เมียนมาคิกออฟใช้บาท-จ๊าต ประเดิมด่านค้าชายแดนแม่สอด-แม่สาย

ไทย-เมียนมา ดีเดย์เปิดใช้ “เงินท้องถิ่น” ค้าขายชายแดน อำนวยความสะดวก-ลดปัญหาความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน หวังดันยอดการค้าปี’65 เติบโตกว่า 1.1 แสนล้านบาท

รายงานจากสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ระบุว่า ธนาคารกลางแห่งเมียนมาได้ออกประกาศโดยใช้อํานาจตามมาตรา 17 และ 22 ของกฎหมายการจัดการการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ อนุญาตให้มีการชําระเงินด้วยเงินสกุลเงินท้องถิ่น เงินบาท-เงินจ๊าตได้โดยตรง (Baht/Kyat Direct Payment) บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มาก และช่วยอํานวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายสินค้า และการชําระเงินระหว่างสองประเทศ ทั้งยังช่วยส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การบูรณาการทางด้านการเงินของ ASEAN

ทั้งนี้ ธนาคารที่ได้รับการแต่งตั้งได้รับอนุญาตให้สามารถเปิดบัญชีเงินบาทให้แก่ผู้นําเข้าและผู้ส่งออกสําหรับการค้าข้ามพรมแดน (Cross-border Trade) โดยจะต้องปฏิบัติตามแนวทางการใช้เงินบาท-จ๊าต ในการค้าชายแดนไทย-เมียนมา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

นายประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก และในฐานะคณะกรรมการกลุ่มค้าชายแดนและค้าข้ามแดน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งเสริมการใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการซื้อ-ขายสินค้า ระหว่างไทย-เมียนมาบริเวณชายแดน เป็นเรื่องที่ดำเนินการมาเป็นเวลานานไม่ต่ำกว่า 5 ปี กระทั่งธนาคารกลางแห่งเมียนมาได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 คาดหวังว่าจะสามารถดำเนินการใช้ได้จริงในเดือนเมษายน 2565

ประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์
ประเสริฐ จึงกิจรุ่งโรจน์

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยในรายละเอียดเกี่ยวกับระบบชำระเงิน การแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ระบบการเงินอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีการใช้จริงจะทำให้ระบบการชำระเงินเกิดความคล่องตัวมากขึ้น จากเดิมต้องแลกเป็นเงินเหรียญสหรัฐก่อนแลกเป็นเงินบาท ทั้งยังจะลดความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลดีต่อการลงทุน และช่วยในการกำหนดราคาซื้อ-ขายสินค้า จะทำได้ง่ายขึ้นเพราะสามารถระบุเป็นเงินบาท

“เอกชนไทยที่ลงทุนในเมียนมาจะนำเข้าและส่งออกสินค้า จะทำได้สะดวก โดยการกำหนดราคาซื้อ-ขายใช้จ่ายเป็นเงินบาท ไม่ต้องไปอิงเงินเหรียญสหรัฐ ปัญหาเรื่องของความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนก็จะไม่มีปัญหา การโอนเงิน การจ่ายเงินก็จะง่ายเพราะมีบัญชีเงินบาท และผู้ขายที่อยู่ในประเทศก็จะสามารถกำหนดราคาและรับเงินกลับเข้ามาเป็นบาทได้ การดำเนินการต่าง ๆ ก็จะดีขึ้น”

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการชำระเงินโดยใช้สกุลเงินบาท-จ๊าต ยังคงเปิดทำการเฉพาะพื้นที่ เช่น ด่านแม่สอด-เมียวดี และแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และยังเปิดให้สำหรับการซื้อ-ขายระหว่างนิติบุคคลที่นำเข้า-ส่งออกซึ่งมีเอกสารยืนยัน เพื่อรับเงิน โอนเงินผ่านบัญชี และทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคารเท่านั้น ยังไม่ได้อนุญาตให้มีการใช้ทั่วไปตามชายแดน แต่คาดว่าในอนาคตจะสามารถใช้ชำระสินค้าเป็นการทั่วไปได้ รวมถึงเรื่องการโอนเงิน การเปิดบัญชี ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความสะดวกให้กับแรงงานเมียนมาในประเทศไทยได้ด้วย รวมไปถึงการใช้จ่ายเงินบาทผ่านบริการต่าง ๆ ได้ในเมียนมา เป็นต้น

