สวก.ดึงงานวิจัยลงจากหิ้ง จับ28บริษัทร่วมทุนทำตลาด

สวก.ผุดแผนวิจัยจากหิ้งสู่ห้าง นำนวัตกรรมสู่การลงทุนทางธุรกิจ ตั้งเป้า 6 เดือน ดัน Business Matching 28 บริษัท ดึงเม็ดเงิน 3 พันล้าน พร้อมสนับสนุนเอสเอ็มอีสู่ฟู้ดอินโนโพลิสเมืองนวัตกรรมอาหาร

นางพรรณพิมล ชัญญานุวัตร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สวก.อยู่ระหว่างหารือแผนการผลักดันงานวิจัยสู่การลงทุนทางธุรกิจ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินงานกรอบระยะเวลา 5 ปี โดยมีนางสาวชุติมา บุญยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อมุ่งเน้นนำนวัตกรรมผลงานวิจัยสู่การลงทุนในธุรกิจ สร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากวัตถุดิบ GAP/Organic พร้อมทั้งปรับโครงสร้างภาคเกษตรไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-Based Economy) สู่การยกระดับภาคการเกษตรรองรับระบบสุขภาพประชาชนอย่างยั่งยืน

 

สำหรับแผนการดำเนินงานระยะสั้น 6 เดือน จะเน้นงานวิจัยกลุ่มเวชสำอาง 4 โครงการ คือ 1.สารสกัดการเพาะเลี้ยงจมูกข้าว 2.สารออกฤทธิ์จากข้าวสี 3.สารออกฤทธิ์จากรวงข้าวประโยชน์ทางเครื่องสำอาง 4.Hair Product จากข้าวสังข์หยด 2.กลุ่มอาหารเสริม 2 โครงการ คือ 1.น้ำมันรำข้าว ริซสเตอรอลส์ วีพีโอ 2.น้ำส้มสายชูเสริมสุขภาพพร้อมดื่ม และ 3.สมุนไพร 3 โครงการ คือ 1.ตำรับยา “สหัศธารา” 2.ยาหอมเบอร์ 20 3.ตำรับยา 5 ราก และอาหารเพื่อสุขภาพ อีก 1 โครงการ ทั้งนี้แผน 6 เดือน จะเน้นผลงานวิจัยที่ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และมีการถ่ายทอดผลงานสู่ผู้ประกอบการแล้ว โดยตั้งเป้าดึงเม็ดเงินลงทุนร่วมภาคเอกชนกว่า 3 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน สวก.ยังได้สนับสนุนเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมโครงการฟู้ดอินโนโพลิส เมืองนวัตกรรมอาหาร โดยมีทีมวิจัยและคณะทำงานเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการด้านอาหาร สนับสนุนทุนวิจัยสำหรับผู้ประกอบการ โดยความร่วมมือผลักดันเมืองนวัตกรรมอาหารร่วมระหว่าง 3 หน่วยงาน โดยตั้งเป้าจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคเอกชนลอตแรก 30 ราย และได้ไม่ต่ำกว่า 100 ราย ในระยะเวลา 5 ปี

“ปีนี้ สวก.จะเน้นขับเคลื่อนใน 2 โครงการวิจัยด้านอาหาร งบประมาณ 60 ล้านบาท มีเอกชนเข้าร่วม Business Matching แล้วกว่า 28 บริษัท ปีนี้ตั้งเป้า 50 บริษัท โดยจะเน้นมาตรฐานและการมีส่วนร่วมกับชุมชนตลอดจนยกระดับเอสเอ็มอี (SMEs) สอดคล้องนโยบายรัฐบาล รวมถึง สวก.ยังต่อยอดงานวิจัย โดยกำหนดยุทธศาสตร์ระยะสั้น-ยาว โดยระยะสั้น 6 เดือนเป็นการผลักดันงานวิจัยกลุ่มข้าว พัฒนางานวิจัยสู่สินค้าขึ้นทะเบียนสิทธิบัตร ส่วนระยะกลางผลักดันให้ขึ้นทะเบียนองค์การอาหารและยา (อย.) และระยะยาวให้ทรัพย์สินทางปัญญาผลักดันขึ้นบัญชีนวัตกรรม โดย สวก.จะให้สิทธิประโยชน์ในการลงทุน 5 ปี และส่วนที่ได้ MOU โครงการฟู้ดอินโนโพลิสก็ได้สนับสนุนเอสเอ็มอีลอตแรก 30 รายแรกที่ได้รับการคัดเลือก งบประมาณ 30 ล้านบาท”

ทั้งนี้ ล่าสุด สวก.ยังได้สนับสนุนงบประมาณ 3 ล้านบาท ร่วมกับกรมพลาธิการทหารบกและโรงพยาบาลพระมงกุฎฯ พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานสำหรับทหาร ภายใต้ “การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารยังชีพสำหรับทหาร” โดย ผศ.ดร.เสาวคนธ์ วัฒนจันทร์ เพื่อลดการนำเข้าอาหารสำเร็จรูปสำหรับทหาร โดยพัฒนาจากอาหารตามความต้องการของกลุ่มอาหารอีสานและอาหารอิสลามที่ต้องปฏิบัติงานภาคสนามหรือนอกภูมิลำเนาในภาวะฉุกเฉินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ต่าง ๆ โดยที่ผ่านมาพบว่าอาจจะยังไม่เพียงพอ งานวิจัยนี้จะช่วยตอบโจทย์อาหารเพื่อทหาร โดยงานวิจัยนี้ใช้เทคนิคการขึ้นรูปอบแห้ง อาหารให้พลังงานและโปรตีนสูง พกพาง่าย สะดวกในการขนส่ง