พิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ ยกเครื่อง “สมาร์ท DFT” หนุนผู้ส่งออก

พิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์
สัมภาษณ์พิเศษ

 

ภาวะการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเน้นการทำงานผ่านระบบทางไกล work from anywhere มากขึ้นจนกลายเป็นวิถีใหม่ next normal ขณะที่การทำงานของภาครัฐต้องปรับตัวเพื่ออำนวยความสะดวกต่อภาคเอกชนให้สอดรับวิถีใหม่เช่นกัน

“กรมการค้าต่างประเทศ” ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยผู้ประกอบการส่งออกออกเอกสารรับรองต่าง ๆ เพื่อประกอบการส่งออกและนำเข้าสินค้า วางนโยบายยกระดับการทำงานสู่ระบบ “สมาร์ท DFT” เพื่อให้ทันโลกการค้ายุคใหม่ “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “พิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์” อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ หลังรับไม้ต่อจาก “กีรติ รัชโน” ถึงแนวนโยบายของกรมการค้าต่างประเทศ

ปรับบริการรับโควิด-19

กรมเป็นหน่วยงานที่คอยให้บริการผู้ประกอบการเรื่องการออกใบอนุญาต ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ต่าง ๆ รวม 11 ฉบับ และการขอสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) 4 ระบบของ 4 ประเทศ คือ สหรัฐ สวิตเซอร์แลนด์ กลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราชและนอร์เวย์ ซึ่งในแต่ละมีการออกหนังสือรับรองจำนวนมากในแต่ละปี

เรามีหน้าที่ดูแลผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ เพราะฉะนั้นในช่วงโควิด สิ่งที่กรมจะดำเนินการภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน สิ่งแรกต้องดูแลเจ้าหน้าที่ 600 คน ให้ปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพก่อน โดยได้จัดให้มีการตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ เพื่อความมั่นใจ ทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ยังต้องทำ work from home ปริมาณ 25% หลังจากที่โอมิครอนเริ่มผ่อนคลายจึงพิจารณาให้กลับมาทำงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การทำงานจากบ้านไม่ได้มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานด้านการให้บริการผู้ส่งออก เพราะกรมมีระบบปฏิบัติการผ่านทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออก ที่สำคัญเรายังให้สวัสดิการกับพนักงานชั้นผู้น้อยที่ต้องปฏิบัติงานที่บ้านจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ กรมช่วยเหลือการให้กู้ดอกเบี้ยถูก เพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ รายละ 30,000 บาท 50 เครื่อง ผ่อนชำระ 2 ปี เพราะเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเงินเดือนไม่สูง มีค่าใช้จ่ายค่าที่พักที่ต้องมาเช่าอยู่อาศัยก็ต้องช่วยเหลือเขาด้วย

อัพเกรดบริการดิจิทัล

ขณะเดียวกันกรมปรับระบบ digital เพื่อรองรับแบบฟอร์มต่าง ๆ 3 ระบบ เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ผู้ประกอบการ เช่น ระบบการออกใบอนุญาตให้ผู้ส่งออกจะนำร่องกลุ่มผู้ส่งออกข้าวก่อน ซึ่งเดิมต้องมาขึ้นทะเบียนที่กรม เพื่อจะมีใบประจำตัวของผู้ส่งออก แต่จะปรับระบบใหม่ในรูปแบบออนไลน์ หากจะดำเนินการหรือติดตามดูแลก็สามารถเข้าระบบ login ในการตรวจสอบหรือการยื่นคำขอก็สามารถยื่นผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้ามาที่กรม

ซึ่งจะขอความร่วมมือให้ผู้ส่งออกข้าวทั้งรายเก่าและรายใหม่เข้ามาอยู่ในระบบดังกล่าว และจะขยายไปในกลุ่มสินค้าอื่น ๆ เช่น มันสำปะหลัง หอมแดง โดยมีเป้าหมายว่าการออกใบอนุญาตให้กับผู้ส่งออกจะเป็นระบบออนไลน์ ทั้งนี้ ยังจะเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ส่งออกด้วย

ระบบที่ 2 คือ ระบบการลงลายมือชื่อ ตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (ESS) ระบบนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการให้บริการจาก 15 นาที เหลือประมาณ 10 นาที คือ ระบบนี้จะออกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเซ็นและการใช้ตราประทับจะผ่านในระบบทั้งหมด 11 ฟอร์ม แต่ก็ยังมีบางส่วนที่ยังไม่ได้รับรอง คือ เอฟทีเอไทย-อินเดียไทย-เปรู และอาเซียน-อินเดีย เนื่องจากการให้รับรองดังกล่าวจะต้องถูกยอมรับทั้งสองฝ่ายซึ่งในบางประเทศยังไม่ได้รองรับระบบของไทย จึงเป็นสิ่งที่กรมจะต้องผลักดันในเรื่องนี้

ระบบที่ 3 เรียกว่า DFT smart certificate of origin (DFT C/O) ซึ่งอยู่ระหว่างการผลักดัน หากสำเร็จผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมาที่กรมสามารถดำเนินการอยู่ที่บริษัทได้ แต่จะต้องซื้อกระดาษจากของกรมที่มีลายน้ำ เพื่อป้องกันการปลอมแปลง อำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออก

อัดงบฯลงทุน 14.5 ล้านบาท

“กรมต้องสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้ประกอบการได้เชื่อมั่นว่าเอกสารดังกล่าวนั้นเป็นของจริง มีการตรวจสอบได้ ซึ่งในการวางระบบนี้ได้จัดสรรงบประมาณมาใช้ประมาณ 14.5 ล้าน เป็นการที่ลงทุนที่คุ้มค่ามาก ช่วยลดกระดาษ 4.4 ล้านแผ่น ลดเวลาการรอบริการ 3 แสนชั่วโมง และลดค่าเสียโอกาส 18 ล้านบาท”

นอกจากนี้ กรมยังมีอีกระบบคือ การออกใบรับรองด้วยตัวเอง (self certification) ซึ่งผู้ประกอบการรายที่เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญและมีความรู้ด้านการส่งออก สามารถขึ้นทะเบียนใช้ระบบรับรองตัวเองได้ เหตุที่อาจจะไม่สามารถให้ผู้ส่งออกทุกคนรับรองตัวเองได้หมด เพราะมีบางกลุ่มไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้า ที่ต้องมีการคำนวณว่าจะใช้เท่าไร เพื่อนำไปลดภาษี ซึ่งจนถึงตอนนี้มีผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ระบบรับรองตัวเองได้ประมาณ 100-200 ราย

Smart ID ผู้ส่งออก

“กรมมีความตั้งใจจะทำไอดีผู้ส่งออก เหลือเพียง 1 ID และให้สามารถใช้กับทุกบริการของกรมการค้าต่างประเทศได้ เช่น สินค้าข้าวที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ส่งออกข้าวที่กรม และก็ต้องขึ้นทะเบียนเป็นมาตรฐานส่งออกสินค้าข้าว ซึ่งเป็นการกำกับมาตรฐานของเข้าส่งออก ซึ่งก็ต้องไปขึ้นทะเบียนที่กองมาตรฐานสินค้า และหากจะใช้สิทธิของการส่งออกภายใต้ข้อตกลงเอฟทีเอ ก็จะต้องมีอีก 1 ID ที่กองบริการ”

หากวางระบบ 1 ID ได้สำเร็จ จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยลดระยะของการขึ้นทะเบียนในแต่ละส่วนให้สามารถขึ้นได้ครั้งเดียวแต่เชื่อมบริการทั้งหมด หรือ single ID หรือ one stop service การให้บริการรวมภายในจุดเดียวซึ่งอยู่ระหว่างการผลักดัน

จัดระเบียบฐานข้อมูล

“สิ่งที่ยากคือ เรื่องของการแก้กฎระเบียบ ที่มีความแตกต่างกัน และการเชื่อมระบบออนไลน์ที่จะต้องทำอย่างไรให้มีการเชื่อมโยงกัน จะทำอย่างไรให้มีการเคลียร์ 5 ส. เช่น ของผู้ส่งออกข้าว เพื่อสามารถสรุปและแสดงตัวตน ว่ายังมีผู้ที่ประกอบการ หรือส่งออก เนื่องจากที่ผ่านมาเมื่อมีการเข้ามาขึ้นทะเบียนก็จะเพิ่มและรันจำนวนไปเรื่อย ๆ แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการรายนั้นยังคงมีการดำเนินกิจการหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบก็พบว่ายังมีบางรายที่ได้ขึ้นทะเบียนไปแล้วแต่ไม่ได้ดำเนินกิจการเลย”

อย่างกลุ่มผู้ส่งออกข้าวปัจจุบันมีอยู่นั้นประมาณ 200 ราย ก็ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบและพิจารณาแยกสำหรับกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกมาตรฐานข้าวมีกี่ราย ซึ่งต้องการที่จะจัดระเบียบให้เรียบร้อย การดำเนินต่าง ๆ จำเป็นที่จะต้องมีงบประมาณเข้ามาใช้ เบื้องต้นก็จะพยายามสร้างแนวทางไว้หากได้รับการจัดสรรงบประมาณเข้ามาก็จะได้ดำเนินการได้ทันที

“การปรับการทำงานระบบ smart DFT จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และช่วยลดต้นทุน หลังวิกฤตโควิดไม่จำเป็นจะต้องเดินทางมาที่กรม สามารถดำเนินการอยู่ที่บริษัทเองได้ คาดว่า การพัฒนาระบบต่าง ๆ จะเห็นเป็นรูปธรรมได้ภายในปลายปี 2565 นี้”