ทูตเกษตร ชี้โอกาสทอง “ส้มโอทองดี” บุกตลาดสหรัฐ

เกษตรฯติวเข้มผู้ประกอบการส้มโอก่อนป้อนตลาดสหรัฐ หลังเงื่อนไขส่งออกผ่านการฉายรังสีเข้มงวด ทูตเกษตรลอสแองเจลิส ชี้สายพันธุ์ที่ไทยน่าจะมีศักยภาพ “ส้มโอทองดี” สามพราน พันธุ์ขาวน้ำผึ้งจากราชบุรีเพชรบุรี

วันที่ 16 มีนาคม 2565 นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวในการสัมมนา การเข้าร่วมโครงการ Preclearance (โครงการความร่วมมือฉายรังสี) เพื่อส่งออกผลไม้ไปยังสหรัฐอเมริกา ว่า สืบเนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้นำเข้าส้มโอผลสดจากประเทศไทย ภายใต้เงื่อนไขการส่งออกส้มโอผลสดไปสหรัฐอเมริกานั้นผลผลิตต้องมาจากแหล่งผลิตที่ได้รับการรับรอง GAP โรงคัดบรรจุได้รับการรรับรองตามมาตรฐาน GMP

ก่อนการส่งออกโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตรวจสอบผลไม้ฉายรังสีก่อนการส่งออกกับกรมวิชาการเกษตรซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจผู้ประกอบการ เกษตรกรที่สนใจมุ่งเน้นเพื่อการส่งออก

โดยผลผลิตส้มโอที่จะส่งออกต้องผ่านการฉายรังสีที่ 400 เกรย์เพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้ซึ่งสามารถทำได้ทั้งก่อนส่งออกหรือที่จุดนำเข้าในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยหากฉายรังสีที่จุดนำเข้าไม่ต้องใช้ใบรับรองสุขอนามัยพืช แต่ต้องผ่านการตรวจสอบทุกลอตที่นำเข้า ซึ่งการอนุญาตให้นำเข้าส้มโอจากไทยต้องเป็นการส่งออกเพื่อการค้าเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายตลาดผลไม้ขณะนี้การเเข่งขันสูงขึ้นมีทั้งเวียดนาม ที่สามารถเข้าไปตีตลาดสหรัฐได้ในหลายสินค้าเกษตรยังมีความท้าทายใหม่ด้านต้นทุน กรมวิชาการเกษตรจะพยายามเจรจาเพื่อลดข้อจำกัดเงื่อนไขเพิ่มเติมพร้อมหาตลาดใหม่ๆตามนโยบายตลาดนำผลิตให้มากขึ้นด้วย

นายสมโภชน์ วัลยะเสวี บริษัท Agri Active Co.,Ltd กล่าวว่า บริษัทได้รับบทบาทหน้าที่ในการเป็น Cooperater (ผู้ประสานงาน) โครงการนี้เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ โดยจะทำหน้าที่ประสานรวบรวมผู้ส่งออกเพื่อดูสินค้าลดความเสี่ยงการตีกลับและรวบรวมสินค้าเพื่อขนส่งไปยังสหรัฐให้คุ้มค่ามากที่สุด และเพื่อป้องกันการถูกยกเลิกปลายทางจากเดิมที่เคยมีปัญหาเยอะมากโดยเฉพาะปัญหาบรรจุภัณฑ์ กล่องเสียหายถึง 30% เพราะใช้เวลาและระยะทางไกล

ดังนั้นกรณีของส้มโอบริษัทจะต้องรวบรวมข้อมูลผู้ประกอบการให้ทันก่อนเมษายนที่จะถึงนี้ก่อนที่จะรับออร์เดอร์จากผู้นำเข้าจากสหรัฐ อย่างไรก็ดี ยอมรับว่า โจทย์สำคัญของการส่งออกไปยังสหรัฐคือค่าระวาง (Freight) ยังคงสูงมากต่อเนื่องส่งผลต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

Ms.Erica R. grover,USDA-APHIS, USA กล่าวว่า หน่วยงานจะคอยทำหน้าที่ตรวจสอบและประสานความร่วมมือกับภาครัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ จากที่ปีที่แล้วไทยสามารถเจรจาเปิดตลาดส้มโอเมื่อปลายปีให้สำเร็จลุล่วง

