วอนชาวนาอย่าทำนาปรังรอบ 3 ขอสำรองน้ำรับแล้ง

กรมชลประทานวอนงดทำนารอบ 3 แม้ภาพรวมน้ำปีนี้มากกว่าปีก่อน ต้องสำรองน้ำ15,577ล้านลบ.ม.ช่วงรอฤดูฝนส่วนลุ่มเจ้าพระยาน้ำยังมีจำกัด

วันที่ 18 มีนาคม 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ผลการปลูกพืชฤดูแล้งทั่วประเทศ 2 มี.ค. 2565 มีการทำนารอบ 2 หรือนาปรังรอบที่ 1 จำนวน 7.40 ล้านไร่ สูงกว่าแผน 15.33% จากแผนการเพาะปลูก 6.41 ล้านไร่ ลุ่มเจ้าพระยา ทำนา 4.39 ล้านไร่ เกินแผน 56%

จากแผนที่กำหนด 2.81 ล้านไร่ ภาคเหนือทำนา 0.75 ล้านไร่ เกินแผน 64.88% จากแผนที่กำหนดไว้ 0.45 ล้านไร่ ภาคตะวันออก ทำนา 0.51 ล้านไร่ เกินแผน 4.33% จากแผนที่กำหนดไว้ 0.49 ล้านไร่

ภาคอีสาน ทำนา 1.23 ล้านไร่ หรือ 89.07% ของแผนที่ 1.38 ล้านไร่ ภาคกลางทำนาตามแผนคือ 0.02 ล้านไร่ และภาคตะวันตกทำนา 0.51 ล้านไร่ หรือ 48.62% ของแผนที่ 1.04 ล้านไร่ แม้ภาพรวมของการปลูกข้าวนาปรังสูงกว่าแผนที่วางไว้

และขณะที่เริ่มมีการเก็บเกี่ยวแล้วจำนวน 0.51 ล้านไร่ ข้าวของชาวนาได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำไม่มากนัก เพราะชาวนามีการใช้น้ำค้างทุ่ง และน้ำในแหล่งน้ำต้นทุนของตนเองเพื่อทำการเกษตร ทำนา

ขณะเดียวกันปริมาณน้ำต้นทุนยังมีเพียงพอที่จะใช้ในทุกกิจกรรมการใช้น้ำช่วงต้นฤดูฝนด้วยเช่นกันทำภาครัฐยังคงต้องขอความร่วมมือเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว ควรงดการทำนารอบที่ 3 เพราะมีความเสี่ยงสูงที่ผลผลิตจะได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำได้

โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยา ปริมาณน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีการจัดสรรน้ำมากกว่าแผนสะสมอยู่ 427 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ 35 แห่งทั่วประเทศ ณ วันที่ 6 มี.ค.2565 มีปริมาณน้ำในเขื่อน 47,349 ล้านลบ.ม. หรือ 67% ของความจุอ่าง ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 9,505 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 23,807 ล้านลบ.ม. หรือ 50% ของความจุอ่าง ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 9,506 ล้านลบ.ม.ในจำนวนนี้ มีการสำรองน้ำ 3 เดือนเผื่อรองรับฝนทิ้งช่วง หรือ จนกว่าฝนใหม่จะมา เป็นการบริหารความเสี่ยงที่ในช่วงฤดูแล้งก่อนฝนใหม่จะมาจำนวน 15,577 ล้านลบ.ม.

แม้ว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ภาพรวมทั้งประเทศจะดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาก็ยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำ เพื่อจะสงวนน้ำต้นทุน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบได้ตลอดแล้งนี้ ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ให้มีน้ำเพียงพอที่จะใช้ในทุกกิจกรรมการ ได้แก่ เพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง

สำรองน้ำสำหรับใช้ในช่วงต้นฤดูฝน เพื่อทำการเกษตร และ อุตสาหกรรม

สำหรับ 4 เขื่อนหลัก ณ วันที่ 7 มี.ค.2565 มีปริมาณน้ำทั้งหมด 11,905 ล้านลบ.ม. หรือ 48% ของความจุอ่าง น้ำใช้การได้ 5,209 ล้านลบ.ม. หรือ 29% ของความจุอ่าง โดย เขื่อนภูมิพล มีน้ำใช้การได้ 2,854 ล้านลบ.ม.หรือ 30% ของความจุอ่าง เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำใช้การได้ 1,223 ล้านลบ.ม.หรือ 18% ของความจุอ่าง

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีน้ำใช้การได้ 577 ล้านลบ.ม.หรือ 64% ของความจุอ่าง และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำใช้การได้ 556 ล้านลบ.ม.หรือ 50% ของความจุอ่าง

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้เตรียมวางแผนรับฤดูฝนปี 2565 โดยปรับปฏิทินการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ 11 ทุ่ง เพื่อให้เกษตรกรเพาะะปลูกได้ก่อน และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทันก่อนน้ำหลาก ดังนี้


ทุ่งบางระกำ เริ่มส่งน้ำ 15 มี.ค.2565 เก็บเกี่ยวได้ภายใน ก.ค.2565 ทุ่งเจ้าพระยาตอนล่าง 10 ทุ่ง เริ่มส่งน้ำ 15 เม.ย.2565 เก็บเกี่ยวได้ภายใน 15 ก.ย.2565 รวมพื้นที่ทำนาประมาณ 1.2 ล้านไร่