มนัญญาสั่งสุ่มตรวจสารตกค้าง ผัก ผลไม้ ทุเรียน การันตีพืช GAP ปลอดภัย

มนัญญาสั่งกรมวิชาการเกษตร ลุยตรวจสารตกค้างผัก ผลไม้ และทุเรียน สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค ตั้งเป้าสุ่มตรวจติดตามปี 2565 ทั้งห้างและแปลงเกษตรกรครอบคลุมทุกภาคกว่า 3,000 ตัวอย่าง พบยังปลอดภัยจากสารตกค้างตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข

วันที่ 16 มีนาคม 2565 นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเร่งดำเนินการตามนโยบายสำคัญที่ได้มอบหมายไว้ คือการให้ความรู้และรณรงค์ให้เกษตรกรลด ละ เลิกการใช้สารเคมีอันตรายทางการเกษตร และสมัครเข้าสู่ระบบการผลิตพืชตามมาตรฐานที่ปลอดภัยจากสารตกค้างทั้งมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งกำชับให้เร่งตรวจรับรองแปลงของเกษตรกรให้เข้าสู่มาตรฐานการผลิตพืชปลอดภัยให้ได้มากที่สุด

โดยในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรได้รายงานให้ทราบว่าได้ตั้งเป้าหมายในการตรวจรับรองแปลง GAP ไว้จำนวน 100,000 แปลง นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรตรวจติดตาม และเฝ้าระวังสารตกค้างในผัก ผลไม้และทุเรียนทั้งจากแหล่งผลิตและแหล่งจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้บริโภค โดยหากตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยให้ทวนสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาและเร่งดำเนินการแก้ไขโดยเร็ว

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแผนการสุ่มตรวจติดตามเฝ้าระวังสารตกค้างในผัก ผลไม้ และทุเรียนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP จากแปลงและแหล่งจำหน่ายผลผลิตในปีงบประมาณ 2565 ได้ตั้งเป้าหมายสุ่มเก็บตัวอย่างพืช GAP และวิเคราะห์สารตกค้าง จำนวนทั้งสิ้น 3,152 ตัวอย่าง

โดยช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันได้สุ่มเก็บตัวอย่างพืช GAP จากแปลงและห้างสรรพสินค้าเพื่อวิเคราะห์สารตกค้างแล้วจำนวน 543 ตัวอย่าง แยกเป็นตัวอย่างพืช GAP จากห้างสรรพสินค้าจำนวน 200 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างพบว่ามีผลความปลอดภัย 185 ตัวอย่าง และพบความไม่ปลอดภัย 15 ตัวอย่าง และสุ่มเก็บตัวอย่างพืชจากแปลงที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 343 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างพบว่ามีความปลอดภัย 296 ตัวอย่าง และพบความไม่ปลอดภัย 47 ตัวอย่าง

โดยภาพรวมผลการสุ่มตรวจตัวอย่างจากทั้ง 2 แหล่งดังกล่าวพบว่ามีความปลอดภัยจากสารตกค้างจำนวน 481 ตัวอย่าง คิดเป็น 88 เปอร์เซ็นต์ ชนิดพืชที่มีความปลอดภัย มากที่สุด 5 ลำดับ ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง ผักกาดขาวปลี กระเจี๊ยบเขียว มะพร้าว และกะหล่ำปลี ส่วนพืชที่พบความไม่ปลอดภัยสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานโดยสุ่มตรวจจากห้างสรรพสินค้า 5 อันดับ ได้แก่ โหระพา ส้มสายน้ำผึ้ง มะระขี้นก ส้มโอ สับปะรด ส่วนที่สุ่มตรวจจากแปลง 5 อันดับ ได้แก่ กะเพรา แก้วมังกร องุ่น ถั่วฝักยาว และทุเรียน

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวว่า จากผลการสุ่มตรวจตัวอย่างพืชดังกล่าวสรุปได้ว่าสินค้าพืชตามมาตรฐาน GAP มีความปลอดภัยจากสารตกค้างเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรจะยังคงเฝ้าระวังและสุ่มตรวจตัวอย่างพืชเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดเพื่อเฝ้าระวังและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคตามข้อสั่งการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยหากตรวจพบสารเคมีตกค้างเกินค่ามาตรฐาน (MRL) ในแปลงจะแจ้งข้อมูลการตรวจพบให้เกษตรกรทราบ หรือกรณีตรวจพบวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้แล้วจะแจ้งเตือนเกษตรกรให้ปรับปรุงระบบการผลิตพร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา

หากตรวจพบปัญหาซ้ำจะพิจารณาให้พักใช้ใบรับรองแหล่งผลิตพืช ส่วนกรณีสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้างค้าปลีกและร้านค้าที่วางจำหน่ายสินค้า Q GAP หากตรวจพบสารเคมีเกินค่ามาตรฐาน MRL จะแจ้งข้อมูลการตรวจพบให้ห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่วางจำหน่ายทราบ รวมทั้งมอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรในพื้นที่รับผิดชอบเข้าทวนสอบกลับเพื่อหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไข หรือในกรณีการตรวจพบวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้แล้ว จะสั่งเพิกถอนใบรับรอง พร้อมกับสั่งการให้สารวัตรเกษตรเข้าติดตามตรวจสอบร้านค้าจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรในพื้นที่ หากพบการกระทำผิดจะแจ้งเรื่องส่งฟ้องดำเนินคดีต่อไป

นอกจากนี้ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้มอบหมายให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย ดร.ภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการวิเคราะห์สารตกค้างในทุเรียน ตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในทุเรียน เพื่อวัดความอ่อน-แก่ ให้อยู่ในค่ามาตรฐาน พร้อมให้การช่วยเหลือให้คำปรึกษา ผู้ประกอบการ ทางด้านปัญหาในการส่งออก ณ บริษัท ปั้นเพลิน อินเตอร์ฟรุ๊ต เอ็กพอร์ต จำกัด

“การตรวจวัดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในทุเรียน เพื่อวัดความอ่อน-แก่ ให้อยู่ในค่ามาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรก่อนการส่งออกไปในต่างประเทศและการบริโภคในประเทศนั้น ค่ามาตรฐานทุเรียนสายพันธุ์หลักเพื่อการส่งออก มีอยู่ 4 สายพันธุ์ได้แก่ กระดุม 27% พวงมณี 30% ชะนี 30% หมอนทอง 32% เป็นต้น โดยเฉพาะการปฏิบัติตาม GMP Plus (มาตรการ GMP + COVID-19) การปฏิบัติในโรงคัดบรรจุที่ดีตามมาตรฐาน GMP และตามมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อให้เป็นมาตรฐานการบริการและผลิตผลทางการเกษตรของประเทศไทย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าว