้น แต่เนื่องจากความต้องการใช้ B100 ยังมีไม่มากพอที่จะเดินเครื่องผลิตแล้วคุ้มค่า จึงตัดสินใจหยุดผลิตมาตั้งแต่ปี 2555 และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีแผนที่จะกลับมาผลิต เนื่องจากมีผู้ผลิตหลายราย และการแข่งขันในตลาดก็ค่อนข้างสูง แต่หากในอนาคตความต้องการใช้มากขึ้นก็อาจจะพิจารณาอีกครั้งได้

ตามข้อมูลล่าสุดของกรมธุรกิจพลังงาน ระบุว่า ปัจจุบันมีโรงงานผลิต B100 รวมทั้งสิ้น 13 โรง โดยใช้น้ำมันปาล์ม (CPO) น้ำมันพืชใช้แล้วและอื่น ๆ เป็นวัตถุดิบ คือ บริษัท ไบโอเอ็นเนอยี่พลัส 2 จำกัด, บริษัท ไบโอซินเนอร์จี จำกัด, บริษัท บางจากไบโอฟูเอล จำกัด, บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน), บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำมันพืชปทุม จำกัด, บริษัท จีไอ กรีน พาวเวอร์ จำกัด, บริษัท เอไอ เอ็นเนอร์จี จำกัด (มหาชน), บริษัท วีระสุวรรณ จำกัด, บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด, บริษัท ตรังน้ำมันปาล์ม จำกัด และบริษัท แอ็บโซลูท พาวเวอร์ พี จำกัด

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานได้วางเป้าหมายการส่งเสริมไบโอดีเซลไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP 2015 (Alternative Energy Development Plan) ว่า ภายในปี 2579 จะมีความต้องการใช้ B100 เพิ่มเป็น 14 ล้านลิตร/วัน จากปัจจุบันที่มีการใช้เพียง 3 ล้านลิตร/วันเท่านั้น สำหรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในเนื้อน้ำมันดีเซลนั้น กระทรวงพลังงานกำหนดไว้ที่ประมาณร้อยละ 3 ร้อยละ 5 และร้อยละ 7 เนื่องจากราคาวัตถุดิบคือน้ำมันปาล์มค่อนข้างผันผวนตามฤดูกาล และในบางช่วงภาครัฐได้ใช้ไบโอดีเซลเป็นเครื่องมือดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มในบางช่วงเพื่อพยุงราคาด้วย