วันน้ำโลกผนึก 5 หน่วยงาน บริหารทรัพยากรแก้ปัญหาขาดแคลน

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ

“ประวิตร” ประธานพิธีลงนามเอ็มโอยู 5 หน่วยงาน หวังขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องในวันน้ำโลก ชี้ปีนึ้เน้นแก้ไขน้ำใต้ดิน ลดรุกล้ำน้ำเค็ม บรรเทาอุทกภัย แก้ขาดแคลนน้ำจืด สอดรับแนวคิด UN

วันที่ 22 มีนาคม 2565 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวฐานะประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ปี 2565 ว่า การลงนามครั้งนี้ประกอบด้วย 5 หน่วยงาน ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กระทรวงยุติธรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.)

เพื่อร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการจัดกิจกรรมเนื่องในวันน้ำโลกประจำปี 2565 มุ่งเน้นในการสื่อสารองค์ความรู้ และการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงการสร้างความร่วมมือและพัฒนาแนวคิดของเยาวชน และองค์การสหประชาชาติ (UN) ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day”

โดยเฉพาะเรื่องน้ำใต้ดิน ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่องค์การสหประชาชาติ ให้ความสำคัญ เป็นการยกระดับความเข้มข้นของการดำเนินงานที่จะช่วยส่งเสริมให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยเกิดผลสัมฤทธิ์ตามแผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จากการร่วมลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังในครั้งนี้

ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มุ่งเน้นความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศ โดยให้หน่วยงานทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น มีส่วนร่วมดูแลการจัดการน้ำและจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสม ทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และบริการ และให้สอดรับกับการพัฒนาและการเจริญเติบโตของประเทศ เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความมั่นคงและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน

“เจตนารมณ์ของรัฐบาลไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้เนื่องในวันน้ำโลกปีนี้ว่า ประเทศไทยจะดำเนินการบริหารจัดการน้ำใต้ดินอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการ ตั้งแต่การฟื้นฟูป่ารักษาความชุ่มชื้นให้แก่ระบบนิเวศ การเติมน้ำใต้ดินผ่านแหล่งน้ำต่าง ๆ และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ลดการรุกล้ำของน้ำเค็ม บรรเทาอุทกภัย และการใช้ประโยชน์ในช่วงวิกฤตภัยแล้ง พร้อมไปกับการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักและร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ด้วยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ลดการปนเปื้อนของแหล่งน้ำและน้ำใต้ดิน เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบาย “ทศวรรษแห่งการร่วมมือปฏิบัติของทุกประเทศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติด้านน้ำ และเพื่อประโยชน์สูงสุด คือการรักษาทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน”

ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ สทนช.ลงนามร่วมกับ 4 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ความร่วมมือในการส่งเสริมองค์ความรู้ เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบในเรือนจำและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กับกระทรวงยุติธรรม

2) ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาและประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ กับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และอีก 2 ฉบับ เป็นความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กับ 2 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

“นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในบูรณาการขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนน้ำ ซึ่งทั้ง 5 หน่วยงาน จะร่วมกันยกระดับการทำงานด้านการจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการนำองค์ความรู้ทั้งการพัฒนาและประยุกต์ใช้ข้อมูลและสารสนเทศภูมิศาสตร์ การประเมินผลด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงต่อไป”

ทั้งนี้ น้ำคือความต้องการขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด แต่จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ที่ส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ทั่วโลกต้องประสบกับภาวะการขาดแคลนน้ำที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง  ดังนั้น องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก” หรือ “World Water Day” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญของน้ำ

อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องของการอนุรักษ์น้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำ เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงน้ำในอนาคต และเนื่องในโอกาส “วันน้ำโลก” ประจำปีนี้ ทางองค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อ “Groundwater–Making the invisible visible.” หรือสื่อสารภาษาไทยว่า “ร่วมรู้จัก อนุรักษ์ น้ำใต้ดิน” เพื่อเน้นย้ำให้ทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาดูแลทรัพยากรน้ำใต้ดินมากยิ่งขึ้น

โดยสำหรับประเทศไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำ ที่ใช้ทั้งในด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการบริการ ที่ต้องมีการบริหารจัดการให้สอดรับกับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ไปพร้อมกัน เพื่อป้องกันและบรรเทาวิกฤตการขาดแคลนน้ำ โดยในปี พ.ศ. 2565 นี้ รัฐบาลขอเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงการอนุรักษ์น้ำ

โดยการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า และร่วมกันลดการปนเปื้อนของน้ำใต้ดิน ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นของ “วันน้ำโลก” อันจะนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน พร้อมปลูกจิตสำนึกให้ร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์ต่อไป