พาณิชย์ตรึงราคาสินค้า 18 กลุ่มต่อ ไม่สนราคาน้ำมันดิบพุ่ง 125 เหรียญ/บาร์เรล

ข้าวโพด อาหารสัตว์

ปลัดพาณิชย์ เผยหลังประชุมวอร์รูมติดตามปัญหารัสเซีย-ยูเครน กระทบต่อราคาน้ำมัน ปุ๋ย วัตถุดิบอาหารสัตว์ พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รับสมาคมปุ๋ยยื่นหนังสือแจ้งต้นทุนเพิ่ม ยันยังไม่ปรับขึ้นราคา ขอตรึง 18 กลุ่มสินค้าอยู่

วันที่ 9 มีนาคม 2565 นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือ แนวทางการรับมือมาตรการรองรับผลกระทบจากความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนต่อการค้าไทย ว่าที่ประชุมได้รายงานถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจการค้าไทย

โดยเฉพาะสินค้าที่จะได้รบผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ โดยทำให้ราคาปรับสูงขึ้น เช่น ปุ๋ย ซึ่งส่วนใหญ่ไทยนำเข้าแม่ปุ๋ยจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยนำเข้ายูเรียที่ได้จากก๊าซธรรมชาติเพื่อนำมาผลิตปุ๋ย และจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน ได้กระทบต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติ จึงมีผลต่อวัตถุดิบเพื่อนำเข้าผลิตปุ๋ยเคมี

บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร

ดังนั้น หลักการเบื้องต้นในการดูแลโดยเฉพาะสินค้าที่มีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ จะดูแลใน 2 ส่วน คือ การดูแลต้นทุนที่เป็นผู้ผลิต โดยจะพิจารณาเรื่องของต้นทุนส่วนจะออกมาตรการอย่างไรนั้น คงต้องมีการหารือกันอีกส่วน คือ การดูแลปลายทาง ในเรื่องของราคาจำหน่ายก็จะต้องไม่ให้ราคาสูงเกินไปหรือมีการฉวยโอกาสขึ้นราคา โดยแนวทางการดูแลอาจจะต้องนำไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์พิจารณา เพื่อหาข้อสรุปแนวทางและช่วยเหลือเพื่อให้ทุกฝ่ายเกิดเป็นธรรม

“เรารับทราบว่าปัจจัยผลิต ต้นทุนแม่ปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้น ก็ต้องติดตามดูแล และจากการที่สมาคมปุ๋ย ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ และแจ้งว่าต้นทุนการผลิตปุ๋ยสูงขึ้น แต่ยังไม่ได้แจ้งขอปรับขึ้นราคา อีกทั้งปุ๋ยเป็นสินค้าควบคุม การจะปรับราคานั้นจำเป็นจะต้องขออนุญาต ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการแจ้งเรื่องของการขึ้นราคา แต่เป็นการแจ้งเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้สินค้าใด ๆ ขึ้นราคา”

ส่วนกลุ่มอาหารสัตว์ โดยเฉพาะในกลุ่มธัญพืช ข้าวสาลี ข้าวโพด แหล่งเพาะปลูกสำคัญอยู่ในแถบยูเครน ซึ่งอยู่ในพื้นที่พิพาท และการนำเข้าวัตถุดิบไทยยังนำเข้ามาจากออสเตรเลีย สหรัฐ หากเกิดความขัดแย้งขยายวงออกไปในแหล่งปลูกสำคัญ จะมีผลต่อราคาสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์มีความกังวล โดยเฉพาะกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้า โดยในประเด็นนี้จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์และหาทางออกร่วมกัน

ส่วนราคาพลังงานที่มีการปรับขึ้นต่อเนื่องจากปัญหาดังกล่าว ราคาน้ำมันดิบขณะนี้แตะ 125 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งมีผลต่อราคาน้ำมันขายปลีกในไทยและมีผลต่อต้นทุนการผลิต การขนส่ง แต่อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมีผลต่อราคาวัตถุดิบต่าง ๆ สูงขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องค่าขนส่งไปต่างประเทศ ค่าระวางเรือ ซึ่งจะปรับขึ้นจากราคาน้ำมัน ผลกระทบจากปัญหานี้ กระทรวงพาณิชย์ต้องติดตามดูแลตลอดห่วงโซ่ และให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย หากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็ต้องดูแลให้ได้และไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภคเกินไป

อย่างไรก็ดี หากมีการปรับเปลี่ยนราคาก็ต้องดูแลและให้สอดคล้องกับต้นทุน ไม่ใช่ฉวยขึ้นราคาแบบไม่สมควร สินค้าแต่ละรายการได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน มีทั้งกระทบมาก กระทบน้อย กระทรวงพาณิชย์ก็ต้องเข้าไปดูแลด้วย เพราะสถานการณ์ปัญหาก็ยังมีอยู่ แม้มีการเจรจาไปหลายรอบ แต่ก็ยังไม่นำไปสู่ข้อยุติ และก็คาดหวังว่าสถานการณ์จะยุติโดยเร็วและให้ปัญหาต่างๆลดน้อยลง

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การที่สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจเกษตรไทยได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ ขอให้ยกเลิกมาตรการตรึงราคา หลังราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น เพราะผลของราคาน้ำมันที่สูงขึ้น และรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ได้ประกาศห้ามส่งออกปุ๋ย กรมได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับผู้ค้ามาโดยตลอด และขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขอความร่วมมือตรึงราคาขาย หากจะมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ คงต้องพิจารณาร่วมกันอย่างละเอียด รอบคอบที่สุด เพื่อให้ทุกฝ่ายไม่ได้รับผลกระทบ หรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับสินค้าอื่น ๆ หากจะขอปรับขึ้นราคาขาย เพราะต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ก็ต้องทำเรื่องมาที่กรม และจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขอความร่วมมือผู้ผลิตตรึงราคาขาย และยังไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้นราคาขาย โดยเฉพาะสินค้าใน 18 กลุ่ม เช่น เนื้อสัตว์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปุ๋ยเคมี ยากำจัดหรือปราบศัตรูพืช และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ส่วนราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกธัญพืชรายใหญ่ ขณะนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการหารือ เพื่อหามาตรการลดผลกระทบให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์ และกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ โดยผู้ผลิตอาหารสัตว์มีหลายข้อเสนอที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ทั้งลดภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง ที่ปัจจุบันเก็บที่ 2% ลดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ที่ปัจจุบันกำหนด 3 ต่อ 1 และขยายเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำหนดเดือน ก.พ.-ก.ย. ของทุกปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จะมีการพิจารณาผลดีผลเสียของทุกข้อเสนอ และหากเห็นชอบให้ใช้ข้อเสนอใดแล้ว ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ หรือเกษตรกรผู้ปลูกวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศ เช่น ข้าวโพด ไม่ให้ได้รับผลกระทบด้วย และหากได้ข้อสรุปก็จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายสินค้าเกษตรแต่ละชนิด รวมถึงคณะกรรมการนโยบายอาหารพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป