กัญชง พืชเศรษฐกิจใหม่ ตอบโจทย์ BCG เมกะเทรนด์โลก

จากนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพ เนื่องจากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน จึงมีการส่งเสริมการนำพืชกัญชงมาใช้ในเชิงพาณิชย์ซึ่งสอดรับกับแนวคิด BCG Economy Model

วันที่ 1 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานสัมมนา หัวข้อ ตลาดและการประกอบธุรกิจด้านการค้าสำหรับสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากเส้นใยและผลิตจากใยกัญชง “มหัศจรรย์เส้นใยกัญชง สู่ตลาดโลก” ภายใต้โครงการพัฒนาและส่งเสริมการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากเส้นใยและผลิตภัณฑ์จากใยกัญชง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลก เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้ประกอบการนำแนวคิดไปปรับใช้ในการพัฒนาสินค้า

ดันกัญชงรับเมกะเทรนด์โลก- BCG Economy Model

นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้ยกระดับการส่งออก และขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และจากนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันให้กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีศักยภาพ

เนื่องจากสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน จึงมีการส่งเสริมการนำพืชกัญชงมาใช้ในเชิงพาณิชย์ซึ่งสอดรับกับแนวคิด BCG Economy Model ที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตควบคู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นเมกะเทรนด์สำคัญของโลก และเป็นโมเดลในการสร้างโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านการตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภค ให้ผู้ประกอบการไทยทุกระดับ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถและยกระดับการแข่งขันให้กับสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย รวมทั้งขยายส่วนแบ่งตลาดในตลาดโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต

“สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรม ที่มีห่วงโซ่เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมจำนวนมาก ทั้งในระดับอุตสาหกรรม เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน รวมกว่า 150,000 ราย ซึ่งก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศจำนวนมาก โดยในภาคการส่งออก มีมูลค่าการส่งออกในปี 2564 กว่า 199,137 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.33 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย”

ทั้งนี้ ปีนี้จะเป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร จึงได้จัดทำ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากเส้นใยและผลิตภัณฑ์ใยกัญชง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดโลกต่อไป

กัญชงขึ้นเเท่นพืชเศรษฐกิจดาวดวงใหม่

นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฉายภาพผลจากการวิจัย พบว่ารายได้ของกัญชง (Hemp) ในฐานะพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยนั้นจะมีรายได้จากการปลูกกัญชงต่อ 1 ไร่ มีมูลค่าประมาณ 10,000-15,000 บาทต่อไร่ และเมื่อเปรียบเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่นในประเทศ ปัจจุบัน ได้แก่ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ที่สำคัญมีการประเมินว่าตลาดกัญชงมีความเป็นไปได้ที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นที่มูลค่า18,608 ล้านดอลลารส์หรัฐ (5.58 แสนล้านบาท) ภายในปี 2027 หรือคาดการณ์อัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ +22.4 ต่อปี

ที่ผ่านมามีการปลดล็อกทางด้านกฎหมายทั้งทางด้านการผลิตและจำหน่าย พัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชงในด้านสังคมและวิถีชีวิตของชาวม้งมาอย่างยาวนาน

แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายเนื่องจากยังติดขัดข้อกฎหมาย จนกระทั่งเมื่อมีการปลดล็อกทางด้านกฎหมายกัญชงจึงได้รับการยกเว้นจากการเป็นสารเสพติดให้โทษยกเว้นช่อดอกตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้และจำนวนการปลูกเพิ่มขึ้นจนถึงขณะนี้

ขณะเดียวกันมีการนำเมล็ดกัญชงมาบริโภคและแปรรูปใน ระดับอุตสาหกรรมมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก เช่นแคนาดา สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรป จีน และออสเตรเลีย ด้วยความโดดเด่นที่มีลักษณะเฉพาะของกัญชงส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากกัญชงมากกว่า 200,000 ผลิตภัณฑ์ทั่วโลก ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรม Natural fiber composites กลุ่มอุตสาหกรรมวัสดกุ่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ กลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันกัญชงและสารสกัด CBD

“อย่างไรก็ดี เนื่องจาก BCG เป็นวาระแห่งชาติ หากดูตัวเลขการส่งออกแล้วมูลค่าไม่น้อย แต่มีการนำเข้าก็สูงมากเช่นกัน ประเด็นคือ ต่อจากนี้สิ่งทอจะไปต่ออย่างไร หากมองด้วยคอนเซ็ปต์ BCG ซึ่งผมมองว่า “Blue Ocean ดีกว่า Red Ocean” แน่นอน เพราะถ้าเราเเข่งกับจีน บังกลาเทศเหนื่อยแน่ เพราะฉะนั้น กัญชงเป็นเพียงส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังมี ใยสับปะรด ใยผักตบ อื่น ๆ อีก แต่ทำไมเราขายแค่คอตตอน ทั้งที่มีวัตถุดิบที่สามารถผลิตได้อีกมาก และไม่ควรลืมว่าเป็นเทรนด์ของโลกเราก็ต้องปรับตัวให้ไปได้กับยุคนี้ ซึ่งที่ผ่านมาสิ่งทอถูกมองเป็นผู้ร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม หลายแบรนด์มีการขายแบบ Fast fashion แต่จะสวนทางโลก ไทยควรที่จะจับประเด็นนี้ให้ดี โดยมีคีย์สำคัญ Circular Economy ซึ่งหนึ่งในนั้นคือกัญชงสามารถตอบโจทย์

