ไม่มีรง.4 ทำวุ่น กนอ.แจงข้อยกเว้น ร่วมประมูลงานรัฐได้

วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม

การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เคลียร์ กรมวิชาการเกษตร หลังผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมโวยไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานภาครัฐได้ เหตุติดเงื่อนไข ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ใบ รง.4 ทั้ง ๆ ที่ได้รับการ “ยกเว้น” จากการนิคมใช้ ใบอนุญาตให้ใช้ที่ดิน หรือ ใบ กนอ.01/2 กับ ใบอนุญาตประกอบกิจการนิคม หรือ ใบ กนอ.03/6 แทนได้ ด้านผู้ว่าการ กนอ.บอก พ.ร.บ.การนิคมครอบคลุมเรื่องการตั้งโรงงานอยู่แล้ว

สืบเนื่องจากกรณีความไม่เข้าใจในระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างระหว่าง ผู้ประกอบการบริษัทเอกชนที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม กับหน่วยงานภาครัฐ ได้นำมาซึ่งปัญหาในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจนกระทั่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ต้องทำหนังสืออย่างเป็นทางการยืนยันเพื่อยุติปัญหาดังกล่าว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเข้ามาว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้มีผู้ประกอบการเครื่องปรับอากาศรายหนึ่ง ซึ่งตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลเพื่อจัดซื้อจัดจ้างของ กรมวิชาการเกษตร ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการรายนั้น “ไม่มี” ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือ ใบ รง.4 ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายนั้น “เสียโอกาส” ในการเสนอราคาแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ

รายงานข่าวจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าทางกนอ.ได้ทำหนังสือไปยังกรมวิชาการเกษตร หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เพื่อแจ้งให้ทางกรมทราบว่า โรงงานหรือบริษัทใด ๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมและไม่มีใบ รง.4 สามารถที่จะเข้าร่วมการแข่งขันเสนอราคาตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการนั้น ๆ ได้ตามปกติ

อาศัยอำนาจตาม มาตรา 30 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 กับ มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ว่าด้วยข้อบังคับคณะกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม

กล่าวคือ การอนุญาตสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมตามความในมาตรา 30 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดให้ 1)การประกอบกิจการโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมให้ได้รับข้อ “ยกเว้น” ไม่ต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบตามมาตรา 11 หรือได้รับอนุญาตตามมาตรา 12 แล้วแต่กรณีตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

กับ 2) การอนุญาตโรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมจะเป็นไปตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 โดยผู้ใดจะประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมาย ทั้งนี้การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับคณะกรรมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม พ.ศ. 2551

ดังนั้นโรงงานที่ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม จะได้รับหนังสืออนุญาตให้ใช้ที่ดินและประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรม (กนอ. 01/2) หรือ หนังสืออนุญาตให้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมฉบับต่ออายุ (กนอ. 03/6) ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายของ กนอ. โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน รง.4 เนื่องจากได้รับการ “ยกเว้น” ไม่ต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แล้วนั่นเอง

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ในกรณีความเข้าใจที่ไม่ตรงกันครั้งนี้ว่า ตาม พ.ร.บ. การนิคมฯได้ระบุชัดเจนถึงการอนุญาตให้ตั้งโรงงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในบางประเภทนั้น “ไม่ต้องขอรับในอนุญาตประกอบโรงงาน รง.4 จากทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม”

เนื่องจากมี พ.ร.บ.การนิคมฯ ครอบคลุมไว้ให้อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและความเข้าใจ ปกป้องไม่ให้ผู้ประกอบการถูกปิดกั้นจากการเข้าประมูล ทาง กนอ.จำเป็นต้องส่งหนังสือให้หน่วยงานดังกล่าว “รับทราบตรงกัน” และเพื่อยืนยันให้ผู้ประกอบการมีสิทธิ์ตามหลักเกณฑ์ทั้งหมด

“เรื่องนี้ไม่มีอะไรมาก เราเพียงแต่ทำหนังสือไปชี้แจงให้กรมวิชาการเกษตรเข้าใจถึงข้อกฎหมายที่มีอยู่”