ซิโนแวคเร่งพัฒนาวัคซีนใหม่ ทุ่มงบฯวิจัยสู้โควิดกลายพันธุ์

ซิโนแวคกางแผนลงทุนปี’65 ทะลุ 10 ล้านหยวน ลุยวิจัยพัฒนาวัคซีนโรคอุบัติใหม่ ตั้งเป้าหมายดันยอดผลิตทะลุ 3 พันล้านโดส แง้มงานวิจัยวัคซีนโอมิครอนใกล้คลอดแล้ว บุกหารือ “อย.” ไทย ขอไกด์ไลน์แล้ว คาดขึ้นทะเบียนไม่ใช่วัคซีนใหม่แค่เพิ่มข้อมูลคลินิก เตรียมเปิดตลาดในไทยเร็ว ๆ นี้

นายเหมิง เหว่ย หนิง รองประธานบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค (ฮ่องกง) ผู้ผลิตและจำหน่ายวัคซีนซิโนแวค (CoronaVac) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้บริษัทมีแผนจะลงทุน 10 ล้านหยวนเพื่อขยายธุรกิจพัฒนาวัคซีน โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้ลงนามความร่วมมือกับสถาบันวิจัยระดังสูงในจีน, ละตินอเมริกา และอีกหลายประเทศ

ตามนโยบายของบริษัทที่จะมุ่งเน้นการผลิตวัคซีนโรคอุบัติใหม่สำหรับมนุษย์เป็นหลักส่วนการพัฒนาวัคซีนโควิด ปีนี้ได้ขยายการทดลองประสิทธิภาพการใช้วัคซีนซิโนแวคสำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

และมีเป้าหมายว่าต่อไปวัคซีนโดสเดียวจะสามารถปกป้องโรคนี้ได้จากหลาย ๆ สายพันธุ์ จากการใช้บูสเตอร์โดส คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้ และตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิตในปีนี้ให้ได้ 3,000 ล้านโดส จากปีที่ผ่านมาผลิตได้ 2,000 ล้านโดส

เหมิง เหว่ย หนิง

“บริษัทก่อตั้งพัฒนามา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2001 มีการพัฒนาวัคซีนมาตั้งแต่ซาร์ส ไข้หวัดใหญ่ มาจนถึงโควิด เฉพาะโควิดได้มีการส่งวัคซีนไปแล้ว 2,800 ล้านโดส ในช่วงที่ผ่านมาให้กับ 50 ประเทศ และฉีดไปแล้ว 2,300 ล้านโดส และใช้ในเด็ก 3-17 ปี 250 ล้านโดส ถือเป็นผู้ผลิตวัคซีน 1 ใน 4 ของโลก

ขณะเดียวกันเราก็มีการพัฒนาวัคซีนครอบคลุมโควิดในทุกสายพันธุ์ ทั้งเบต้า แกรมม่า เดลต้า จากการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพการรักษาในหลายประเทศทั้งจีน ชิลี ตุรกี และบราซิล ซึ่งในอนาคตเป้าหมายต่อไปอยากให้วัคซีนโดสเดียวครอบคลุมหลายสายพันธุ์”

ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตวัคซีนอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านโดสต่อปี จากตอนที่เริ่มก่อตั้งที่ 300 ล้านโดส มีฐานการผลิต 4 แห่งในปักกิ่ง (เขตไห่เตียน เขตฉางผิง เขตต้าชิง) และในต้าเหลียน มีการผลิตวัคซีนประมาณ 10 รายการ และอยู่ในไปป์ไลน์อีก 6-7 รายการ อาทิ SiPV (5doses), PCV, HepB, DTaP-slPV, MMR และ HFMD ซึ่งอยู่ระดับต่าง ๆ ตั้งแต่พรีคลินิกไปจนถึงการทำ NDA

เปิดผลวิจัยย้ำความมั่นใจ

รองประธานบริษัท ซิโนแวค กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าในการวิจัยวัคซีนโอมิครอน ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก คาดว่าจะสรุปได้ในเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันบริษัทได้มีการศึกษาวิจัยประสิทธิภาพการใช้วัคซีนต่อเนื่องมาตลอดในกลุ่มตัวอย่าง ทั้งผู้ใหญ่ ผู้สูงวัย กลุ่มโรคเสี่ยงสตรีมีครรภ์ และเด็ก ยืนยันได้ถึงความปลอดภัย ไม่มีปัญหาใดในการศึกษาเฟส 1-2-3 อาการไม่พึงประสงค์มีน้อยและส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงมากขึ้น

