จีนการ์ดสูงคุมโควิดรอบใหม่ รัฐเร่งเจรจาด่านรับฤดูทุเรียนตะวันออก

“ปลัดเกษตร-พาณิชย์” ตั้งรับโควิดถล่มจีนระลอกใหม่ ส่งออกผลไม้ไทยเดี้ยง Zero COVID เข้ม สั่งทูตเกษตรเจรจาปลดล็อกคอขวดด่านโหย่วอี้กวน พร้อมชูมาตรฐานผลไม้ไทยปลอดภัยไร้โควิด GMP Plus “กรมวิชาการฯ” ส่งเทียบเชิญ GACC ตรวจสวนทุเรียน มี.ค.นี้ พร้อมหาตลาดสำรอง

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 ได้ประชุมร่วมกับนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์

เพื่อวางมาตรการรองรับผลผลิตผลไม้ที่จะออกสู่ตลาดในสัปดาห์หน้า โดยปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตทุเรียนปริมาณ 1.5 ล้านตัน มังคุด 4 แสนตันที่ส่งไปจีนเป็นหลัก แต่ขณะนี้ตลาดส่งออกหลักจีนยังคงยึดมาตรการ Zero COVID

และยิ่งเกิดปัญหาการแพร่ระบาดโควิดในจีนระลอกใหม่โดยเฉพาะในมณฑลกว่างโจว ซึ่งเป็นเมืองใหญ่กระจายสินค้าเกษตรของไทยทำให้จีนเพิ่มมาตรการตรวจสอบทั้งคนและการขนส่งสินค้าอย่างเข้มงวด

ซึ่งมีทั้งระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่นตามความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ โดยสินค้าที่ขนส่งผ่านห่วงโซ่ความเย็น (โคเชน) เช่น ผลไม้ จะต้องผ่านการรับใบรับรอง 3 เรื่อง ได้แก่ ใบรับรองผ่านตรวจสอบกักกัน ใบรับรองผลตรวจโควิด และใบรับรองการผ่านการฆ่าเชื้อ

“กระทรวงไม่ได้นิ่งนอนใจ จะต้องดำเนินการผลักดันการส่งออกผลไม้ไปจีนให้ได้ พร้อมทั้งหาตลาดใหม่รองรับ โดยล่าสุดได้ประสานไปยังทูตเกษตร เพื่อหาแนวทางลดปัญหาการแออัดในการส่งออกสินค้าเกษตรบริเวณที่ด่านโหย่วอี้กวน

โดยจะขอเพิ่มช่องทางส่งออกจากทางบกต่อทางเรือผ่านด่านไฮฟอง เพื่อนำสินค้าเข้าที่ท่าเรือชินโจวแล้ว”

พร้อมกันนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมวิชาการเกษตร ร่วมกันหารือมาตรการและแนวทางปฏิบัติการป้องกันโรค COVID-19 เพื่อยกระดับเกษตรกร โดยกำหนดมาตรการ “2P2S” ขึ้น เพื่อใช้เป็นมาตรฐานให้ทุกสวน ภายใต้สโลแกน เริ่มต้นจากสวน มั่นใจ ปลอดภัยจากโควิดติดไปกับผลผลิตเข้มข้น ก่อนเก็บเกี่ยว 14 วัน

สำหรับ 2P2S ประกอบด้วย protect จุดวัดอุณหภูมิ จุดล้างมือ จุดล้างเท้า จุด spray alcohol รถที่เข้าออกสวนผลไม้ การจัดการแรงงานการจัดการคนนอกเข้าสวน การใช้ของร่วมกัน และ practice ในแนวทางปฏิบัติ 5 แนวทาง คือ การฉีดวัคซีน การสวมแมสก์การตรวจ ATK การล้างมือ และการฆ่าเชื้อเครื่องมือ

ส่วน 2S หมายถึง social distancing การเว้นระยะทางสังคม 1-2 เมตร และ standard ปฏิบัติภายใต้มาตรฐานเดียวกัน โดยแบ่งแนวทาง มาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ทั้งในระดับโรงคัดบรรจุ และระดับสวนเกษตร จัดหลักสูตรอบรมผู้ควบคุมคุณภาพผลผลิตประจำโรงคัดบรรจุ อบรมผู้ประกอบการเจ้าหน้าที่ พนักงานปฏิบัติหน้าที่ในโรงคัด การตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วย ATK

พร้อมทั้งจัดทำคู่มือและคลิปวิดีโอการบริหารจัดการโรงคัดบรรจุถูกต้องตามมาตรฐาน GMP และมาตรการป้องกันโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุ เพิ่ม GAP-Plus และ GMP/Plus โดยบวกเพิ่มมาตรการควบคุมป้องกัน COVID ระดับสวนเกษตรกร

อาทิ มีจุดตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย จุดล้างมือพร้อมน้ำยาล้างมือหรือเจล สเปรย์แอลกอฮอล์ อย่างละ 1 จุด มีแนวกั้นอาณาเขตสวน เข้าออกทางเดียวและต้องผ่านการคัดกรอง มีการฉีดวัคซีนผู้เกี่ยวข้องอย่างน้อย 2 เข็ม การตรวจ ATK ทุก 7 วัน เป็นต้น

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” เพิ่มเติมว่า การส่งออกผลไม้ไทยไปยังประเทศจีน ผ่านทางด่านโหย่วอี้กวน ผิงเสียง ตงซิง และโมฮาน มีการตรวจสอบตามนโยบาย Zero COVID ของจีนอย่างเข้มงวดในสินค้านำเข้าจากทุกประเทศ ทำให้การจราจรติดขัด

โดยปัจจัยหลักมาจากการระบาดรอบใหม่โดยเฉพาะเมืองใหญ่อย่างเสิ่นเจิ้น กว่างโจวโดยกระทรวงเกษตรฯได้บูรณาการทำงานกับหน่วยงานราชการไทย และหารือฝ่ายจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การขนส่งสินค้าไทยคล่องตัวไม่เกิดความเสียหาย โดยกรมวิชาการเกษตรขอความร่วมมือเกษตรกร

และผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานการส่งออก ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขคู่ค้าอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการปฏิบัติยึดหลัก GMP Plus (มาตรการ GMP+COVID-19) การปฏิบัติในโรงคัดบรรจุที่ดีตามมาตรฐาน GMP และตามมาตรการการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19

“ขณะนี้อยู่ระหว่างประสานศุลกากรกลางสาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Custors of the People’s Republic of China หรือ GACC) ลงพื้นที่ตรวจสินค้าและให้คำแนะนำผู้ประกอบการไทยโดยตรงจากเกษตรกรตามข้อสั่งการ นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าภายในปลายเดือนมีนาคมนี้”

“ส่วนข้อเสนอที่ภาคเอกชนกังวลว่าอาจไม่สามารถส่งออกได้ทัน เสนอให้ด่านมี green lane สำหรับผลไม้ไทยเป็นการเฉพาะนั้น หลังจากได้มีการปรับการขนส่งบนเส้นทางรถไฟจีน-ลาว โดยมีการปิดตู้ที่ประเทศลาว และส่งไปคุนหมิงโดยไม่ต้องแวะตรวจที่ด่านโมฮาน

เพื่อให้สามารถส่งทุเรียนและผลไม้ได้ตั้งแต่เดือนมีนาคมนั้น กรมได้ประสานงานไปยังหน่วยงานเกี่ยวข้องใน 3 ประเทศ จีน ลาว และเวียดนาม เพื่อตกลงทำ protocol ในการเปิด-ปิดด่านชายแดนต่าง ๆ ก่อน

เพราะการเปิดช่องทางต้องขอผ่านทางไปยังลาวและเวียดนาม ทำได้ยากและใช้เวลา นอกจากนี้ยังมีดำเนินการหาตลาดส่งออกสำรองไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มพร้อมทั้งส่งเสริมกระตุ้นการบริโภคในประเทศด้วย”