“พาณิชย์” ชงสูตรเดิมนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ 3 ปี

กรมการค้าภายใน ชง ครม. เคาะมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์รอบใหม่ปี’61-63 ยึดกรอบเดิมตามปี’58-60 ตามความต้องการอาหารสัตว์เพิ่ม 4.5%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมการค้าภายใน ประชุมพิจารณาแนวทางการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ปี 2561-2563 เฉพาะในวัตถุดิบอาหารสัตว์ 3 รายการ ได้แก่ กากถั่วเหลือง ข้าวโพด ปลาป่น เบื้องต้น สมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าวต่างให้ความเห็นตรงกันว่า ผลผลิตข้าวโพด กากถั่วเหลือง ปลาป่น ในประเทศมีไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องนำเข้าและได้เสนอให้ “คงมาตรการอัตราภาษี และเงื่อนไขการนำเข้า” เช่นเดียวกับแผนเดิมปี 2558-2560 หลังจากนี้จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ สาระสำคัญของมาตรการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ใหม่จะประกอบไปด้วย 1) กากถั่วเหลือง ให้นำเข้าตามกรอบความตกลง WTO มีภาษีในโควตาอัตรา 2% และนอกโควตา 119% สำหรับใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เท่านั้น โดยมีผู้มีสิทธิ์นำเข้าจำนวน 11 ราย แต่มีเงื่อนไขให้ผู้นำเข้าต้องรับซื้อกากถั่วเหลืองที่ผลิตจากเมล็ดถั่วในประเทศทั้งหมด ส่วนการนำเข้าตามกรอบ FTA ฉบับอื่น เช่น AFTA, FTA ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-ญี่ปุ่น ภาษีในโควตา 0% นอกโควตา 119% FTA อาเซียน-เกาหลี ในโควตา 1.11% นอกโควตา 119% และประเทศที่ไม่มี FTA ภาษีนำเข้า 6% ค่าธรรมเนียมอีกตันละ 2,519 บาท จากสถิติล่าสุดในปี 2559 ไทยนำเข้ากากถั่วเหลือง 1.4-1.5 ล้านตัน จากบราซิล 57% ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด รองลงมา สหรัฐ, อาร์เจนตินา ส่วนกากถั่วเหลืองภายในประเทศมีปริมาณ 110,000-140,000 ตัน

2) สินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กำหนดให้ องค์การคลังสินค้า (อคส.) เป็นผู้นำเข้าข้าวโพดในโควตาแต่เพียงผู้เดียว อัตราภาษี WTO ในโควตา 20% นอกโควตา 73% ปริมาณ 54,700 ตัน จาก FTA ออสเตรเลีย ภาษีในโควตา 4% และนอกโควตา 65.70% ปริมาณ 9,823.33 ตัน FTA ไทย-ญี่ปุ่น FTA อาเซียน-เกาหลี, กรอบ AFTA ภาษีในโควตา 0% นอกโควตา 73% FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น ภาษีในโควตา 3.6% นอกโควตา 73% และประเทศที่ไม่มี FTA ภาษี 2.75 บาทต่อ กก. และค่าธรรมเนียมพิเศษตันละ 1,000 บาท โดยในปี 2559 ไทยนำเข้า 125,000 ตัน และช่วง 5 เดือน (มกราคม-พฤษภาคม) ปี 2560 ปริมาณ 24,000 ตัน และ 3)สินค้าปลาป่น กำหนดอัตราภาษีตามกรอบ AFTA และ FTA ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ FTA ญี่ปุ่น FTA อาเซียน-จีน และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ อัตราเป็น 0% ขณะที่ FTA อาเซียน-เกาหลีมีอัตราภาษี 5% ส่วนการนำเข้าโดยทั่วไป ถ้าเป็นปลาป่นโปรตีน 60% ขึ้นไป ภาษี 15% และโปรตีน 60% ลงมาภาษี 6% นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ได้รายงานแนวโน้มความต้องการอาหารสัตว์ปี 2561 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น 4.5% จากปี 2560 แต่การผลิตวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศ “ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ” ดังนั้นจึงต้องยังคงมาตรการนำเข้าวัตถุดิบ พร้อมทั้งกำหนดเงื่อนไขให้โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อผลผลิตภายในประเทศเช่นเดิม แต่เกษตรกรต้องมีเอกสารสิทธิในที่ดินและไม่มีการรุกป่าเท่านั้น

“ไม่มีการหารือเรื่องข้าวสาลี และ กากข้าวสาลี (DDGS) ในชุดนี้ แต่ทุกภาคส่วนควรคำนึงถึงการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าปศุสัตว์ไทยในตลาดโลก หากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงจะทำให้ไทยแข่งขันได้ยาก ทุกคนต้องมองภาพรวมไม่ใช่หวังผลกำไร”

แหล่งข่าวจากวงการค้าพืชไร่ระบุว่า กลุ่มค้าพืชไร่ได้พยายามเสนอภาครัฐทบทวน “ยกเลิกไม่ให้มีการนำเข้าข้าวสาลี” หรือหากต้องมีการนำเข้าก็เสนอให้ขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลีอัตรา 27% ตามที่ผูกพันไว้กับ WTO และเพิ่มความเข้มงวดในการดูแล DDGS มาโดยตลอด แต่รัฐบาล “ยังคง” การกำหนดสัดส่วน 3 ต่อ 1 ไว้เหมือนเดิมและยังจะขึ้นทะเบียนพ่อค้าอีก “หากประเด็นนี้ไม่ได้ข้อสรุปจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างแน่นอน”