หลักคิด เกรียงไกร เธียรนุกุล สร้างงานแก้หนี้ครัวเรือน โจทย์ใหญ่ประเทศ

เกรียงไกร เธียรนุกูล

วันที่ 22 เมษายน 2565 เป็นวันแรกที่คณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชุดใหม่ นำโดย “นายเกรียงไกร เธียรนุกุล” ก้าวขึ้นรับไม้ต่อในตำแหน่งประธาน ส.อ.ท.คนที่ 16 ต่อจาก “นายสุพันธุ์ มงคลสุธี”

ท่ามกลางความท้าทายจากวิกฤตซ้อนวิกฤตของประเทศ ทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 2 ปี ยังไม่สามารถคลี่คลายลงได้ ซ้ำด้วยวิกฤตจากสถานการณ์การเมืองโลก จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดูเหมือนจะยืดเยื้อต่อไปอีก สร้างแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทย “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ถึงจุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2565

จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง

สถานการณ์การเมืองในเดือนพฤษภาคมถือเป็นจังหวะเวลาสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง ในขณะนี้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนให้ความสำคัญ เพราะจะครบรอบวันสำคัญทางการเมืองอย่างพฤษภาทมิฬ สัญญาณการเมืองจะเป็นอย่างไร การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ตามมาจากนั้น ตอนนี้เราต้องยอมรับว่าประชาชนส่วนใหญ่อยากได้อะไรใหม่ ๆ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น

ในปีนี้ที่เศรษฐกิจโลกจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดจาก “ภาวะเงินเฟ้อ” หลังวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนทำให้ระดับราคาน้ำมันสูงขึ้น ทุกประเทศได้รับผลกระทบยกเว้นประเทศที่ส่งออกน้ำมันไม่กี่ประเทศ เมื่อสงครามยืดเยื้อ มีการแซงก์ชั่นจะกระทบเรื่องการขนส่ง ซึ่งจะยิ่งทำให้ต้นทุนปรับสูงขึ้นไปอีก

ท้ายที่สุดถ้านาโต้เข้ามามีบทบาทมากจนรัสเซียต้องใช้นิวเคลียร์วิสัยต่ำ หรืออาจเกิดการแซงก์ชั่นด้วยการปิดท่อก๊าซที่ส่งทางยุโรป จะทำให้ “ซัพพลายเชน” พังหมดทั้งระบบ พังถึงประเทศไทยอย่างแน่นอนในฐานะที่เราเป็นผู้ส่งออก

“การดูแลราคาพลังงานโดยการปรับสูตรดูแลราคาน้ำมันดีเซล ด้วยการปรับราคาขึ้นแบบขั้นบันได อาจจะกระทบไปถึงภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพไปไม่ไหวมันต้องขึ้นค่าแรง ซึ่งย้อนกลับมากระทบต้นทุนเอสเอ็มอีอีก จนอาจกลายเป็นเงินเฟ้อทับเงินเฟ้ออีกรอบ ทาง ส.อ.ท.เคยเสนอว่าควรต้องมีการกู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ตอนนั้นทางกระทรวงการคลังยังไม่ค่อยตอบรับในเรื่องนี้ แต่ภายหลังจาก 6 ผู้ว่าการแบงก์ชาติออกมาสะท้อนไปในทางเดียวกัน”

หนี้ครัวเรือนความอ่อนแอของไทย

“เรามีความอ่อนแอในเรื่องหนี้ภาคครัวเรือนมากถึง 90% ประชาชนอ่อนแอ การแก้หนี้ภาคครัวเรือนนั้นจะแก้ด้วยวิธีปกติไม่ได้ รัฐจะต้องเพิ่มรายได้ ด้วยการสร้างงาน ซึ่งจะต้องเป็นการสร้างงานที่มีแวลู ไม่ใช่คิดแต่จะสร้างงานที่มีค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น มันไปไม่ได้ ซึ่งการจะสร้างตำแหน่งงานต้องไปเชื่อมกับเรื่องเทสต์แอนด์โกท่องเที่ยว การส่งเสริมการลงทุน และการส่งออก”

ตอนนี้ภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคการส่งออกเข้มแข็ง ฉะนั้น จะทำอย่างไรที่ขยายอิมแพ็กต์ช่วยเอกชนให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เหมือนที่รัฐบาลพยายามปรับเรื่องเทสต์แอนด์โกอะไรต่าง ๆ เพื่อดึงรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะรายได้ท่องเที่ยวเป็น direct injection ถ้าปีนี้มีนักท่องเที่ยว 5 ล้านคนเข้ามา เงินจาก 5 ล้านคนจะเข้ามาแน่นอน แต่หากไม่มีเข้ามาไม่ว่ารัฐจะใช้เงินอัดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจเท่าไรก็ไม่พอ

รับมือดิสรัปชั่นรอบสอง

ในขณะเดียวกัน ไทยต้องมีรายได้ใหม่ ๆ เข้ามาควรจะทำอย่างไร ตอนนี้ที่น่าห่วงต่อไปในอนาคต คือ การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่จะเข้ามาดิสรัปต์หลายอุตสาหกรรมของประเทศไทย นี่คือหัวใจ

“ตอนนี้เราโดนดิสรัปต์ก็จริง แต่มันยังไม่หยุดจะกินเวลาเท่าไรยังไม่รู้ ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นท็อปอันดับ 1-2 ของไทยมาตลอด เราส่งออกรถสันดาปภายใน แต่เราก็รู้ว่าอีวีจะมาดิสรัปต์อุตสาหกรรมนี้ มีการจ้างแรงงาน 7 แสนกว่าคน แล้วจะทำอย่างไร หากอุตสาหกรรมนี้หายไปกว่าครึ่งหนึ่งแล้วแรงงานในอุตสาหกรรม 3 แสนกว่าคนจะทำอย่างไร”

กระจายการเติบโตในอุตฯ

เกรียงไกรสะท้อนมุมมองว่า ตอนนี้ภาคการส่งออกแข็งแรงที่สุด แต่อยู่ในมือไม่กี่บริษัท โดยเฉพาะบริษัทของต่างชาติล้วน ๆ ตรงนี้เราจะทำอย่างไรเพื่อให้เกิด “การกระจายรายได้” ทำให้เกิดความยั่งยืน ให้ประเทศไทยเรามีจุดแข็ง จริง ๆ รัฐบาลที่มีการผลักดันเรื่องการสร้างเศรษฐกิจ BCG ต่าง ๆ ถือเป็นนโยบายที่มาถูกทางแล้ว แต่ว่า how คือจะทำอย่างไร รัฐบาลต้องพูดให้ชัด

ประเด็นหนึ่งที่ ส.อ.ท.เร่งรัดมานาน คือ การแก้ไขกฎหมาย (regulatory guillotine) โดยเสนอผลการศึกษาแนวทางการแก้ไขกฎหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (วิษณุ เครืองาม) ให้แต่ละหน่วยงานไปแก้ไข บางเรื่องให้แค่แก้ระเบียบที่หน่วยงานสามารถดำเนินการได้ทันที แก้ไขกฎกระทรวง หรือแม้แต่การแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.

ล่าสุดขณะนี้ทางท่าน มีชัย ฤชุพันธุ์ ท่านอยู่กฤษฎีกาหยิบเรื่องที่เคยศึกษามาเป็น issue base 10 เรื่อง ใช้โมเดลเหมือนกับกฎหมายอีอีซี

ประเด็นถัดมา เป็นเรื่องการส่งเสริมการลงทุน ขณะนี้ทาง คุณคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กำลังจะหมดวาระ ต้องดูว่าใครจะเข้ามาสานต่องานอีอีซี “จริง ๆ แล้วผมเป็นห่วงอีอีซี เพราะเราลงทุนกันไปในเรื่องนี้มหาศาลมาก เราต้องการให้เห็นเม็ดเงินการลงทุนจริง ๆ เกิดขึ้น เพราะจะช่วยสร้างประเทศ และช่วยสร้างเศรษฐกิจได้”

“สุพันธุ์” ส่งไม้ต่อ

ก่อนลงจากตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. “สุพันธุ์ มงคลสุธี” ได้สะท้อนปัญหาเรื่องความกังวลเกี่ยวกับหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับขึ้นจาก 30-40% เป็น 90% ว่า หากไม่สามารถทำให้ภาวะหนี้ครัวเรือนลดลงมาจะส่งผลกระทบเชื่อมต่อไปถึงภาคสังคม ลูกหลานของประเทศไทยในอนาคต และยิ่งนานการแก้ปัญหาจะยิ่งยากขึ้นเพราะไม่สามารถเพิ่มรายได้ เทียบง่าย ๆ คนอื่นจะซื้อโทรศัพท์มือถือ 20,000 รายได้เขาเป็นแสน แต่รายได้เราแค่ 18,000 บาท

ขณะที่ภาคธุรกิจรายเล็กจะยากลำบาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในปีนี้รายเล็กจะน่าห่วงเรื่องปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น เพราะแม้ว่าต้นทุนทางการเงินของเราจะดีขึ้น ดอกเบี้ยต่ำลงมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่นั่นจะเป็นโอกาสของรายใหญ่ที่มีโอกาสจะได้รับข้อเสนอของสถาบันการเงินที่ดีกว่ารายเล็กที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก

และด้วยสถานการณ์โควิดอีก การนำระบบอัตโนมัติเข้ามามากขึ้น เพื่อความอยู่รอดของบริษัทก็อาจจะนำไปสู่การลดคน ขณะที่ภาพการแข่งขันในธุรกิจจะรุนแรงมากขึ้น หากรายใหญ่มีกำลังสายป่านมากกว่า ลดราคาลงมาแข่งขันจะยิ่งทำให้รายเล็กอยู่ยาก ไม่ใช่ว่าบริษัทใหญ่เอาเปรียบรายเล็ก แต่ด้วยความสามารถของการดูแลต้นทุนหรืออะไรต่าง ๆ จะทำให้เกิดความได้เปรียบกว่า

ซึ่งประเด็นนี้ไทยควรปรับมุมมองในเรื่องการส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยหันมาโฟกัสอุตสาหกรรมที่เราถนัด คือ เกษตร เกษตรแปรรูป ด้วยการพัฒนาการลงทุนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในด้านน้ำ การพัฒนาปุ๋ย เรื่องเกษตรถ้าพูดไปแล้วจะรู้ว่ามันเป็นซัพพลายเชนที่ใหญ่มาก ไทยจะได้ประโยชน์อย่างมาก

โดยเราจะต้องปฏิรูปการให้สิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กของไทย ระยะเวลาลดภาษีต้องมีแฮนดิแคปให้คนไทย บริษัทไทยจะได้รับโอกาส ทำให้คนไทย 60 ล้านคนได้รับประโยชน์ด้วย