“สมคิด” มั่นใจปี’61 เทคออฟครั้งใหญ่ ไตรมาสแรกเซ็นแอร์บัสลุยอู่ตะเภา

วันที่ 15 ธันวาคม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาความร่วมมือเพื่อประเมินโอกาสทางธุรกิจ ของโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานระดับโลก ระหว่างบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) และบริษัท แอร์บัส โดยมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงปารีส และนายเพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชฑูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี ประจำประเทศไทย ร่วมในพิธี

นายสมคิด เปิดเผยภายหลังการลงนามว่า เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา มีการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันระหว่างการบินไทยและแอร์บัส ว่าสามารถดำเนินโครงการดังกล่าวได้หรือไม่ ซึ่งก็สามารถสรุปผลการศึกษาได้เสร็จก่อนกำหนด จนกระทั่งมาถึงขั้นตอนการประเมินโอกาสทางธุรกิจ โดยเชื่อว่าในปี 2561 จะเป็นปีเทคออฟครั้งใหญ่ นำความเจริญมาสู่ภูมิภาค และมาที่ไทยมากขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ซึ่งการเติบโตดังกล่าวจะทำให้มีคนมาใช้สนามบินมากขึ้น ดังนั้นการทำให้สนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางการบินเกิดขึ้นได้แน่นอน โดยเห็นว่าการศึกษาเพื่อร่วมกันดำเนินการถือเป็นเรื่องที่ดี แต่โอกาสจะไม่รอ หากศึกษาไปเรื่อยๆ

นายสมคิด กล่าวว่า ทั้งนี้อยากเห็นการลงนามเพื่อเริ่มดำเนินโครงการในไตรมาส 1 ปี 2561 จะเริ่มการฝึกอบรม หรืออะไรก่อนก็ได้ โดยการบินไทยจะต้องหาพื้นที่ และหากเป็นไปได้ ในโอกาสที่ยุโรปมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทยแล้ว ระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นากยรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศฝรั่งเศสในไตรมาส 1 ปีหน้า ก็ต้องการเห็นการลงนามในสัญญาดำเนินโครงการร่วมกัน หรือหาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถเดินทางไปได้ ตนจะเดินทางไปแทนเอง เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้ในไตรมาส 1 ปี 2561 เพราะเมื่อมีโอกาสแล้วก็จะต้องทำให้เร็ว

นายสมคิด กล่าวว่า สำหรับการทำให้เป็นศูนย์กลางการบินนั้นจะต้องทำให้ครบวงจร และต่อไปก็ต้องทำให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการบินที่ครบวงจร เป็นต้น เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางจริงๆ ไม่แพ้ใครในภูมิภาคนี้ โดยในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยปีนี้ก็คาดว่าะอยู่ที่ประมาณ 34-35 ล้านคน ขณะที่เดียวกันก็จะต้องไปหาลูกค้าไม่ว่าจะเป็นจีน หรือสายการบินอื่นด้วย โดยเชื่อว่าอุตสาหกรรมนี้เกินได้แน่นอนทีเดียว

นายฌอง ฟรองซัวร์ ลาวาล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการแอร์บัส เครื่องบินพาณิชย์ กล่าวว่า ในช่วงที่ทีมงานของการบินไทยและแอร์บัสได้ประเมินศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน ได้เห็นศักยภาพของประเทศไทยที่มีควาพร้อมในเรื่องของทำเลทางภูมิศาสตร์ควบคู่ไปกับแรงงานที่มีฝีมือ และศักยภาพทางการตลาด โดยแอร์บัสคาดการณ์ฝูงบินที่ให้บริการในเอเชียและแปซิฟิกจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็น 2 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า จากจำนวนประมาณ 6,100 ลำ เป็น 17,000 ลำ และประเมินมูลค่าของภาคส่วนการซ่อมบำรุงอากาศยานในภูมิภาคนี้อย่างเดียวอยู่ที่ประมาณ 6.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในอีก 10 ปีข้างหน้า

นายฌอง กล่าวว่า สนามบินอู่ตะเภาสามารถรองรับอากาศยานได้ทุกขนาด และยังมีโรงงานซ่อมบำรุงแบบครบครันที่ดำเนินการโดยการบินไทยอยู่แล้ว โดยมีแรงงานฝีมือที่ชำนาญการ และในช่วงปีหน้า การบินไทยจะเริ่มทำการบำรุงรักษาเครื่องบิน เอ380 โดยการดูแลของทีมแอร์บัสที่อยู่ที่สนามบินอู่ตะเภา และในอีก 10 ปีข้างหน้าก็จะมีการสร้างโรงเก็บเครื่องบินใหม่ ซึ่งในที่สุดสนามบินอู่ตะเภาก็จะกลายเป็นสนามบินที่มีสองรันเวย์

นายฌอง กล่าวว่า นอกจาศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน(เอ็มอาร์โอ)ที่รองรับการซ่อมบำรุงเครื่องบินลำตัวกว้างทุกประเภทแล้ว สถาบันด้านวิศวกรรมเครื่องกลที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) การบินไทย และแอร์บัส ก็จะถูกสร้างขึ้นที่สนามบินอู่ตะเภาด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีมายังภูมิภาคนี้ ทั้งนี้แอร์บัสยังวางแผนที่จะจัดตั้งศูนย์ซ่อมวัสดุคอมโพสิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาภาคการบินและอวกาศของไทย และในที่สุดในแผนงานระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก จะเห็นโรงเก็บเครื่องบินแห่งอนาคตที่แสดงให้เห็นว่าการบำรุงรักษาเครื่องบินจะมีวิวัฒนาการอย่างไร ในระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนสู่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูง ด้วยเทคโนโลยีเออาร์ แบบเสมือนจริง และการทำให้เป็นระบบดิจิทัล

 

ที่มา มติชนออนไลน์