ปั๊มแอลพีจีป่วนรับเปิดเสรี ขาใหญ่หั่นกำไรบี้รายเล็ก

สมรภูมิตลาด LPG เดือด จับตา “สงครามตัดราคา” รับเปิดเสรีธุรกิจก๊าซสมบูรณ์แบบ 1 ส.ค.นี้ ผู้ค้ายอมขายขาดทุน แถมทุ่มอัดแคมเปญลด แจก แถม ชิงลูกค้า ชี้กำไรเหลือไม่ถึง 1 บาท/ลิตร ปั๊มก๊าซรายเล็กทยอยตาย ด้าน “สยามแก๊ส” พร้อมสู้ขาใหญ่ พลิกกลยุทธ์นำเข้าเอง ใช้เรือลอยลำกลางทะเล

ธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG ประสบปัญหามาอย่างน้อย 2 ปี ผลพวงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 40-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากที่เคยขึ้นไปสูงสุดกว่า 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ผู้บริโภคจึงหันมาใช้น้ำมันแทน เพราะส่วนต่างของราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับก๊าซ LPG ค่อนข้างน้อย สถานการณ์ราคาน้ำมันดังกล่าวส่งผลกระทบสถานีบริการก๊าซ LPG ที่รองรับการใช้ในภาคขนส่ง “มากที่สุด” เพราะยอดขายลดลงอย่างมาก ปรากฏการณ์ปิดกิจการสถานีบริการก๊าซ LPG จึงมีให้เห็นเพิ่มขึ้น หรือไม่ก็มีผู้ค้ารายใหญ่ขอซื้อที่ดินไปทำสถานีบริการน้ำมันแทน อย่างไรก็ตาม หลังวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ธุรกิจสถานีบริการก๊าซ LPG จะเผชิญกับ “สงครามราคา” อีกระลอก จากที่กระทรวงพลังงานประกาศเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG สมบูรณ์ ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันในตลาดนี้ดุเดือดรุนแรงขึ้นอีก

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการค้าก๊าซ LPG เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG อย่างสมบูรณ์แบบนั้น จะได้เห็นภาพการแข่งขันในตลาดที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการขนส่งที่มีการจำหน่ายผ่านสถานีบริการ ซึ่งขณะนี้การส่งเสริมการขายอย่างหนัก ทั้งจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย โดยให้ส่วนลด แลก แจก แถม เพื่อดึงลูกค้าได้เกิดขึ้นแล้ว จากเดิมที่เคยมีกำไร (Marketing Margin) ระดับ 3.25 บาท/ลิตร ช่วงนี้ผู้ค้ามีกำไรเหลือเฉลี่ยไม่ถึง 1 บาท/ลิตร บางรายเหลือเพียง 30 สตางค์/ลิตรเท่านั้น ยังไม่รวมต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เท่ากับว่าขณะนี้ผู้ค้าก๊าซบางรายยอมขายแบบ “ขาดทุน” จึงน่าห่วงว่าจากนี้จะเห็นสถานีบริการก๊าซ LPG ในส่วนของผู้ค้ารายกลางและรายเล็กเริ่มทยอยปิดกิจการ และส่วนหนึ่งจะถูกปรับเป็นสถานีบริการน้ำมันแทน

สงครามราคาทำผู้ค้าอ่วม

คาดว่าการแข่งขันในธุรกิจนี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้ค้ารายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ยูนิคแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ทุกรายต่างเตรียมความพร้อมจะเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ โดยเฉพาะการขายแบบ “ตัดราคาต่ำกว่าปกติ” ตั้งแต่ขายส่งหน้าคลัง ไปจนถึงขายปลีกหน้าสถานีบริการ สุดท้ายจะเหลือเพียงผู้ค้าก๊าซรายใหญ่ในธุรกิจนี้แน่นอน

“เดือน ส.ค.นี้ได้เห็นสงครามราคาก๊าซ LPG แน่นอน โดยเฉพาะในส่วนของผู้ค้าก๊าซสำหรับภาคขนส่งตายอยู่แล้ว ถามว่ามาร์จิ้นไม่ถึง 1 บาทจะอยู่อย่างไร ประกอบกับธุรกิจนี้มันเข้าสู่ช่วงขาลงแล้ว จะไม่ได้เห็นราคาก๊าซในตลาดโลกที่เคยขึ้นไปสูงถึง 800-1,000 เหรียญสหรัฐ/ตัน ที่สำคัญราคาก๊าซจะยืนราคาต่ำที่ระดับ 300-400 เหรียญสหรัฐ/ตัน ไปอีกพักใหญ่อีกด้วย”

อัดของแถม-รางวัลดึงลูกค้า

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจการส่งเสริมการขายของผู้ค้าก๊าซในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในถนนหลักหลายเส้นทางพบว่า ในส่วนของผู้ค้าก๊าซ LPG อิสระ (ไม่มีแบรนด์) มีการแข่งขันเพื่อดึงลูกค้าอย่างหนัก บางรายใช้วิธีแยก 2 หัวจ่าย เพื่อเป็นทางเลือกให้บริโภค เช่น ลดทันที 30 สตางค์/ลิตร หรือเติมก๊าซแล้วได้ของแถมเป็นเครื่องดื่มชา หรือน้ำเปล่า ตามความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมในรูปแบบบัตรสะสมแต้ม เพื่อเป็นส่วนลดราคา รวมไปจนถึงเติมก๊าซ LPG ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป ได้รับของแถมเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล 1 ใบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแคมเปญลุ้นชิงรางวัลทั้งทองคำ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกด้วย

สยามแก๊สฯพร้อมสู้ ปตท.

