ราคาถ่านหินพุ่ง ! ไม่สะเทือน BPP

โรงไฟฟ้า BPP ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาถ่านหินพุ่ง เตรียมทุ่มงบลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี’65 เดินหน้าขยายกำลังการผลิตสู่ 5,000 MW ใน 3 ปี หลังผลประกอบการปี 64 กวาดรายได้ 6,784 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,127 ล้าน

วันที่ 16 มีนาคม 2565 นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาถ่านหินในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นความท้าทายในปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าแฟลกชิปของ BPP

ทั้งโรงไฟฟ้า BLCP ที่มาบตาพุด เป็นโรงไฟฟ้าที่มีการทำสัญญาซื้อขายถ่านหินล่วงหน้าเป็นระยะเวลายาวนาน และโรงไฟฟ้าหงสา ( HPC ) มีเหมืองถ่านหินผลิตเอง ที่มีต้นทุนต่ำกว่าในตลาดโลก จึงทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากราคาในตลาดโลก

ขณะที่โรงไฟฟ้าในประเทศจีน CHP 3 แห่ง ที่ Zouping,Zhengding และ Luannan ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ จากราคาถ่านหินนั้นสามารถที่จะรับมือได้โดยการปรับขึ้นราคาขายไฟฟ้าและไอน้ำ ส่งผ่านต้นทุนไปที่ราคาไอน้ำซึ่งทำให้ทั้ง 3 โรงยังสามารถส่งกำไรกลับมาได้

นายกิรณ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจ BPP ปี 2021 บริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าได้รวม 3,242 เมกะวัตต์ แม้ว่าสถานการณ์โควิดดีขึ้นต้นปีและต้องมาเผชิญกับเดลต้า และโอมิครอนปลายปี ต่อเนื่องด้วยสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนในต้นปีนี้

แต่บริษัทสามารถที่จะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าแฟลกชิป ทั้งในส่วนของ โรงไฟฟ้าหงสา (HPC) โรงไฟฟ้าBLCP ที่มาบตาพุด โรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง ( SLG ) ที่จีน การซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) โรงไฟฟ้า NAKOSO ญี่ปุ่น และ โรงไฟฟ้า TEMPLE 1 สหรัฐ เมื่อพ.ย.2564 และการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าพลังงานเวียนเพิ่มมาอีก เกือบ 100 เมกะวัตต์ต่อเนื่อง

ทั้งนี้ BPP มีรายได้ 6,784 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 5,505 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการขายไอน้ำ ที่โครงการ CHP ในจีน 3,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% การขายไฟฟ้าโครงการ CHP ในจีน 2,147 ล้านบาท ลดลง 16% และการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า Temple 1 ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2021 อีก 673 ล้านบาท

ส่งผลให้ภาพรวมบริษัทมีกำไรก่อนหักภาษี และค่าเสื่อม ( EBITDA )ที่ 3,487 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 3,127 ล้านบาท และมีสินทรัพย์ 72,232 ล้านบาท มีเงินสด Cash equivalent อีก 2,635 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับต่ำ 0.28

ส่วนในปี 2565 บริษัทมีแผนที่จะลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ที่ใช้พลังงานความร้อนร่วม(Termal) 300 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุนในธุรกิจการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ถึง 400 เมกะวัตต์

ไฮไลต์สำคัญในช่วงไตรมาส 1 นี้ เรามีแผน มีโรงไฟฟ้าเข้าสู่ระบบหลายแห่งเช่นการผลิตไฟฟ้าโซลาร์ในเวียดนาม 2 แห่ง การขายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ชิรางาวะ ที่ญี่ปุ่นอีกหนึ่งแห่ง ขยายการลงทุนไปในเทคโนโลยีด้านพลังงาน ใน Solar ESCO ที่เวียดนาม 1 โครงการ

“ในปี 2565 บริษัทมั่นใจมีรายได้เติบโตขึ้นอย่างมีนัยจากปี2564ที่มีรายได้รวม 6,784ล้านบาทเนื่องจากปีนี้บริษัทรับรู้รายได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้า Temple I ที่สหรัฐอเมริกาและโรงไฟฟ้านาโกโซ ประเทศญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในออสเตรเลีย รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา ระยะที่ 1 ในเวียดนาม ที่เพิ่งจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/2565 และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เวียดนาม”

นายกิรณ กล่าวว่า ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และการยึดมั่นในหลัก ESG ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,300เมกะวัตต์ ในปี 2568 แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่พลังงานความร้อนร่วม 4,500 เมกะวัตต์ ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (High Efficiency, Low Emissions: HELE) และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ซึ่งจะผ่านพอร์ตโฟลิโอของบ้านปูเน็กซ์ 50%