นายปิลันธน์ ธรรมมงคล กรรมการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ มองว่าเส้นใยกัญชงเป็นหนึ่งน่านน้ำใหม่ (Blue Ocean) การยกระดับอุตสาหกรรมควรเริ่มต้นจากการเข้าใจผู้ผลิตและผู้ใช้ แล้วแก้ไข ที่สำคัญควรต้องมี R&D โดยประเทศไทยมีกัญชงเป็นภูมิปัญญาจนปัจจุบันควรที่จะสร้างต้นน้ำ ซึ่งการปลูกไม่ยาก ใช้น้ำน้อย และยกระดับความอยู่ดีกินดี ที่สำคัญคือเรื่องราวสามารถเล่าได้ การผลิตที่ผ่านมาเริ่มจากการลองสร้างต้นแบบแล้วไปเสนอลูกค้า พบว่าจริง ๆ เรามีจุดเด่นแล้วลูกค้าชื่นชอบความเป็นธรรมชาติ

อย่างไรก็ดี ผู้เล่นรายใหญ่ “จีน” มีสัดส่วนกว่า 70% นั้น หากจะเเข่งขันคงยาก แต่ไทยเองควรที่จะพัฒนารูปแบบให้แตกต่าง ทำการทดสอบงานวิจัย โดยไทยมีโอกาสที่จะครีเอต และเอกลักษณ์วัฒนธรรม นำไปต่อยอด เช่น ผู้ประกอบการญี่ปุ่นขายหนึ่งชิ้นหลายหมื่นเยน ไทยก็สามารถทำสินค้าให้ต่าง และสร้างความร่วมมือ ระหว่างกัน ในการทำตลาด ซึ่งตรงนี้เป็นบริบทสำคัญ ซึ่งส่วนตัวมองว่า แม้มีการปลดล็อกกฎหมาย สร้างความหวัง แต่ก็สร้างเงื่อนไขที่นักลงทุนกล้า ๆ กลัว ๆ ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเห็นโอกาสแล้วควรเดินหน้าเต็มที่

ตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก

นายจำนงค์ นวสมิตวงศ์ ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันเทรนด์ของโลกในเรื่องสิ่งแวดล้อม คาร์บอนฟุตปรินต์และขยะ ซึ่งคอตตอน ใยผ้าต่าง ๆ ใช้น้ำเยอะ รวมถึงไนล่อนมาจากน้ำมัน ปรากฏการณ์เหล่านี้มีการวิจัยถึงเหตุผลของการหาวัตถุดิบใหม่ ๆ ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และปัจจุบันเริ่มเห็นการลงทุนที่หันมามองรีไซเคิล แฟชั่นที่มาจากวัตถุดิบใหม่ ๆ ซึ่งกัญชงอยูในเทรนด์สิ่งแวดล้อม

สำหรับกัญชงในประเทศไทยเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น ในฐานะที่อยู่วงการสิ่งทอ สิ่งที่เห็นการเเข่งขันคือเรื่องของราคา แต่กัญชงใช้น้ำน้อยและสอดคล้องเทรนด์โลก จึงเป็นโอกาส แม้ปัจจุบันน่าจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นอุตสาหกรรมที่ยังมีโอกาสที่จะพัฒนาจากเอกลักษณ์กัญชงไทย และต้องมองตลาดควบคู่ไปกับการผลิต ผู้ประกอบการก็ควรที่จะพัฒนาการผลิต

อย่างไรก็ตาม Collaboration จะเห็นว่าหากจะร่วมมือกันพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนให้เร็วขึ้น นอกจากนี้ Branding และคุณสมบัติเป็นเรื่องสำคัญในการนำเสนอเอกลักษณ์เส้นใยกัญชง ทั้งนี้ หากจะก้าวสู่การส่งออก หน่วยงานรัฐควรมองตลาด ทำฉลากให้ชัดเจน เช่น หากมองญี่ปุ่น ควรนำเสนอสินค้าให้มีเอกลักษณ์ มีสตอรี่ มีการระบุคุณสมบัติพิเศษ เช่น รักษ์โลก เพื่อสุขภาพ ท้ายที่สุดจะตอบโจทย์ BCG Economy

ดีไซเนอร์ไทยสะท้อนแนวคิดพัฒนากัญชง

นางช่อทิพย์ วิเศษพงษ์พันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสมรรถนะธุรกิจ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กล่าวว่า ผู้ผลิตสิ่งทอทั่วประเทศมี 3 ล้านรายในกลุ่ม SME แต่ในส่วนนี้มาจากกัญชงน้อยมากที่เป็นสิ่งทอ สถาบันเองก็มีแผนเส้นทางกลยุทธ์การสร้างคุณค่าทางการตลาดที่เฉพาะเจาะจง Hemp collection ที่เหมาะกับแต่ละประเทศ ต้องมีการเรียนรู้และเข้าใจตลาดจริง (Real Market)

โอกาสกัญชงยังมีอีกมาก จากข้อมูลผลิตภัณฑ์กัญชงสร้างมูลค่าการตลาดให้กับเศรษฐกิจไทยได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของ GDP ภาคการผลิต (Manufacturing) ส่วน GDP ประเทศไทย ปี 2563 อยู่ที่ 15,698,300ล้านบาท และ GDP ภาคการผลิต (Manufacturing) อยู่ที่ 25.60% ของ GDP ทั้งหมด และคาดว่าจะโตได้อีกถึง 3% ไปจนถึงปี 2570 จากประมาณการพื้นที่ปลูกกัญชง 3 คลัสเตอร์ เมล็ดพันธุ์ เมล็ดบริโภค เส้นใย ด้วยการเปิดกว้างทางกฎหมายในปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสที่สถาบันเองผลักดันให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมให้มากขึ้น

นายเอก ทองประเสริฐ Fashion Designer ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทยและเครื่องประดับมองว่า เมื่อเป็นสิ่งทอคุณภาพของเส้นใยกัญชงจึงสำคัญมากที่สุด ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะมองว่าอุตสาหกรรมนี้มีข้อจำกัดหลายข้อด้วยพื้นฐานส่วนใหญ่เป็นมิติเชิงวัฒนธรรม สังคม การปลูกและการส่งเสริมดั้งเดิมมาจากชุมชน วิสาหกิจ ชาวบ้าน แต่ปัจจุบันเราสามารถสร้างหรือปรับวิธีคิดเก่า ๆ ให้สามารถเปิดโอกาสขยายไปสู่เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นได้ โดยนำเอาภูมิปัญญาและนวัตกรรมอยู่คู่กันมานานมาประยุกต์ร่วมกัน

ขณะที่นายอภิรัฐ บุญเรืองฐาวร ดีไซเนอร์เจ้าของรางวัลระดับโลก กล่าวว่า อุตสาหกรรมนี้จะเติบโตขึ้นอยู่ที่เเนวคิด วิธีคิดนำประโยชน์มาปรับใช้ให้เหมาะกับยุคสมัย ซึ่งกัญชง ปัจจุบันเป็นจังหวะที่ดีเป็นเวลาที่เหมาะสม จากแพชชั่นความตื่นเต้น จากที่คนเคยคิดว่าผ้าไหม เป็นข้อจำกัด Ageing แต่จังหวะเวลาและโพรเทนเชียล น่าจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ผ้าไทยไปสู่ตลาดโลกได้

ชูคุณภาพ เอกลักษณ์แบรนด์

นางสาวดวงฤทัย ภูมิพิเชษฐ์ ผู้จัดการ บจก. ดี.ดี. เนเจอร์คราฟต์เรายึดความเป็นวัฒนธรรมมาเป็นโจทย์ของการออกแบบและการนำเสนอสินค้าในแต่ ละประเทศ เราต้องศึกษาว่าประเทศนั้น ๆ ใช้สินค้าใด ไม่ใช้อะไร ขนาด สี และประโยชน์ การใช้งาน ตลาดหลักของบริษัทคือญี่ปุ่น สินค้าที่นำเสนอต้องเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูง กระบวนการผลิต หรือการได้มาของวัตถุดิบจะให้ความสำคัญมาก ต้องเตรียมตัวให้ พร้อมในการนำเสนอตลาดญี่ปุ่น ตลาดนี้คือสินค้ายากแต่เมื่อเป็นลูกค้าแล้วจะอยู่นาน

นางสาวภทรฤน พงษ์ประสิทธิ์ เจ้าของแบรนด์ “VINN PATTARARIN” กล่าวว่า จากการที่ได้ไปศึกษาที่ประเทศฝรั่งเศส ได้มีโอกาสทำแบรนด์ ซึ่งริเริ่มจากความสนใจโครงสร้างผ้าจนถึงเทคนิคเลเซอร์คัตกลายเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ต่อมาได้ค้นพบว่า การใส่สิ่งที่อยากเล่า นำเสนอลงในเสื้อผ้า เช่น สังคม การเมือง ธรรมชาติ จนมาเจอวัตถุดิบใหม่ ๆ ทั้งนี้ มองว่าโอกาสกัญชงไทยในบลูโอเชี่ยน ยังน้อยแต่ถึงอย่างไรยังไปได้อีกมาก ด้วยเอกลักษณ์ การเล่าเรื่องผ่านการออกแบบของดีไซเนอร์เก่ง ๆ ของไทย