ทั้งนี้ การเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG ของกระทรวงพลังงานนั้น นอกจากต้องการให้ราคาก๊าซในประเทศได้สะท้อนต้นทุนแท้จริงแล้ว ยังต้องการเพิ่มผู้เล่นในธุรกิจนี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น จากเดิมที่ ปตท.ครองตลาดนี้อยู่ ซึ่งภายหลังจากเปิดให้ผู้ค้าก๊าซรายอื่นสามารถนำเข้าก๊าซ LPG ได้เอง ปรากฏว่าช่วงแรกมีเพียงบริษัท สยามแก๊สฯ ที่เริ่มนำเข้ามาเพื่อรองรับธุรกิจของตัวเอง

โดยนางจินตณา กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการสยามแก๊สฯ ระบุว่า มีความพร้อมที่จะทำการตลาด เพราะก่อนหน้านี้ได้ใช้เวลาเตรียมความพร้อมถึง 2 ปี ซึ่งปัจจุบันสยามแก๊สฯมีการนำเข้าจากประเทศตะวันออกกลาง และมีเรือสำหรับขนถ่ายและกระจายก๊าซ (Floating Storage) ลอยลำอยู่บริเวณศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาดรองรับ 45,000 ตัน เพื่อกระจายก๊าซ LPG ต่อไปยังเรือขนาดเล็ก นอกจากนี้ สยามแก๊สฯยังมีกองเรืออีก 20 ลำ และรถบรรทุกอีก 1,000 คัน ซึ่งทำให้บริหารต้นทุนได้ดีขึ้น อาจราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการซื้อก๊าซจากผู้ค้ารายใหญ่อีกด้วย

นางจินตณากล่าวเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลกว่า ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่เฉลี่ย 345 เหรียญสหรัฐ/ตัน (C4) และคาดว่าราคาในช่วงท้ายปีมีโอกาสจะปรับขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวมีการใช้ก๊าซ LPG เพิ่มขึ้น โดยราคาอาจจะแตะอยู่ที่ระดับ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน

คลัง “เขาบ่อยา” ส่อไม่คุ้ม

ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากวงการค้าก๊าซ LPG กล่าวถึงประเด็นการใช้ประโยชน์ของคลังก๊าซเขาบ่อยา จังหวัดชลบุรี ของ ปตท.ว่า จากที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายให้ ปตท. ดำเนินการเปิดคลังเขาบ่อยา ให้ผู้ค้ารายอื่น ๆ เข้ามาใช้ประโยชน์ระบบท่าเรือ คลังก๊าซ ตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ ปตท.ลงทุนขยายศักยภาพคลังเขาบ่อยาเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ 132,000 ตัน/เดือน เพิ่มเป็น 250,000 ตัน/เดือน โดย ปตท.จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนไข รวมถึงราคาสำหรับการเข้าใช้คลังดังกล่าว เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีการหารือระหว่างผู้ค้าก๊าซ LPG กับ ปตท. เบื้องต้น ปตท.ได้นำเสนออัตราค่าบริการการใช้คลังเขาบ่อยา ที่ระดับ 30-40 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งถือเป็นอัตราที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่ผู้ค้าก๊าซส่วนใหญ่ได้เสนอ ปตท.ให้ปรับค่าบริการมาอยู่ที่ 15 เหรียญสหรัฐ/ตัน

“ความคุ้มค่าของคลังเขาบ่อยาต้องดูความต้องการใช้ โดยเฉพาะจากผู้ค้ามาตรา 7 ด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งแนวโน้มเท่าที่เห็นไม่น่ามีเพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งคือนำเข้าเองด้วย ซึ่งจุดคุ้มทุนของ ปตท. น่าจะต้องมีปริมาณก๊าซผ่านคลังเขาบ่อยา ที่ระดับ 20,000 ตัน แต่ข้อเท็จจริงวันนี้ที่ระดับ 10,000 ตัน ยังยากเลย” แหล่งข่าวกล่าว

มิตซูบิชิยังเงียบไม่นำเข้า

ด้านความเคลื่อนไหวของบริษัท มิตซูบิชิ ประเทศไทย ที่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ค้ามาตรา 7 กับกรมธุรกิจพลังงาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ และมีแผนที่จะนำเข้าก๊าซ LPG นั้น แหล่งข่าวคาดการณ์ว่า ยังอยู่ใน

ระหว่างรวบรวมปริมาณก๊าซจากพันธมิตรและลูกค้า ซึ่งในกรณีที่มีความต้องการน้อยกว่า 40,000 ตัน อาจไม่คุ้มที่จะนำเข้า รวมถึงยังติดปัญหาในการเจรจาใช้คลังเขาบ่อยากับ ปตท.