ส่งออกครึ่งปีแรกทำมากได้น้อย “น้ำมันแพง” นำเข้าพุ่ง-ดุลการค้าหด

กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลขส่งออกไทยล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2560 มูลค่า 20,282 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 11.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการขยายตัวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 18,365 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้เกินดุลการค้า 1,917 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกไทยครึ่งปีแรก (มกราคม-มิถุนายน)

ปี 2560 ของไทยมูลค่า 113,546.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 7.8% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปีจากปี 2554 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 106,576.3 ล้านเหรียฐสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดุลการค้าวูบ 5,600 ล้านเหรียญ

แต่อีกมุมหนึ่งเป็นที่น่าเสียดาย เพราะดุลการค้าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ซึ่งมีมูลค่า 6,971 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ไทยเคยได้ดุลถึง 12,618.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหายไป 5,647.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นผลมาจากการนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่ 47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

โดยจะเห็นว่าภาพรวมการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกที่ขยายตัวถึง 14.99% จากการนำเข้าสินค้ากลุ่มเชื้อเพลิง มูลค่า 14,786 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นถึง 33.53% เป็นผลมาจากการนำเข้าน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น 42.25% รองลงมา คือ น้ำมันสำเร็จรูป 22.87% ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 9.88%

สินค้าทุนนำเข้าเพิ่มขึ้น 7.41% จากการนำเข้าเครื่องบิน เครื่องร่อน เพิ่มขึ้นสูงสุด 32.98% ขณะที่เครื่องจักรและส่วนประกอบ ลดลง 1.07% ส่วนกลุ่มวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 21.03% กลุ่มอุปโภคบริโภค เพิ่ม 11.36% ยานพาหนะเพิ่มขึ้น 4.12% และกลุ่มอาวุธยุทโธปกรณ์ ลดลง 14.08%

มันสำปะหลัง-อัญมณีหดตัว

ส่วนยอดการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกที่ขยายตัว 7.8% เป็นผลมาจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรส่งออกได้ 17,002 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 13.1% โดยสินค้าส่งออกขยายตัว ได้แก่ ข้าว ส่งออกได้ 5.42 ล้านตัน ขยายตัว 8.2% มูลค่า 2,307 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.5% กลุ่มอาหาร ขยายตัว 10% โดยอาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป (ไม่รวมกุ้ง) ขยายตัว 5.5% กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง 7.8% ผัก ผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 14.4% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 11.9% อาหารอื่น ขยายตัว 10.3%

ขณะที่สินค้าที่มี “ปริมาณส่งออกลดลง แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น” ได้แก่ ยางพาราส่งออกได้ 1.73 ล้านตัน ลดลง 0.5% มูลค่า 3,254 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 57.7% และน้ำตาล ปริมาณ 3.12 ล้านตัน ลดลง 22.8% มูลค่า 1,520 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 5.8%

ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมภาพรวม มีมูลค่า 90,215 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.9% โดยกลุ่มยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น 1.4% ยกเว้นสินค้าในบางรายการที่ติดลบ เช่น รถยนต์นั่ง ลดลง 14% และรถแวน ลดลง 69.4% อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 12.3% เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น 9.8% เม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้น 11.6% วัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น 9% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบเพิ่มขึ้น 4.9% สิ่งทอเพิ่มขึ้น 2% ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้น 56.1% เคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้น 18.5% น้ำมันสำเร็จรูป 36.2% และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น เพิ่มขึ้น 8.5%

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีแรก มีสินค้า 2 รายการ คือ มันสำปะหลังที่ส่งออกได้ 5.6 ล้านตัน ลดลง 6.3% มูลค่า 1,375 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12% และอัญมณีและเครื่องประดับลดลง 23.3% เป็นผลมาจากทองคำยังไม่ขึ้นรูปลดลง 40.9% และอัญมณีไม่รวมทองลดลง 0.4%

ตลาดรัสเซียบวก 55.5%

ภาพรวมตลาดส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกส่วนใหญ่ขยายตัวเป็นบวก โดยตลาดหลักขยายตัว 7.5% ได้แก่ ญี่ปุ่น ขยายตัว 8% สหรัฐ ขยายตัว 7.2% สหภาพยุโรป ขยายตัว 7.3%

ส่วนตลาดศักยภาพสูง ขยายตัว 14.3% สาเหตุจากตลาดจีน ขยายตัว 31.2% ตลาดอาเซียน (9) ขยายตัว 7.1% ตลาด CLMV ขยายตัว 13.5% เอเชียใต้ ขยายตัว 18% เกาหลีใต้ ขยายตัว 24.2% ฮ่องกง ขยายตัว 9.4%