นางสาวไปรยา เศวตจินดา ฝ่ายเกษตร ประจำกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแองเจลิส กล่าวว่า ตลาดสหรัฐยังมีช่องว่างให้ไทยสามารถนำสินค้าเข้ามาตีตลาดผลไม้เขตร้อน โดยเฉพาะส้มโออีกมาก แม้ต้องผ่านการฉายรังสีซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง แต่สายพันธุ์ที่น่าจะมีศักยภาพ คือ “ส้มโอทองดี” จากสามพรานและพันธุ์ขาวน้ำผึ้งจากราชบุรีและเพชรบุรี

แต่การเข้ามาตีตลาดสหรัฐควรจะหาจังหวะให้ดี ซึ่งควรเป็นช่วงมกราคม-กุมภาพันธ์ เพื่อจะนำมาจำหน่ายช่วงตรุษจีน และช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์กันยายน-ตุลาคม เพราะหากเป็นช่วงเวลาอื่นจะเจอคู่เเข่งส้มโอที่ปลูกในสหรัฐอเมริกา 2 รัฐ คือฟลอริดาและแคลิฟอร์เนีย และจีนที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการควรศึกษาอัตราภาษีการนำเข้าโดยจะอยู่ที่ 1.9 เซ็นต์ต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ ในช่วงการระบาดโควิด -19 พบว่า ชาวสหรัฐต้องการบริโภคผลไม้สดเพื่อสุขภาพมากขึ้น และการขยายตัวของชาวเอเชีย ที่มีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจะยิ่งส่งผลดีต่อโอกาสของไทย เพราะด้วยข้อจำกัดการปลูกผลไม้เมืองร้อนของสหรัฐทำได้เพียงบางมลรัฐ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากเม็กซิโก เป็นหลัก แต่หากย้อนดูแนวโน้มจะพบว่า มะม่วง มังคุด ทุเรียน จากไทยและเอเชียมีแนวโน้มนำเข้าต่อเนื่อง

ซึ่งต้องกำจัดโรคและแมลงรวมถึงฉายรังสี และน่าสนใจว่าผลไม้สดที่ได้รับความนิยมและครองตลาดสหรัฐมานานกว่า 10 ปี ร้อยละ 98 คือ มะขามหวานสดไทย นับว่าครองตลาดอันดับ 1 ในสหรัฐ รวมไปถึงเเนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นมีทั้งทุเรียน มะม่วง มังคุด มะพร้าวสด ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ แม้จะเจอคู่แข่งเม็กซิโก เวียดนาม แต่ผลไม้สดไทยมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ คุณภาพดี เป็นที่รู้จัก และผลไม้เขตร้อนไทยสามารถผลิตนอกฤดูและหลายภูมิภาคในไทย ล้วนเป็นข้อได้เปรียบ

อย่างไรก็ดีจากสถานการณ์ รัสเซีย ยูเครน น้ำมันที่แพง แน่นอนว่าอาจจะส่งผลต่อการส่งออกไปยังสหรัฐ ผู้ประกอบการไทยและคู่ค้าสหรัฐได้รับผลกระทบต่อค่าขนส่งมายังสหรัฐฯในขณะนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยสามารถส่งออกผลไม้สดไปยังสหรัฐ ได้ 7 ชนิด ได้แก่ มะม่วง มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ เงาะ สับปะรด และแก้วมังกร รวมทั้งล่าสุดที่ได้เจรจาสำเร็จ คือ ส้มโอ ซึ่งต้องรอการพิจารณาออกใบอนุญาตก่อนที่จะถึงฤดูกาลผลิตส้มโอเดือนสิงหาคม 2565 นี้ จะสามารถส่งออกส้มโอลอตแรกจากประเทศไทยไปจำหน่ายที่สหรัฐอเมริกาได้


โดยการส่งออกส้มโอจะต้องดำเนินการภายใต้โครงการผลไม้ฉายรังสี ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากข้อตกลง (Preclearance Program) ระหว่างกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับ Animal and Plant Health Inspection Service (APHIS) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลด้านสุขอนามัยสัตว์และพืช ภายใต้กระทรวงเกษตรสหรัฐ (United States Department of Agriculture: USDA)