เกษตรฯจ่อตั้งฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต 50 เขต ปั้นมหานครสีเขียวแห่งอนาคต

เกษตรฯเล็งตั้งฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต ปูพรมใน 50 เขตกรุงเทพฯ โครงการเกษตรกรรมยั่งยืนเน้นอาหารปลอดภัย เตรียมปั้นธุรกิจเพื่อสังคมเป็นกลไกขับเคลื่อนหวังดันกรุงเทพฯสู่มหานครสีเขียวแห่งอนาคต

วันที่ 19 เมษายน 2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Sustainable Urban Agriculture Development Project @ Bangkok) เปิดเผยว่า

กรุงเทพมหานครมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วทำให้ประชากรและชุมชนเพิ่มขึ้นประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เพราะมีพื้นที่เกษตรน้อยและมีพื้นที่สีเขียวไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนประชากรกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชน

คณะกรรมการบริหารและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงวางโครงสร้างและระบบเป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project : SUAD Project)

ล่าสุดได้พิจารณาแนวทางการจัดตั้งตลาดเกษตรกร( Farmer Market ) ในกรุงเทพมหานคร ที่ฝ่ายเลขานุการเสนอจากการศึกษาตัวอย่างมีลักษณะและแนวทางที่แตกต่างกันไป

ประกอบด้วย 1) จัดตั้งในเขตชุมชนเมือง ภายใต้ความร่วมมือกันของภาคีภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายองค์กรเกษตรกร ภาคเอกชนและภาครัฐ 2) ตลาดเกษตรกรออนไลน์ โดยการจองล่วงหน้าและมารับผลิตผล พื้นที่จัดงาน ผ่านแพลตฟอร์ม อาทิ แพลตฟอร์มจ่ายตลาด (Jaitalad) เพื่อช่วยในเรื่องการกระจายสินค้าที่ทั่วถึง ซึ่งหากนำทั้ง 2 รูปแบบมาผสมผสานกันจะทำให้การจัด Farmer Market มีการกระจายตัวของเกษตรกร และผลิตผลถึงมือประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการจัด Farmer Market ในเขตกรุงเทพมหานคร และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำบัญชีรายชื่อพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เอกชน พื้นที่ว่างสาธารณะ พื้นที่การเคหะฯรวมถึงวัด และสถานศึกษาโดยขอให้กระจายให้ครบทั้ง 50 เขต

โดยจะมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้นเข้ามาร่วมในการดูแลเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food safety) ด้วย พร้อมทั้งให้ฝ่ายเลขานุการจัดประชุมเป็นการเฉพาะในเรื่องการออกแบบตลาดหลายขนาดตั้งแต่เล็ก กลางและขนาดใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

พร้อมยังมอบหมายอนุกรรมการศึกษารูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) เป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่องยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ ทั้ง 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยจะต้องเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว อยู่ในกำหนดยุทธศาสตร์ “3’s” (Safety-Security-Sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคงและเกษตรยั่งยืน) โดยมุ่งเน้นการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครสีเขียวแห่งอนาคต” ซึ่งสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก และเป้าหมายของโครงการกรุงเทพสีเขียว 2030 (Green Bangkok 2030) ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ

อีกทั้งยังสอดรับกับโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ที่ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งช่วยให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างการขับเคลื่อนให้เกิดในลักษณะองค์รวม โดยมีตัวอย่างบางโครงการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดตัวโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองพื้นที่วัด (Green Temple) ธรรมสถานวัดพระราม 9 กาญจนภิเษก

รวมถึงวัดพระยาสุเรนทร์ บนความร่วมมือระหว่างบ้าน วัดและโรงเรียน (บ.ว.ร.) เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนเมืองใกล้วัดร่วมทำการเกษตรพัฒนาอาหารปลอดภัย สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนเกิดการแบ่งปัน รวมถึงเป็นรายได้ให้แก่ชุมชนด้วย

โดยเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565 สำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมปักกล้าดำนาข้าวพันธุ์ กข 87 พร้อมปลูกต้นกล้าป่าเบญจพรรณ 962 ต้น ตามโครงการ Green Bangkok 2030 ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคกหนองนา ทวีวัฒนา

โดยที่ประชุมยังได้กำหนดเตรียมการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคกหนองนา เขตทวีวัฒนาและพื้นที่การทำการเกษตรยั่งยืนในเมืองของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในวันที่ 25 เมษายน 2565 ซึ่งประธานได้ขอให้ฝ่ายเลขานุการประสาน รศ.ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย (Green Campus) อีกด้วย