ส่วนตลาดศักยภาพรอง หดตัว 0.4 % จากตะวันออกกลาง ลดลง 8.5% ออสเตรเลีย ลดลง 1.2% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าตลาดกลุ่มนี้มีรัสเซียที่ยอดส่งออกขยายตัวถึง 55.5%

ส่งออกมีลุ้นโต 6%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจัยที่มีผลให้การส่งออกครึ่งปีแรกขยายตัว จากความสามารถในการกระจายความเสี่ยงด้านตลาดตลาดส่งออกของไทย ให้กระจายไปยังตลาด CLMV เอเชียใต้ จีน โดยเฉพาะรัสเซียมีการขยายตัวในอัตราที่สูงมาก และสินค้าส่งออก 42 รายการใน TOP 50 ขยายตัวเป็นบวก สินค้าเกษตรสำคัญทั้ง ข้าว ยางพารา น้ำตาลทรายมีการขยายตัวดีขึ้นทั้งหมด

“กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2560 จะขยายตัว 5% หากส่งออกได้ 18,768 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน แต่มีโอกาสที่จะส่งออกขยายตัว 6% หากสามารถทำยอดส่งออกเฉลี่ย 19,127 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือนขึ้นไป โดยมองว่าทิศทางการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่อง จากสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าดีขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันคาดว่าจะเฉลี่ยที่ 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยขณะนี้ 47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่อาจจะมีผลต่อการส่งออกไทย ทั้งนโยบายกีดกันทางการค้า ทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดและมาตรการ QE ของประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ ตลอดจนปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแข็งค่า

“ค่าเงินบาทแข็งค่า กระทบระยะสั้น เชื่อมั่นว่ากระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย มีมาตรการดูแลเรื่องนี้อยู่ แต่ผู้ส่งออกก็ควรเตรียมหามาตรการรองรับความเสี่ยงด้วย”

ยานยนต์ลดเป้าส่งออก

ด้านนายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เตรียมหารือเพื่อปรับลดเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ทั้งปีจาก 1.2 ล้านคันเหลือ 1.1 ล้านคัน เนื่องจากครึ่งปีแรกมูลค่าและจำนวนคันที่ส่งขายลดลง อยู่ที่เพียง 536,000 คันเท่านั้น ขณะที่ครึ่งปีหลังน่าจะส่งได้ 426,000 คัน โดยกลุ่มรถยนต์นั่ง รถตู้ และกลุ่มรถเก๋ง ต้องจับตามองมากที่สุด ปัจจัยเป็นผลมาจากตลาดตะวันออกกลาง ซึ่งเคยมีสัดส่วนสูงสุดกว่า 20% เหลือเพียง 9% เพราะสงครามและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลง

 

6 เดือนหลัง “เสี่ยง”

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สภาผู้ส่งออกคาดการณ์การส่งออกทั้งปี 2560 อยู่ที่ 3.5% คาดว่าช่วงหลังไตรมาส 3 จะพิจารณาประเมินภาพรวมการส่งออกทั้งปีอีกครั้งว่าจะมีการปรับหรือไม่

ทั้งนี้ การส่งออกช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้ดีทั้งตัวสินค้าและตลาด เนื่องจากช่วงต้นปีเป็นช่วงที่ผลผลิตบางตัวออก แต่ครึ่งปีหลังสินค้าบางรายการลดลง เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ชิ้นส่วนประกอบ เป็นต้น จึงประเมินว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง ปี 2560 น่าจะชะลอตัวหรือทรงตัว

ทั้งยังมีปัจจัยเสียงจากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง และปัจจัยเรื่องของราคาน้ำมัน ราคาไม่น่าจะปรับสูงขึ้นไปมากกว่า 50 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อีกทั้งปัจจัยเสี่ยงจากนโยบายการค้าของคู่ค้า และนโยบายเศรษฐกิจที่หลายประเทศจะลดการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงว่าจะมีีผลอะไรบ้าง ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด


“สิ่งที่จะทำให้การส่งออกไปได้ดี ผู้ส่งออกต้องผลักดันด้านปริมาณการส่งออกให้มากขึ้น เนื่องจากด้านมูลค่าอาจทำไม่ได้และอาจจะแข่งขันลำบาก โดยมองว่ายังไม่มีสินค้าเด่นที่จะทำให้การส่งออกในช่วงครึ่งหลังขยายตัวได้ และตลาดจะอยู่ในภาวะทรงตัวมากขึ้น ทั้งสินค้าเกษตรและสิินค้าอุตสาหกรรม”