“บี.กริม” วืดประมูลโรงไฟฟ้า SPP

ภาพ Pixabay

ตะลึง ! ผลประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm ค่าไฟฟ้าต่ำเวอร์ แค่ 2-2.20 บาท/หน่วย “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” “ไทยโก้ เทคโนโลยีฯ” คว้าไป 4 โปรเจ็กต์ เบียด “บี.กริม เพาเวอร์ฯ” ตกขอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกให้ผลิตไฟฟ้าในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ SPP Hybrid Firm กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ รวม 17 โครงการ ภายใต้อัตราค่าไฟฟ้ารับซื้อที่ 3.66 บาท ซึ่งจะต้องมีการผสมผสานการใช้เชื้อเพลิงมากกว่า 1 ประเภทขึ้นไป หรือใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (energy storage system) ร่วมด้วย เพื่อให้สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เมื่อจัดอันดับตามกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสนอขายสูงสุดนั้น แบ่งเป็น 1) บริษัท ไทยโก้ เทคโนโลยี จำกัด รวม 4 โครงการ กำลังผลิต 53.85 เมกะวัตต์ 2) บริษัท ศรีพระยา จำกัด รวม 2 โครงการ กำลังผลิต 41.5 เมกะวัตต์ 3) บริษัท บางไทร ภูมิพัฒน์ จำกัด รวม 2 โครงการ กำลังผลิต 34.29 เมกะวัตต์ บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของเจ้าสัวเจริญ ศิริวัฒนภักดี และ 4) บริษัท ไบโอ เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด รวม 2 โครงการ กำลังผลิต 34.81 เมกะวัตต์

ขณะที่ส่วนที่เหลือได้ไปอย่างละ 1 โครงการ คือ บริษัท เกษตรผล เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด กำลังผลิต 27 เมกะวัตต์ บริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด กำลังผลิต 13.84 เมกะวัตต์ บริษัท มิตรผล ไบโอ-เพาเวอร์ (ภูเวียง) จำกัด กำลังผลิต 16 เมกะวัตต์ บริษัท ไฟฟ้าสุรินทร์ จำกัด กำลังผลิต 11.29 เมกะวัตต์ บริษัท บลูโซลาร์ฟาร์ม 1 จำกัด กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ บริษัท ซุปเปอร์ โซลาร์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด (บริษัทในเครือซุปเปอร์บล๊อก) กำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ และบริษัท พีเอสที เอนเนอร์ยี 1 จำกัด กำลังผลิต 23.42 เมกะวัตต์ ทั้งนี้พบว่ารายใหญ่ด้านพลังงานกลับไม่ได้รับคัดเลือก เช่น บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ฯลฯ

แหล่งข่าวจากแวดวงพลังงานทดแทน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบ SPP Hybrid Firm ครั้งนี้ แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะใช้รูปแบบ “การประมูล” (competitive bidding) เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าที่ “ต่ำที่สุด” จากราคาประกาศรับซื้อที่ 3.66 บาท/หน่วย โดยเมื่อประเมินภาพรวมจากอัตราค่าไฟฟ้าผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะอยู่ที่เฉลี่ย 2-2.4 บาท/หน่วย เท่านั้น ซึ่งถือว่าต่ำมาก เหตุผลที่ทำให้ค่าไฟฟ้าค่อนข้างต่ำ เพราะ 1) ส่วนใหญ่มีวัตถุดิบหรือเชื้อเพลิงเป็นของตัวเองอยู่แล้ว อย่างเช่น โรงงานน้ำตาล ที่มีน้ำเสียจากระบบผลิต หรือบางโรงงานก็ปลูกพืชพลังงานอื่น ๆ ที่สามารถป้อนเข้าโรงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องตลอดอายุสัญญา 20 ปี รวมถึงบางโครงการเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างไว้อยู่แล้ว แต่ยังไม่ได้มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ามาก่อน ทำให้ไม่ต้องบวกรวมต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าเข้าไป และ 2) ตามโครงสร้างอัตรารับซื้อไฟฟ้าครั้งนี้ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าคงที่ (FiTf) ที่ 1.81 บาท/หน่วย และค่าไฟฟ้าในส่วนผันแปร (FiTv) ที่ 1.85 บาท/หน่วย แต่จะปรับขึ้นต่อเนื่องได้ตามอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core inflation) การประมูลครั้งนี้จะวัดกันที่ส่วนลดค่าไฟฟ้าคงที่ โดยบางรายเสนอส่วนลดสูงถึงร้อยละ 99.99 เท่ากับว่าตัดทิ้งค่าไฟฟ้าส่วนนี้ออกไป ส่งผลให้ผู้ผลิตไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวจะขายไฟฟ้าในราคาเฉลี่ยที่ไม่เกิน 2-2.20 บาท/หน่วย

อย่างไรก็ตาม หากโครงการ SPP Hybrid Firm สามารถพัฒนาโครงการให้เกิดขึ้นได้ เท่ากับว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็กสามารถแข่งขันด้านราคากับโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ ดังนั้นกระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลควรมีการพิจารณาส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น

“เป็นเรื่องดีที่พลังงานทดแทนปัจจุบันทั้งราคาถูกและมั่นคงด้วยการใช้รูปแบบ firm contract ซึ่งหากว่าทั้ง 17 โครงการที่ได้รับคัดเลือกสามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ กกพ.ก็ควรทบทวนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้มากขึ้นด้วย และสุดท้ายประเทศก็ได้ประโยชน์ในการพึ่งพาพลังงานที่ผลิตขึ้นเอง”

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า มีประเด็นที่ควรจับตาในเชิงเทคนิค โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการจะต้องมีกำลังผลิตติดตั้งรวมประมาณ 4-5 เท่าของกำลังผลิตไฟฟ้าที่เสนอขาย เพื่อให้สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตลอดทั้ง 13 ชั่วโมง

อย่างเช่น หากเสนอขายที่ 50 เมกะวัตต์ ขนาดของกำลังผลิตก็จะต้องมากกว่า 100 เมกะวัตต์ แต่ในหลายโครงการกลับมีกำลังผลิตสูงสุดน้อยมาก นั่นหมายถึงว่าโครงการดังกล่าวจะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามเงื่อนไขกำหนด และจะต้องจ่ายค่าปรับให้กับภาครัฐด้วยซ้ำ

ด้านผู้ชนะประมูลโรงไฟฟ้า SPP Hybrid Firm ที่เป็นรายเดียวที่ยื่นเสนอโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับการใช้แบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน นายวิเศษ หาญสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลู โซลาร์ จำกัด กล่าวว่า ได้ยื่นเสนอขายไฟฟ้า 12 เมกะวัตต์ (กำลังผลิตสูงสุด 42 เมกะวัตต์) ที่ตั้งโรงไฟฟ้าอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และจะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2564 หากมองต้นทุนของแบตเตอรี่ในปัจจุบันอาจจะยังมีราคาค่อนข้างสูง แต่เชื่อมั่นว่าราคาจะปรับลดลงต่อเนื่องจนทำให้ต้นทุนของโครงการลดลงตามไปด้วย โดยขณะนี้บลู โซลาร์ อยู่ในระหว่างพิจารณาแหล่งเงินทุนเพื่อใช้สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าดังกล่าวประมาณ 1,000 ล้านบาท

ทั้งสถาบันการเงินในประเทศ รวมถึงอาจจะขอสนับสนุนเงินลงทุนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB (Asia Development Bank)