“ประวิตร” ลั่น ปีนี้ไม่ห่วงแล้งตะวันออก

“ประวิตร” ติดตามบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก ลั่นปีนี้ไม่ห่วงแล้ง สั่ง สทนช.-กรมชลประทาน บูรณาการแผนป้องกันน้ำเค็มรุกแม่น้ำบางปะกงระยะยาว เพิ่มแหล่งสำรองน้ำไม่ให้ขาดแคลน

วันที่ 17 มีนาคม 2565 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลักของประเทศ

รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มักประสบภาวะฝนทิ้งช่วงและแหล่งเก็บกักน้ำไม่เพียงพอ การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อติดตามภาพรวมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออก

ซึ่งพบว่า ปริมาณน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้ไม่น่าห่วง โดยภาพรวมของปริมาณฝนปีนี้มากกว่าปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การในพื้นที่ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก ลุ่มน้ำโตนเลสาบ และลุ่มน้ำบางปะกง รวมกันอยู่ที่ 1,618 ล้าน ลบ.ม. หรือ 55%

โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 6 แห่ง เหลือปริมาณน้ำใช้การ 701 ล้าน ลบ.ม. หรือ 47% ขณะที่ จ.ฉะเชิงเทราและ จ.ปราจีนบุรี ประสบปัญหาน้ำเค็มรุกตัวที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รัฐบาลได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขให้เป็นระบบในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นทุกปี

โดยมอบให้ สทนช.บูรณาการขับเคลื่อนแผนหลักการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว มอบให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงให้เต็มประสิทธิภาพ

โดยใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงเป็นกลไกหลัก มอบให้ กปภ.วางแผนการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคพร้อมจัดหาแหล่งน้ำสำรองไว้ล่วงหน้าให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ และมอบให้ จ.ฉะเชิงเทรา เร่งพิจารณาเสนอแผนงาน/โครงการแก้ไขปัญหาด้านน้ำที่สำคัญให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำบางปะกงปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การอยู่ที่ 699 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44% โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง คือ อ่างขุนด่านปราการชล อ่างคลองสียัด และอ่างนฤบดินทรจินดา มีปริมาณน้ำใช้การรวม 313 ล้าน ลบ.ม. ส่วนแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีปริมาณน้ำใช้การรวม 128 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งมากกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 30%

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงว่า สทนช.ได้วิเคราะห์กลั่นกรองแผนงาน/โครงการสำคัญของหน่วยงานต่าง ๆ ที่สามารถดำเนินการได้ในปี66-67 รวม 27 โครงการ หากหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการได้ตามแผน จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บ 792 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 1,522,883 ไร่ และประชาชนได้รับประโยชน์ 371,133 ครัวเรือน เช่น

การปรับปรุงประสิทธิภาพแผนการผลิตน้ำ กปภ.สาขาบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา, การอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำหนองแขนนาง จ.ปราจีนบุรี ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 4.12 ล้าน ลบ.ม., โครงการระบบสูบกลับอ่างคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 6 ล้าน ลบ.ม., ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี พื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,231 ไร่, การก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนท่าช้าง จ.นครนายก พื้นที่ได้รับประโยชน์ 2,713 ไร่ และการก่อสร้างอ่างบ้านหนองกระทิง จ.ฉะเชิงเทรา ความจุ 15 ล้าน ลบ.ม. เป็นต้น

ส่วนการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีกลุ่มโครงการที่ต้องขับเคลื่อน 17 โครงการ ปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 556.80 ล้าน ลบ.ม. เช่น

การก่อสร้างอ่างคลองวังโตนด จ.จันทบุรี, โครงการเครือข่ายอ่างประแสร์-อ่างหนองค้อ-อ่างบางพระ จ.ชลบุรี, การปรับปรุงขยาย กปภ. พัทยา-แหลมฉบัง-ศรีราชา จ.ชลบุรี, การก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำอ่างฯคลองพระสะทึง-อ่างคลองสียัด จ.ฉะเชิงเทรา, การก่อสร้างอ่างคลองกะพง จ.ฉะเชิงเทรา และการก่อสร้างระบบสูบกลับอ่างคลองหลวงรัชโลธร จ.ชลบุรี เป็นต้น

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำบางปะกง มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 340 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ของความจุอ่างรวมกัน มีน้ำใช้การได้ 286 ล้าน ลบ.ม.

กรมชลประทานได้วางแผนการจัดสรรน้ำและเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง 2564/2565 (1 พ.ย. 64 – 30 เม.ย. 65 ) จากแหล่งน้ำธรรมชาติ 692 ล้าน ลบ.ม. ด้วยการเปิดรับน้ำเข้าประตูระบายน้ำ และการสูบน้ำด้วยสถานีสูบน้ำ รวมกับจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำรวม 790 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 641 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 81 ของแผน มีปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝน (พ.ค. – ก.ค. 65) 356 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีอ่างเก็บน้ำต้นทุน ได้แก่ คลองสียัด คลองระบม ลาดกระทิง และอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กอีก 2 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 102 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 24 ของความจุอ่างรวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 99 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 219 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 98 ของแผนมีปริมาณน้ำสำรองต้นฤดูฝน (พ.ค. – ก.ค. 65) 95 ล้าน ลบ.ม.

ด้านมาตรการควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำบางปะกง กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตามมาตราการควบคุมความเค็มที่ได้กำหนดไว้อย่างต่อเนื่อง อาทิ

การกำหนดจุดตรวจวัด ระยะเวลา และปริมาณน้ำที่จะระบายจากอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำ เพื่อควบคุมความเค็มไม่ให้เกินมาตรฐาน ทำให้ปัจจุบันค่าความเค็มที่สถานีตรวจวัดค่าความเค็มทั้ง 5 จุด ได้แก่ เขื่อนบางปะกง สถานีวัดบางขนาก สถานีวัดบางแตน จุดสูบการประปาส่วนภูมิภาคสาขาปราจีนบุรี และประตูระบายน้ำหาดยาง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ส่งผลต่อการเกษตรและการผลิตน้ำประปาในพื้นที่

นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว ยังใช้เขื่อนบางปะกง ควบคุมการรุกตัวของความเค็ม ด้วยการปิด-เปิดบานประตูระบายน้ำตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำทะเล สามารถป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็มเข้ามาในลำน้ำตอนบนได้ ทำให้พื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทาน ทั้งฝั่งขวา (ตะวันตก) และฝั่งซ้าย (ตะวันออก) ของแม่น้ำบางปะกง พื้นที่รวมประมาณ 700,000 ไร่ สามารถทำการเพาะปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง (นาปี 1 ครั้ง และนาปรัง 1 ครั้ง)

รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนด้านเหนือเขื่อน เพื่อการผลิตน้ำประปา ให้แก่การประปาส่วนภูมิภาค (สาขาฉะเชิงเทรา, สาขาบางปะกง, สาขาบางคล้า และสาขาปราจีนบุรี) รวมไปถึงการประปาส่วนท้องถิ่นด้วย ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร

ทั้งยังทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำที่ระบายมาจากอ่างเก็บน้ำตอนบนให้สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ปล่อยให้น้ำไหลลงทะเลอย่างเปล่าประโยชน์ด้วย

“รองนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กรมชลประทานบริหารจัดการน้ำเค็มในแม่น้ำบางปะกงให้เป็นไปตามแผน โดยใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกง ให้เต็มประสิทธิภาพ และบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกตัวที่อาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการใช้น้ำด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ให้เป็นระบบในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นทุกปี ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และส่งเสริมให้ภาคประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพื้นที่ด้วย”