เอกชนชี้โบนัสปี’60 หดเหลือ 2 เดือน เพราะกำลังซื้อในประเทศฝืด

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงสถานการณ์การจ่ายโบนัสปี 2560 ว่าคาดการณ์แนวโน้มการจ่ายโบนัสของภาคอุตสาหกรรมในช่วงปลายปี 2560 ในกลุ่มที่จะเติบโตคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากยอดจำหน่ายยานยนต์ในต่างประเทศเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น กลุ่มท่องเที่ยวและบริการที่มีการขยายตัวดี ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยกำลังซื้อในประเทศอาจจะไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร เพราะแม้ช่วงปลายปีกำลังซื้อจะเริ่มดีขึ้น แต่ภาพรวมอาจจะยังไม่เติบโตเท่าที่ควร และอาจจะส่งผลต่อการจ่ายโบนัสได้

นายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลสำรวจอัตราการจ่ายโบนัสในประเทศไทย ประจำปี 2560 ของบริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ว่า จากผลสำรวจฯ ดังกล่าวให้ข้อมูลว่าในปีนี้ บริษัทจ่ายโบนัสพนักงานลดลงเหลือ 2 เดือน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาที่จ่ายโบนัสพนักงานประมาณ 4.7 เดือน อย่างไรก็ตามในมุมมองของนักวิเคราะห์มองว่า ภาพของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในปีนี้ไม่แย่ หากดูในส่วนของกำไรสุทธิจะเห็นว่าโตขึ้นพอสมควร

“แน่นอนว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ดีขึ้น ย่อมสะท้อนกำไรของบริษัทจดทะเบียนด้วย โดยคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะอยู่ที่ประมาณ 9 แสนล้านบาท สอดคล้องกับทิศทางดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ระดับ 1,700 จุด ส่วนภาพในปีหน้าคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท” นายประกิตกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นในเรื่องการจ่ายเงินโบนัสทั้งจากสมาชิกของจ๊อบส์ ดีบี ผู้หางานจำนวน 2,020 ราย และผู้ประกอบการจำนวน 322 องค์กร พบว่า การจ่ายเงินโบนัสยังคงเป็นปัจจัยสำคัญของคนทำงาน โดยนโยบายการจ่ายเงินโบนัส สามารถสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานภายในองค์กรตัวเอง รวมถึงการจ่ายโบนัสถือได้ว่า เป็นเครื่องจูงใจสำคัญที่จะสร้างแรงดึงดูดความน่าสนใจให้บุคลากรมีฝีมือจากองค์กรอื่น ย้ายเข้ามาร่วมงานในอนาคต

โดยปัจจุบันการจ่ายโบนัสจะมีด้วยกันสองแบบ ได้แก่ 1. การจ่ายโบนัสแบบการันตี กล่าวคือ เมื่อถึงรอบของการจ่ายโบนัสแล้ว พนักงานภายในองค์กรทุกคนจะได้รับโบนัสอย่างชัดเจนแน่นอน และ 2. การจ่ายโบนัสโดยพิจารณาตามผลงาน ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการพิจารณาจากการทำงานตลอดทั้งปี แล้วคำนวณออกมาเป็นโบนัส อย่างไรก็ดีบางองค์กรก็มีการจ่ายโบนัสแบบไฮบริด นั่นคือ การันตีโบนัสให้แล้วบวกเพิ่มจากผลงานของพนักงาน

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากการจ่ายโบนัสทั้งสองแบบ พบว่า อุตสาหกรรมที่มีการจ่ายโบนัสสูงสุดเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยจ่ายแบบการันตีและพิจารณาตามผลงาน 2.33 เดือน และ 2.14 เดือนตามลำดับ ส่วนอันดับสองการจ่ายโบนัสแบบการันตีและพิจารณา จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งการจ่ายแบบการันตี ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จ่ายที่ 1.31 เดือน ส่วนการจ่ายโบนัสตามผลงานเป็นของธุรกิจด้านการเงิน อยู่ที่ 1.96 เดือน

โดย 5 อันดับธุรกิจที่ได้รับโบนัสแบบการันตีสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจยานยนต์ เฉลี่ยโบนัส 2.33 เดือน ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จ่ายที่ 1.31 เดือน ธุรกิจบริการด้านการเงิน เฉลี่ย 1.16 เดือน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจจัดเลี้ยง อยู่ที่ 0.89 เดือน ธุรกิจไอที จ่ายโบนัส 0.86 เดือน ขณะที่ 5 อันดับธุรกิจที่ได้รับโบนัสแบบพิจารณาตามผลงาน ธุรกิจยานยนต์ เฉลี่ยโบนัส 2.14 เดือน ธุรกิจบริการด้านการเงิน เฉลี่ย 1.96 เดือน ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จ่ายที่ 1.26 เดือน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงธุรกิจจัดเลี้ยง อยู่ที่ 1.11 เดือน ธุรกิจไอที จ่ายโบนัส 0.92 เดือน

อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของจ๊อบส์ ดีบี พบว่าการจ่ายโบนัสทั้งแบบการันตีและประเมินตามผลงานประจำปี 2560 ลดน้อยกว่าการจ่ายโบนัสเมื่อเทียบกับปี 2559 อย่างไรก็ตามในการจ่ายโบนัสแบบการันตี มีเพียงแค่ธุรกิจไอทีธุรกิจเดียวเท่านั้นที่โบนัสปี 2560 จ่ายมากกว่าปี 2559

 

ที่มา : มติชนออนไลน์