“การเปิดใช้สกุลเงินบาท-จ๊าตเริ่มต้นจำกัดพื้นที่ ไม่ได้ใช้กันทุกด่านชายแดนไทย-เมียนมา ด่านที่เปิดให้ใช้ เช่น ด่านแม่สอด-เมียวดี ซึ่งมีสัดส่วนการค้าชายแดนถึง 40-45% ของการค้าไทย-เมียนมาแล้ว และยังมีที่แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก และเปิดใช้ในการค้าระหว่างเส้นทางอื่น ๆ อย่าง ทางอากาศและทางเรือยังไม่ได้เปิดระบบการชำระเงินบาท-จ๊าต สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท-จ๊าต ปัจจุบันอยู่ที่ 100 จ๊าต เท่ากับ 1.80-1.90 บาท”

นายประเสริฐกล่าวว่า แนวโน้มการค้าชายแดนไทย-เมียนมาในปี 2565 จะยังคงเติบโตเทียบเท่าปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่าส่งออก 1.1 แสนล้านบาท ขยายตัว 37.41% จากสถานการณ์ที่โควิดผ่อนคลาย เมียนมายังมีความต้องการสินค้าจากไทย บวกกับนโยบายของจีน เรื่อง zero โควิด ทำให้เปิด-ปิดเมืองบ่อยครั้ง จึงเป็นโอกาสให้สินค้าไทยส่งออกเพิ่มขึ้น

“ขณะที่การเมืองภายในเมียนมาดีขึ้น ต้นปี 2565 ยังไม่รุนแรง ความต้องการสินค้าก็ยังสูง แต่จากนี้ก็ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะในช่วงเดือนมีนาคมนี้เริ่มมีการลอบวางระเบิดในพื้นที่สำคัญ โดยเฉพาะเส้นทางการขนส่งสินค้าเข้าเมียนมา ก็อาจมีผลกระทบหรือทำให้การขนส่งสะดุดบ้าง แต่ก็คาดหวังว่าปัญหาจะย้ายออกไปจากพื้นที่เศรษฐกิจ”

รายงานข่าวระบุว่า ล่าสุดเดือนมกราคม 2565 การค้าชายแดนไทย-เมียนมา รวม 18,607 ล้านบาท โดยไทยส่งออก 11,286 ล้านบาท ขยายตัว 23.98% และนำเข้ามูลค่า 7,321 ล้านบาท ขยายตัว 60.83%

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ ตามสถิติของกระทรวงพาณิชย์เมียนมา ประเทศเมียนมาทําการค้าชายแดนกับประเทศไทยผ่าน 7 พื้นที่ ได้แก่ ท่าขี้เหล็ก เมียวดี เกาะสอง มะริด ตีกี มองตอง และ มิซี ด่านชายแดนเมียวดีเป็นด่านชายแดนที่ทําการค้าขายมากที่สุดระหว่างไทยกับเมียนมา รองลงมาเป็นด่านตีก

โดยมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมา ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ถึง 18 กุมภาพันธ์ 2565 ในปีงบประมาณ 2564-2565 มีมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกจากประเทศเมียนมา มูลค่า 1,330 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การนําเข้า มูลค่า 657.18 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปีงบประมาณ 2563-2564 ปริมาณการค้าระหว่างไทย-เมียนมามีมูลค่า 4,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมถึงมูลค่าการนําเข้า 1,930 ล้านเหรียญสหรัฐ และ มูลค่าการส่งออก 2,980 ล้านเหรียญสหรัฐ