กรมชลประทานลุยโปรเจ็กต์เจ้าพระยา 2 คาดเสร็จตามแผน

กรมชลประทานเดินหน้าสร้างโครงการบางบาล-บางไทร หรือเจ้าพระยา 2 คืบหน้ากว่า 20% คาดเสร็จตามแผน ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนดันราคานํ้ามัน-เหล็กพุ่งทำต้นทุนก่อสร้างสูง

วันที่ 14 มีนาคม 2565 นายเสริมชัย เซียวศิริถาวร ผู้อํานวยการสํานักพัฒนาแหล่งนํ้าขนาดใหญ่ กรมชลประทาน เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ล่าสุดวิกฤตสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ทําให้ต้นทุนพลังงานนํ้ามันมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ค่าแรงงาน ค่าเหล็ก หรือวัสดุก่อสร้างมีการขยับราคาขึ้น อาจกระทบกับการก่อสร้างโครงการชลประทานเฟสใหม่ที่ยังไม่มีการก่อสร้าง ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ค่าก่อสร้างอาจเพิ่มขึ้น

แม้ราคาเหล็กจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 10%  ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น กระทบต่อต้นทุนการก่อสร้าง แต่รัฐบาลพยายามตรึงราคาส่งผลทำให้ในปี2565 ราคาก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มาก

               

สำหรับความคืบหน้าของโครงการคลองระบายนํ้าหลากบางบาล – บางไทร หรือที่หลายคนเรียกกว่าเจ้าพระยา 2 ตั้งอยู่สนามชัย อําเภอบางไทรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นคลองระบายนํ้ามีความยาวประมาณ 22.50 กม. เขตคลองกว้าง 200 เมตร และในเขตชุมชนกว้าง110 เมตร พร้อมก่อสร้างถนนบนคันคลองผิวจราจรกว้าง 8 เมตร ทั้ง 2 ฝั่ง และก่อสร้างประตูระบายนํ้าปลายคลอระบาย จํานวน 1 แห่ง ก่อสร้างภายใต้งบประมาณ 21,000 ล้านบาท

คาดจะสามารถก่อสร้างได้เสร็จตามกําหนดเวลาที่ตั้งไว้ และหากก่อสร้างได้เสร็จ จะสามารถระบายนํ้าได้สูงสุด1,200 ลบ.ม./วินาที สามารถบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและพื้นที่ลุ่มนํ้าเจ้าพระยาตอนล่างได้เฉลี่ย 1.9–2.5 ล้านไร่/ปี และสามารถลดระดับความลึกของนํ้าท่วมลงได้ เพิ่มศักยภาพแหล่งนํ้าสําหรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ด้านเกษตรกรรมรวม 229,138 ไร่ มีนํ้าใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภค 15 ล้าน ลบ.ม. ในเขตพื้นที่โครงการ

การก่อสร้างคลองระบายนํ้าหลากบางบาล – บางไทร กรมชลประทานได้จัดทําแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มนํ้าเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุม ทั้งด้านอุทกภัย การขาดแคลนนํ้า คุณภาพนํ้า และการบริหารจัดการนํ้าและมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแนวทางการบริหารจัดการนํ้า เป็นคลองระบายนํ้าที่ก่อสร้างขึ้นเพื่อเบี่ยงนํ้าที่ปล่อยมาจากเขื่อนเจ้าพระยาเลี่ยงตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยซํ้าซาก ลดระดับนํ้าท่วมในพื้นที่ตัวเมืองพระนครศรีอยุธยาและลุ่มนํ้าเจ้าพระยาตอนล่างได้เป็นอย่างดี

“ความคืบหน้าในการก่อสร้างคลองระบายนํ้าหลากบางบาล – บางไทร เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ดําเนินการก่อสร้างได้มากกว่า 20% ของโครงการ ดังนั้นการก่อสร้างไม่น่าจะมีปัญหา หากก่อสร้างเสร็จ จะช่วยแก้ปัญหาการบริหารจัดการนํ้าในลุ่มนํ้าเจ้าพระยาได้ ทั้งเรื่องของนํ้าท่วม ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการนํ้าในช่วงนํ้าหลากได้มากขึ้น จากเดิมระบายนํ้าได้ 1,730 ลบ.ม.ต่อวินาที เพิ่มอีก 1,200 ลบ.ม.ต่อวินาที หรือจะสามารถเพิ่มการระบายนํ้าได้ถึง 2,930 ลบ.ม.ต่อวินาที จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในเขตนํ้าท่วมขังสูงสถานการณ์จะดีขึ้น ริมฝั่งเจ้าพระยาตอนล่าง จะสามารถระบายนํ้าลงทะเลได้เร็วขึ้นลดผลกระทบนํ้าหลากต่อประชาชนน้อยลง”

อย่างไรก็ตาม โครงการคลองระบายนํ้าหลากบางบาล – บางไทร เป็นแผนงานในลําดับที่ 7 ของแผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มนํ้าเจ้าพระยาตอนล่าง ประกอบด้วยแผนงานทั้งหมด 9 กลุ่มแผนงาน ซึ่งการก่อสร้างแนวคลองระบายนํ้าหลากตัดผ่านพื้นที่ชุมชน ส่งผลให้ที่ดินของประชาชนถูกเขตพื้นที่ก่อสร้าง ส่งผลให้มีการปรับลดแนวคลองในบริเวณที่ตัดผ่านชุมชนเพื่อให้มีผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด รวมถึงดําเนินกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหา