“โศภชา” พุ่งเป้า “กันกุล” สู่ผู้นำ “โซลูชั่นระบบไฟฟ้า” ครบวงจร

สัมภาษณ์

ความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พร้อมการเตรียมประกาศนโยบายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอย่างเสรี และต้นทุนเทคโนโลยีที่ถูกลง ส่งผลให้มีนักลงทุนหน้าใหม่ก้าวเข้ามาในตลาดจำนวนมาก “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ถึงการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ และแผนการลงทุน เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

Q : การปรับตัวรับการแข่งขัน

ปัจจุบันการแข่งขันในธุรกิจพลังงานทดแทนค่อนข้างสูง แต่ด้วยความที่กันกุลฯเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2535 เราเริ่มจากเป็นผู้ผลิต จัดหา และจำหน่ายอุปกรณ์ระบบไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานมากมาย ผลิตอุปกรณ์ประกอบเสาไฟฟ้าขนาดใหญ่ อุปกรณ์ยึดโยง มาสู่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์แบบติดตั้งบนหลังคา โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ได้จัดตั้งบริษัท กันกุลแอลอีดี ไลท์ติ้ง จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ส่องสว่างประเภทหลอดไฟแอลอีดี (LED) ภายใต้แบรนด์ “GLO” (โกลว์) ต่อไปจะมุ่งนำเสนอโซลูชั่นระบบไฟฟ้าครบวงจรเป็นแพ็กเกจให้ลูกค้า โดยเน้นรับเหมางานโครงการของเอกชนมากขึ้น ส่วนงานราชการยังร่วมประมูลอยู่

Q : จุดเด่นโซลูชั่นครบวงจร

ที่ผ่านมากันกุลฯรับเฉพาะงานภายนอกอาคาร และงานเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าแรงสูงเท่านั้น ต่อไปจะเน้นงานโซลูชั่นรับเหมาติดตั้งงานระบบไฟฟ้าทั้งภายนอก และภายในอาคารทั้งหมด ตั้งแต่งานออกแบบ งานก่อสร้างอาคาร รวมถึงการติดตั้งระบบไฟฟ้าในโรงงาน และภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น โดยนำเสนอทางเลือกให้ลูกค้า ด้านการติดตั้ง และใช้พลังงานทดแทน แทนการใข้ไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน เช่น ระบบส่องสว่างภายในอาคาร (หลอด LED)

Q : ลุยค้าปลีกหลอด LED

ตอนนี้วางขายปลีกแห่งเดียวที่โกลบอลเฮ้าส์ เราต้องการเน้นรับงานโครงการขนาดใหญ่ของเอกชน เช่น โรงงาน โรงพยาบาล คลังสินค้า ท่าเรือ ทางหลวง สนามกอล์ฟ สำนักงานใหญ่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นต้น สำหรับปีนี้ตั้งเป้ายอดขาย LED 300%

Q : ผ่านมาครึ่งปีปรับเป้ารายได้

จริง ๆ เราประกาศตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ปี 2560 เติบโต 20-30% จากปี 2559 มียอดรายได้ประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทยังมีผลประกอบการที่เติบโต ทั้งในส่วนของอุปกรณ์ระบบไฟฟ้า การขายไฟ และการก่อสร้าง โดยเชื่อมั่นว่าในปี 2560 รายได้ยังคงมีการเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ปัจจุบันยังมองโครงการลงทุนด้านพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน (Hybrid) ที่ภาครัฐเตรียมโครงการอยู่ จำนวน 300 เมกะวัตต์

Q : เล็งหาผู้ร่วมหุ้นทำไฮบริด

เรามองในส่วนที่จะทำเอง และที่ทำร่วมกับคนอื่นด้วย โดยคนที่มีวัตถุดิบ เราพยายามคุยอยู่ แต่กลุ่มบริษัทที่มีวัตถุดิบ เช่น อ้อย ต้นยูคาลิปตัสทำกระดาษ เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่มาก ๆ ซึ่งมีเงินทุนและอยากทำเอง หากกันกุลฯไม่ได้ร่วมหุ้นอาจจะเข้าไปเป็นผู้ก่อสร้างให้ ขณะเดียวกันได้เตรียมทำเอง โดยตั้งทีมขึ้นมาศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในหลาย ๆ ด้าน เช่น ต้องปลูกพืชพลังงานหรือไม่ ต้องเลือกปลูกพืชอะไร ทำเลที่ทำ จะปลูกอย่างไร จะไปหาคนที่มาปลูกอย่างไร ถ้าจะทำควรใช้กับวัตถุดิบได้หลาย ๆ อย่าง เช่น กะลาปาล์ม ไม้ยางพารา ชิ้นไม้สับ ขี้เลี่อย เพราะถ้าทำต้องมีวัตถุดิบเองบางส่วน ระยะแรกหาวัตถุดิบในท้องถิ่น สมมุติซัพพลายได้ 7-10 ปี ต้องวางแผนปลูกทดแทนให้ทันกับแหล่งวัตถุดิบที่จะหมดลง ทั้งนี้การทำไบโอแมส 10 กว่าเมกะวัตต์ ต้องมีพื้นที่เป็น 10,000ไร่ เพื่อปลูกพืชพลังงานทดแทนใหม่วนกันไป ผลตอบแทนต่อไร่ การลงทุนพวกนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

Q : แผนลงทุนโซลาร์ในญี่ปุ่น

การลงทุนโซลาร์ในญี่ปุ่น ปัจจุบันมี4 โครงการรวม 200 เมกะวัตต์ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 โครงการ จะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปีนี้อีก 1 โครงการ อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 โครงการ แม้รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศปรับราคารับซื้อไฟในแบบ Feed in Tariff (FiT) ลดลงจากเดิม แต่โครงการที่กันกุลฯไปลงทุนได้ FiT ในราคาที่ดี

สำหรับโครงการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในญี่ปุ่น ตอนนี้ถือว่าอยู่ระหว่างขั้นตอนการเจรจากับโครงการที่พัฒนามาแล้ว บางโครงการสร้างแล้ว บางโครงการยังไม่สามารถก่อสร้างได้ โดยบางคนทนรอสายส่งเสร็จไม่ไหว เช่น พวกกองทุน (Fund) ไปลงทุนช่วงแรก ได้โครงการขนาดใหญ่มา ต้องการขายทั้งพอร์ต กันกุลฯต้องพิจารณาเลือก เพราะบางโครงการมีมูลค่า บางโครงการไม่มีมูลค่า บางโครงการจะขอซื้อเพียงโปรเจ็กต์ โครงการลักษณะนี้ยังเหลืออยู่มาก ในระยะ 2-3 ปีนี้โครงการลงทุนพลังงานทดแทนในญี่ปุ่น น่าจะเป็นโครงการที่ทำให้กันกุลฯมีเมกะวัตต์เพิ่มขึ้นได้มากกว่าประเทศอื่น

Q : สนใจลงทุนไบโอแมสในญี่ปุ่น

ตอนนี้รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายเปิดเกี่ยวกับพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เช่นโครงการไบโอแมส แต่ละโครงการมีขนาดใหญ่มากถึง 50 เมกะวัตต์ ที่ผ่านมามีนักพัฒนาที่ดินญี่ปุ่น ซึ่งมีที่ดินเป็นทำเลที่ดีมากอยู่ใกล้ท่าเรือ มาเสนอให้กันกุลฯทำโครงการไบโอแมส แต่กันกุลฯยังไม่ได้ลงมือทำ เพราะการขอเงินกู้ธนาคารเพื่อทำโครงการ ต้องมีสัญญาชัดเจนในการจัดหาวัตถุดิบมาใช้ คนที่จะมาซัพพลายวัตถุดิบให้ต้องเป็นรายใหญ่ และต้องเซ็นสัญญาจัดหาวัตถุดิบให้ขั้นต่ำ 10 ปี ไม่อย่างนั้นธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อให้ จึงต้องพิจารณาทุกอย่างให้ดีก่อน

Q : ความคืบหน้าลงทุนใน CLMV

สำหรับการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้มี 2 โครงการที่ยื่นข้อเสนอร่วมกับหุ้นส่วนนักลงทุนท้องถิ่นไป ได้แก่ 1.โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ ขนาด 30 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าประเทศเวียดนาม และ 2.โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ ขนาด 10 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าประเทศมาเลเซีย

Q : ดิวพลังงานลมในออสเตรเลีย

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในออสเตรเลีย ขนาด 200-300 เมกะวัตต์ ถือเป็นโครงการขนาดใหญ่มาก เราคงไม่ไปลงทุนคนเดียว แต่เท่าที่ศึกษาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้วยังมีความเสี่ยง พาร์ตเนอร์เองยังไม่อยากไปลงทุน บางคนอยากไปพัฒนาที่ประเทศอื่นก่อน