“วิวัฒน์ ศัลยกำธร” รมช.เกษตรฯ รุก 10 กรมขับเคลื่อนพระราชดำริ ร.9

สัมภาษณ์

การเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของ “ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร” ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิเศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ ผู้ซึ่งเคยถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมัยยังรับราชการในสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)

สำนักนายกรัฐมนตรี และเมื่อลาออกจากราชการได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวพระราชดำริ และทฤษฎีการพัฒนาในทุกมิติ มาใช้ในการดำเนินชีวิตจนประสบความสำเร็จ พร้อมขับเคลื่อนเผยแพร่ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน และชุมชน สร้างเครือข่ายไปทั่วประเทศ วันนี้หลายคนค่อนข้างคาดหวังในการเข้ามาแก้ปัญหาวังวนของเกษตรกรไทยที่มีมากมาย “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “อาจารย์ยักษ์” ในบทบาทรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯคนใหม่

Q : นโยบายการทำงาน

ผมมีหน่วยงานภายใต้การกำกับ 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมหม่อนไหม สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ล่าสุดได้ประชุมมอบนโยบาย โดยให้ทั้ง 10 หน่วยงานที่ผมรับผิดชอบต้องยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นหลักในการขับเคลื่อนงาน ยึดมั่นการทำงานเพื่อประชาชน โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับหลักทั้งมิติสังคม ชาวบ้าน และภูมิศาสตร์

ที่สำคัญ ต้องพัฒนาคน และรวมกลุ่มคน สร้างเครือข่าย ขณะเดียวกันจะนำข้อมูลจากนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และนายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ทั้งสองสายมาบูรณาการร่วมกัน เพราะว่าการดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจะต้องประสานให้ได้ทุกกรม

Q : รมว.เน้นอะไรเป็นพิเศษ

ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนขยายผลในนโยบายเดิมที่ดี และเห็นผลของกระทรวงเกษตรฯ ให้ประสบผลสำเร็จ โครงการใดที่ยังขาดไม่สมบูรณ์จะเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อช่วยประชาชนให้ลดความเหลื่อมล้ำ ตลอดทั้งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร ผมจะนำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มากำหนดเป็นกรอบการนำแผนสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม อย่างที่ท่านให้นโยบายไว้ อะไรดีให้รีบต่อ ถ้าโครงการไหนยังขาดให้มาปรับแต่ง สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

Q : รูปธรรมในการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ ร.9

ผมได้หารือกับหลายหน่วยงาน ซึ่งได้เห็นชอบแนวพระราชดำริ แนวทางการทรงงานของพระองค์เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติ เพื่อความยั่งยืน ตลอดทั้งรวบรวมแนวคิดทฤษฎีกว่า 40 ทฤษฎี ของรัชกาลที่ 9 จะนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตร เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในกระทรวงเกษตรฯ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องความพอเพียง นำไปเป็นหลักในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต เราต้องยกระดับบุคลากรเพื่อให้สมกับเป็นพสกนิกรของพระองค์ท่าน และยังได้ขอร้องให้สถาบันเกษตราธิการ นำไปกำหนดหลักสูตรฝึกอบรม เชื่อว่าจะเกิดความเข้าใจ หลังจากนั้นจะต้องแปลงปรัชญา 40 ทฤษฎี ที่พระองค์ท่านทำไว้ นำมาพัฒนามาเป็นหลักสูตรในกระทรวง และเผยแพร่สู่สังคมและนานาประเทศ

โครงการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระองค์ท่านได้รับการยอมรับจากทั่วโลก และได้รับการเชิดชูเกียรติสูงสุดจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ทูลเกล้าฯถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุด ด้านการพัฒนามนุษย์ (The Human Development Lifetime Achievement Award) เพื่อเฉลิมพระเกียรติในพระปรีชาสามารถ และพระราชกรณียกิจในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของพสกนิกรไทยตลอดรัชสมัย

Q : งานเร่งด่วนระยะสั้น

ส่วนใหญ่จะสานต่อจากของเดิมที่ดีอยู่แล้ว มีเพียงบางส่วนที่จะเติมและแต่ง ทั้งหมดน่าจะใช้เวลาไม่นาน เพราะงานถูกแบ่งไว้แล้ว โดยเฉพาะงานเร่งด่วนที่จะดำเนินการให้เห็นผลภายใน 3 เดือนนี้ คือ การแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูแล้ง แม้ว่าปริมาณน้ำในเขื่อนจะมีมาก แต่การบริหารจัดการต้องดีด้วย สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือ พื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่มีมากกว่า 120 ล้านไร่ ต้องเข้าไปส่งเสริม ต้องใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเข้ามาจัดการ

Q : นำหลักการโคก-หนอง-นาโมเดลมาปรับใช้

จากประสบการณ์ที่ตนเองทำงานด้านเกษตรมาโดยตลอด เห็นว่าการแก้ไขปัญหาภัยแล้งนอกเขตชลประทานได้ คือการส่งเสริมให้เกษตรกรขุดสระน้ำในพื้นที่ของตัวเองในลักษณะหลุมขนมครก เพื่อเก็บน้ำฝนไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งการขุดสระน้ำไม่ต้องพึ่งเงินทุนจากรัฐ

เกษตรกรสามารถทำได้เอง ในพื้นที่ที่ไม่สามารถขุดสระน้ำได้ อาจใช้วิธีการยกระดับคันนาให้สูงขึ้นเพื่อเก็บน้ำไว้ให้มากที่สุด รวมทั้งชุมชนต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญกับการขุดลอกห้วย หนอง คลอง บึงต่าง ๆ ไว้รองรับน้ำฝน ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นแนวทางตามศาสตร์พระราชาของในหลวง ร.9 และส่วนหนึ่งกระทรวงเกษตรฯได้นำร่องดำเนินการไปบ้างแล้ว ดังนั้นงานในความรับผิดชอบคาดว่าจะเห็นผลได้เร็วกว่าเป้าหมาย 3 เดือน

ขณะเดียวกัน ผมต้องประสานกับกระทรวงมหาดไทย และต้องพัฒนาคนให้มีศักยภาพให้เต็มที่ หรือเรื่องโครงการที่ใช้เงินทุนน้อยที่ดีแล้ว เราต้องผลักดันขยายต่อเนื่อง เช่น งานของกรมฝนหลวงฯ

เมื่ออากาศแห้งก็นำความชื้นสัมพัทธ์ไปทำได้ โดยจะนำงานวิจัยจากการพัฒนาฝนเทียมมาช่วยพื้นที่แห้งแล้ง เราจะสนับสนุนเต็มที่ โดยให้กองทัพอากาศและกรมฝนหลวงฯร่วมมือกัน

Q : แนวทางแก้ปัญหาระยะยาว

ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ แนวทางการทรงงานของพระองค์ท่านมีตัวอย่างความสำเร็จ เรื่องการบริหารจัดการน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยโครงการพระราชดำริ 4,000 กว่า ในจำนวนนี้เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำมากกว่าครึ่ง ซึ่งส่วนมากเป็นโครงการที่กรมชลประทานเข้าไปมีส่วนร่วมดำเนินงานอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน ผมเองมีนโยบายอยากให้เกิดแผนการบริหารจัดการ 25 ลุ่มน้ำให้แล้วเสร็จ ตอนนี้มี 24 ลุ่มน้ำแล้ว ลุ่มน้ำที่ 25 คือปัตตานีกำลังจะเริ่ม คิดว่าบ้านเราต้องอาศัยลุ่มน้ำ คือ โขง และสาละวิน ถ้าเกิดความแห้งแล้งจะช่วยได้ ซึ่งผมจะขอประสานกับทีมต่างประเทศ เนื่องจากเรื่องนี้มีคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง

Q : ที่ผ่านมาหลายโครงการไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะมีปัญหาการสื่อสารระหว่างราชการและเกษตรกร

ไม่ต้องกังวล ผมจะพิสูจน์ให้เห็นว่า ผมสามารถทำงานกับราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนจะเห็นผลภายใน 3 เดือนหรือไม่นั้น เดี๋ยวค่อยดูกัน หรืออาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ เพราะจริง ๆ ผมมีเวลาไม่มากสำหรับภัยแล้ง

Q : อุปสรรคสำคัญที่กังวล

ปัญหามีร้อยแปดพันประการ แต่ผมเป็นคนไม่กลัวอุปสรรค ชอบอุปสรรค ยิ่งมี ยิ่งท้าทาย ยิ่งทำให้มีกำลังใจ