รัฐซื้อเวลาชี้ขาดพาราควอต ตั้ง “ชุดเฉพาะกิจ” สรุป 3 เดือนเลิก-ไม่เลิก

คณะกรรมการวัตถุอันตรายสั่งตั้ง “อนุกรรมการเฉพาะกิจ” เลิก-ไม่เลิก “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต” ขีดเส้นสรุปใน 3 เดือน ระหว่างรอผล กรมวิชาการฯลุยต่อทะเบียนให้ แต่ชะลอเฉพาะคำขอทะเบียนใหม่

กรณีคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุข มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมี 2 ชนิด คือพาราควอต สารเคมีฆ่าหญ้า และคลอร์ไพริฟอส สารเคมีฆ่าแมลง โดยไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และให้ยุติการนำเข้าในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้วันที่ 1 ธ.ค. 2562 รวมถึงเตรียมควบคุมการใช้ “ไกลโฟเสต” นั้น ล่าสุดกรมวิชาการเกษตรได้ต่อทะเบียนใบอนุญาตให้ 3 บริษัทใช้พาราควอตไปอีก 6 ปี

นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) และเครือข่ายภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายให้มีการพิจารณายกเลิกและจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอตคลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้เป็นสารกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าแมลงและมีความประสงค์ให้แก้ไขบัญชีสารเคมีเหล่านี้ จากเดิมที่เป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ให้เป็นประเภทที่ 4 ที่ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง พร้อมทั้งควบคุมห้ามไม่ให้ประกอบกิจการใด ๆ เพราะสารดังกล่าวอาจตกค้างและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนนั้น

กรอ.ได้นำเรื่องดังกล่าวประชุมหารือร่วมกับคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีนายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมควบคุมมลพิษ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่าง ๆ

ที่ประชุมเห็นควรให้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อหาข้อเท็จจริงในการพิจารณาให้มีการยกเลิกสารหรือไม่ อย่างเข้มงวดภายใน 3 เดือน โดยจะนำข้อมูลด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายมาพิจารณา รวมถึงแนวทางการเพิกถอนใบอนุญาตหรือการชะลอสำหรับการต่ออายุขึ้นทะเบียน หลังจากนี้หากมีการยกเลิกจริงให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เป็นผู้พิจารณาตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย

นายสมบูรณ์ ยินดียั่งยืน รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ที่ตั้งขึ้นจะมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นประธาน เพื่อใช้กรอบ 3 เดือนพิจารณาข้อมูลจากทั้ง 3 กระทรวง หาก “แบน” สารดังกล่าว จะต้องกำหนดกรอบระยะเวลาที่จะยกเลิกให้ชัดเจน มาตรการเยียวยา สารที่จะนำมาทดแทน หรือหากอนุญาตให้ใช้ต่อจะมีมาตรการรับมือเรื่องผลกระทบทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไร เนื่องจากขณะนี้มีทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและคัดค้าน

นายอุทัย นพคุณ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สำหรับการพิจารณาคำขอต่อทะเบียน และคำขอต่ออายุใบสำคัญฯ ระหว่างรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย หากยังไม่มีผลสรุป กรมวิชาการฯจะดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ส่วนคำขอขึ้นทะเบียนใหม่ยังคงชะลอ แต่สมมุติหากอนุกรรมการพิจารณาแล้ว เสนอคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาให้ยุติหรือแบนสารเคมีดังกล่าว เอกชนที่ได้ต่อทะเบียนต้องห้ามมีสารเคมีดังกล่าวไว้ในครอบครอง จำหน่าย นำเข้า ส่งออก ตามกฎหมายในที่สุดนั้น กรมวิชาการเกษตรจะเสนอกรรมการชุดนี้ให้เป็นยึดใบอนุญาตนำเข้าวัตถุดิบอันตรายหรือ วอ.4 ทำให้ไม่สามารถมีไว้ในครอบครอง ผลิตหรือซื้อขายได้

“ระหว่างรอการพิจารณา กรมต้องศึกษากฎหมาย หารือการใช้สารทดเเทน หากบางสารที่ไม่ถูกแบนต้องมีมาตรการควบคุมเข้มงวดอย่างไร หรือกรณีต้องจำแนกพื้นที่ เป็นข้อกำหนดลักษณะก้ำกึ่ง เป็นอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน ต้องพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ ทั้งนี้ กรมยึดนโยบายรัฐบาลและคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเกษตรกร”

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมปริมาณและมูลค่านำเข้าสารเคมีฆ่าวัชพืช ฆ่าแมลง ใน 4 พิกัด ในช่วง 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2560 พบมีปริมาณนำเข้ารวม 300,863,752 ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 32,343 ล้านบาท