ยกตัวอย่าง อาทิ งานวิจัยบูสเตอร์ต่อต้านไวรัสพบว่า เรื่องการตอบสนองของวัคซีน การเพิ่มแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ และ T-cells ที่ต่อต้านสายพันธุ์เดลต้า และโอมิครอนดีมาก โดยงานวิจัยดังกล่าวได้ลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Medrxiv เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2565

รวมทั้งมีการศึกษาในชิลี เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนบูสเตอร์โคโรนาแวค ว่าจะช่วยลดอัตราการป่วยที่เข้ารับการรักษาโรงพยาบาล หรือมีประสิทธิภาพการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มจาก 84% เป็น 88% และเพิ่มประสิทธิภาพการต่อต้านไวรัสจาก 56% เป็น 80%

การศึกษาการต่อต้านไวรัสโอมิครอน ตีพิมพ์ใน NATURE วันที่ 28 มกราคม 2565 ว่า พบการสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ของแอนติบอดีลบล้างฤทธิ์ในการต่อต้านไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน จาก 3.3% เป็น 95% ในอาสาสมัคร

พร้อมกันนี้มีการศึกษาความปลอดภัยเมื่อใช้ในสตรีมีครรภ์ และหลังคลอดบุตรในบราซิล กลุ่มตัวอย่าง 2.52 แสนโดส และจากที่พบว่าโอมิครอนได้มีการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กเพิ่มขึ้น จึงมีการศึกษาประสิทธิภาพการใช้วัคซีนนี้ในเด็ก โดยผลทดลองเฟส 3 จากศูนย์โคโรนาแวคในประชากรเด็ก 6-16 ปี กลุ่มตัวอย่าง 11,893 คน (ข้อมูลจนถึงวันที่ 10 มี.ค. 65) จากจีน ชิลี มาเลเซีย เคนยา แอฟริกา และฟิลิปปินส์

ซึ่งผลความปลอดภัยเบื้องต้นดี และอาการไม่พึงประสงค์น้อย คาดว่าผลสรุปเรื่องนี้จะประกาศอย่างเป็นทางการได้เร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการอนุมัติให้ใช้วัคซีนโคโรนาแวคในเด็กไปแล้วใน 13 ประเทศ คือ จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย โคลอมเบีย มาเลเซีย ชิลี บราซิล เมียนมา กัมพูชา ซิมบับเว โดมินิกัน เอกวาดอร์ และไทย

ถก อย.ขอไกด์ไลน์โรคประจำถิ่น

นายเหมิงกล่าวว่า ปัจจุบันซิโนแวคเริ่มผลิตวัคซีนสายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์อื่น และมีบูสเตอร์โดสแล้ว โดยนโยบายยังคงเน้นวัคซีนจากเชื้อตายเป็นหลักเช่นเดิม เพราะการศึกษาให้ผลที่ดี สำหรับวัคซีนโอมิครอนเป็นโคโรนาแวคพิเศษ บริษัทใช้กระบวนการผลิตเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสายพันธุ์ แต่การผลิตและการควบคุมคุณภาพเป็นไปตามเดิม จึงไม่ได้เรียกว่า วิจัยอยู่เฟส 1-2 หรือ 3 แต่เป็นการศึกษาเสริมเข้ามาเพื่อยืนยันว่าจะครอบคลุมโอมิครอนได้

“จากนี้หากประเทศไทยประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น เรากำลังพิจารณาร่วมกับผู้ถือหุ้น นักวิทยาศาสตร์ ถึงโอกาสที่จะมีการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ใหม่ในระยะต่อไปด้วย ส่วนแผนการเปิดตลาดวัคซีนโอมิครอนในประเทศไทย ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุยกับหน่วยงานรัฐบาล

ล่าสุดจากการหารือร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ให้ไกด์ไลน์ออกมาแล้ว เช่นเดียวกับจีน ถ้าเป็นโอมิครอนไม่ต้องถือว่าเป็นวัคซีนชนิดใหม่ แต่อาจจะต้องให้ข้อมูลทางคลินิกมากขึ้น จากนี้เรายังต้องทำงานร่วมกับ อย.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด”

ต่อคำถามที่ว่ามีเป้าหมายจะขายวัคซีนให้ไทยได้ปริมาณเท่าไรในปี 2565 นายเหมิงตอบว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของทางฝ่ายไทยว่าต้องการใช้มากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ส่งวัคซีนให้กับประเทศไทยได้มีการใช้แล้ว 26.3 ล้านโดสส่วนแนวโน้มราคาวัคซีนนั้น บริษัทยังใช้ระดับราคาเดิมจากที่ผ่านมา