เอกชนกุมขมับ ดัชนีอุตฯ ก.พ. 65 หดตัวครั้งแรกในรอบ 6 เดือน

สภาอุตสาหกรรม

สุพันธุ์เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ก.พ. อยู่ที่ 86.7 ปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน พร้อม แนะรัฐยกเลิก Test & Go-ตรึงราคาพลังงาน ชี้จากนี้ 3 เดือนจะเห็นราคาสินค้าปรับขึ้น

วันที่ 10 มีนาคม 2565 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า อยู่ที่ระดับ 86.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.0 ในเดือนมกราคม และเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยเป็นผลมาจากการ ปรับตัวลดลงทุกรายการ ทั้งคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลกระกอบการ

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้ภาครัฐยกระดับการเตือนภัยโรคโควิด-19 จากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า

นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงานที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงตามทิศทางราคาตลาดโลกรวมถึงต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที)

ในด้านการส่งออกผู้ประกอบการเผชิญความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าขณะที่ปัญหา Supply Disruption ที่ยังไม่คลี่คลาย นอกจากนี้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าโลกมีความไม่แน่นอน แต่อย่างไรก็ตามในเดือนกุมภาพันธ์ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐผ่านโครงการคนละครึ่งเฟส 4 และการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนบางส่วน

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,242 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ ราคาน้ำมัน 75.2% สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 68.5% เศรษฐกิจในประเทศ 56.8% สภาวะเศรษฐกิจโลก 52.3% อัตราแลกเปลี่ยน 48.3% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 45.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 45.6%

สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.4 ในเดือนมกราคม ผู้ประกอบการเห็นว่าการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ไม่รุนแรงเหมือนช่วงก่อนหน้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อไปได้ขณะที่ภาคการผลิตทั่วโลกยังคงขยายตัวส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย นอกจากนี้การผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าประเทศตามนโยบาย Test & Go ช่วยเอื้อต่อการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ส่วนข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ คือ 1) เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ โอมิครอน อาทิ การสำรองยาให้เพียงพอ บริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต สนับสนุนยาและ สิ่งของจำเป็นในการกักตัว Home Isolation เพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย และการแจก ชุดตรวจ ATK ให้กับกลุ่มเสี่ยง

2) ยกเลิกมาตรการ Test & Go โดยให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ตแทนก่อนเข้าประเทศ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบตรวจติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว ต่างชาติ และเสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทย

3) ออกมาตรการดูแลราคาพลังงาน อาทิ การตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาก๊าซ และการคงค่าไฟฟ้า ผันแปร(FT) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

4) ขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์วิกฤต รัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งหามาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการด้านการค้า และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเพื่อให้ภาคเอกชนนำไปวางแผนการค้าหรือแสวงหาโอกาสทางค้าในตลาดที่มีศักยภาพ

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการในภาคการผลิตสินค้าต่าง ๆ ให้ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมจะมีปริมาณสินค้าในสต๊อกไม่เท่ากัน บางรายอาจมีสต๊อก 3 เดือน บางรายอาจมีสต็อก 6 เดือน ดังนั้น จากผลกระทบดังกล่าว คาดว่าจะได้เห็นผู้ผลิตสินค้าทยอยปรับขึ้นราคาในช่วง 3-6 เดือนจากนี้

โดยคาดว่าในช่วง 3-6 เดือน คงจะทยอยปรับราคาสินค้าขึ้นกัน ตอนนี้ในส่วนของปุ๋ยเคมี ก็จะขอปรับขึ้นใน 1-2 เดือนนี้แล้วแต่ละอุตสาหกรรมจะมีสต๊อกสินค้าไม่เท่ากัน 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง ตอนนี้สต๊อกก็เริ่มลดลง ยกตัวอย่าง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นตัวชี้วัด ยังขอปรับขึ้นราคาแล้ว เพราะข้าวสาลีที่เป็นวัตถุดิบสำคัญปรับตัวสูงขึ้น

สภาอุตสาหกรรม