“ประยุทธ์” ห่วงฝนตกหนักภาคใต้ สั่ง กอนช. บริหารจัดการน้ำรัดกุม

“ประยุทธ์” ห่วงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ สั่ง กอนช. เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง เกิดน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ย้ำบริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบรัดกุม

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นห่วงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ หลังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งและเข้าท่วมในหลายพื้นที่

จึงได้สั่งการให้ กอนช. ประสานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ พร้อมกำชับให้บริหารจัดการน้ำอย่างรอบคอบและรัดกุม เพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว

ทั้งนี้ กอนช. ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 25-27 ก.พ. 65 เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงกำลังแรงจากประเทศจีนยังคงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง

ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณนอกชายฝั่งทางตะวันออกของรัฐปะหัง ประเทศมาเลเซียมีแนวโน้มจะเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่

ล่าสุดเมื่อเวลา 06.00 น. ที่ผ่านมา ปริมาณฝนตกสะสมสูงสุด บริเวณ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส 371 มิลลิเมตร อ.บันนังสตา จ.ยะลา 356 มิลลิเมตร และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส 330 มิลลิเมตร ขณะที่สถานการณ์น้ำล้นตลิ่งในพื้นที่ จ.ยะลา บริเวณแม่น้ำปัตตานี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง ส่วนที่ จ.ปัตตานี บริเวณแม่น้ำปัตตานี ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ จ.นราธิวาส บริเวณแม่น้ำสายบุรี ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลง

ซึ่งปัจจุบันยังมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมขังอยู่และมีแนวโน้มลดลง ได้แก่ บริเวณ จ.ยะลา 3 อำเภอ (อ.ยะหา อ.รามัน และ อ.บันนังสตา) 5 ตำบล (ต.ละแอ ต.บาโร๊ะ ต.อาซ่อง ต.บือมัง และ ต.บาเจาะ) จ.ปัตตานี 2 อำเภอ (อ.ยะรัง อ.หนองจิก) 2 ตำบล (ต.คลองใหม่ และ ต.ดอนรัก) จ.นราธิวาส 5 อำเภอ (อ.สุคิริน อ.แว้ง อ.รือเสาะ อ.สุไหงปาดี และ อ.จะแนะ) 7 ตำบล (ต.สุคิริน ต.มาโมง ต.โละจูด ต.แว้ง ต.สาวอ ต.สากอ และ ต.จะแนะ)

“กอนช. ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ และได้ออกประกาศแจ้งเตือน เมื่อวันที่ 22 และ 25 ก.พ. 65 ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่เตรียมการเฝ้าระวังและชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำ พร้อมประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หยุดการระบายน้ำเขื่อนบางลาง จ.ยะลา เป็นการชั่วคราวจนกว่ามวลน้ำหลากจะระบายลงสู่ทะเลเพื่อลดผลกระทบน้ำท่วม

และประสานกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปัตตานี จ.ยะลา และประตูระบายน้ำปรีกี จ.ปัตตานี ร่วมกับคลองต่างๆ เพื่อตัดยอดน้ำ หน่วงน้ำ และเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพื่อรองรับน้ำหลากที่กำลังเคลื่อนตัวจากตอนบนของลุ่มน้ำ” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

สำหรับการให้ความช่วยเหลือ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ หน่วยทหารในพื้นที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน อาสาสมัครและมูลนิธิต่างๆ ได้เร่งเข้าสำรวจความเสียหายและให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว

ปัจจุบันภาพรวมของสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมีแนวโน้มระดับน้ำลดลง ส่วนพื้นที่ตอนล่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำหลากที่ไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบน และหากมีฝนตกเพิ่มในช่วง 1-2 วันนี้ ได้แก่ จ.ยะลา บริเวณ อ.บันนังสตา อ.ยะหา และ อ.รามัน จ.ปัตตานี บริเวณ อ.สายบุรี อ.ยะรัง อ.หนองจิก และ อ.เมืองปัตตานี จ.นราธิวาส บริเวณ อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.ศรีสาคร อ.สุไหงปาดี อ.ตากใบ อ.รือเสาะ อ.จะแนะ และ อ.สุไหงโก-ลก

ซึ่ง กอนช. ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนประชนในพื้นที่เสี่ยง และลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ด้วยแล้ว

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