เยอรมนีลงทุนใหม่มาบตาพุด ผุด 2 โปรเจ็กต์ขึ้นฮับอาเซียน

“โคเวสโตร” ทุนเยอรมันยักษ์ปิโตรเคมีกางแผนลงทุน “มาบตาพุด” strategic location ชู “ไทยฮับอาเซียน” จ่อเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงงานอีลาสโตเมอร์อันดับ 2 ของโลก Q3/65 แง้มแผนชงบริษัทแม่ผุด 2 โปรเจ็กยักษ์ ผลิต “ฟิล์มพิเศษ” ต่อเนื่องด้วย “โรงงานโพลิคาร์บอเนต” ทุ่มกว่า 3.7 พันล้านบาท

การดึงดูดอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมใหม่ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ถือเป็นความท้าทายของทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดปัญหาความไม่แน่นอนในการควบคุมการระบาด การใช้มาตรการล็อกดาวน์ในแต่ละประเทศ ทำให้นักลงทุนไม่สามารถเดินทางประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ นำมาสู่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ในส่วนของไทยซึ่งเปรียบเสมือนจุดยุทธศาสตร์สำคัญในอาเซียนยังเป็นที่สนใจของนักลงทุน

ล่าสุด ดร.ทีโม สลาวินสกี้ (Timo Slawinski) กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะบริษัทผู้ผลิตโพลิเมอร์อันดับท็อป 3 ของโลก ประวัติยาวนานมาเป็นเวลา 80 ปี ขยายแยกออกมาจากบริษัทไบเออร์ ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีแผนขยายการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ดร.ทีโม สลาวินสกี้

จากปัจจุบันมีโรงงานที่มาบตาพุด และบางปู โดยเราเลือกมาบตาพุด เป็น strategic location ของโคเวสโตร จากที่มีฐานการผลิตของโคเวสโตรที่กระจายอยู่ใน 50 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานรวม 18,000 คน ก็จะมีศูนย์การผลิตที่มีขนาดใหญ่ติดอันดับโลกอยู่ 8 ประเทศ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งใน 8 นั้น

“โคเวสโตรวางให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในอาเซียน มีโรงงานและมีพนักงานมากที่สุด ทั้งยังมีหลายฟังก์ชั่นสำหรับดูแลในภูมิภาคอาเซียน เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายโลจิสติกส์ และอีกหลายฝ่ายอยู่ในประเทศไทย โดยเราผลิตสินค้านวัตกรรมด้านพลาสติกต่าง ๆ ที่เป็นโพลิเมอร์เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

เราให้ความสำคัญกับเรื่องการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม มีพนักงานที่ทำด้านวิจัยและพัฒนามากกว่า 1,500 คนทั่วโลก วิสัยทัศน์ของเราต้องการ Become fully circular และประกาศวิสัยทัศน์มาเมื่อกลางปี 2020 มันก็ได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และการทำงานเพื่อให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ใหม่”

อนึ่ง โคเวสโตรเข้ามาดำเนินการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 1962 เพิ่งเปลี่ยนมาเป็น โคเวสโตร 6 ปีก่อนหน้านี้ อยู่ในกลุ่มของไบเออร์ มีการขยายโรงงานมาได้เรื่อยจนถึงปัจจุบันมีศูนย์การผลิตที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งประกอบไปด้วย 6 โรงงานย่อย และมีห้องปฏิบัติการทดสอบและพัฒนาผลิตภัณฑ์โพลียูรีเทนที่นิคมอุตสาหกรรมบางปู มีพนักงาน 709 คน

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ซัพพลายให้ตลาดก็มีครบถ้วนทั้งโพลิคาร์บอเนต โพลียูรีเทน สารยึดเกาะและสารเคลือบต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ สำหรับใช้ในแอปพลิเคชั่นพิเศษ

ทั้งนี้ ปัจจุบันธุรกิจโคเวสโตรแบ่งออกเป็น 2 เซ็กเมนต์ คือ เพอร์ฟอร์แมนซ์แมททีเรียล โพลิคาร์บอเนต โพลิยูรีเทน ก็อยู่ในกลุ่มนี้ กลุ่มที่ 2 เป็น Solutions & Specialties ซึ่งเป็นสินค้ากลุ่มที่มีคุณลักษณะพิเศษ เช่น ฟิล์มชนิดพิเศษ (Specialty Films) ก็มีโรงงานผลิตอยู่ที่มาบตาพุด

ซึ่งจะนำไปใช้ในบัตรประชาชน พาสปอร์ต และใช้ในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานที่ผลิตค่อนข้างมากแล้วก็ซัพพลายไปให้กับทั่วโลก และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องเติบโตดีมาก

รายได้ปี’64 ทุบสถิติ

ดร.สลาวินสกี้กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจในปี 2564 ที่ผ่านมา โคเวสโตรปิดยอดขายที่ 16,000 ล้านยูโร หรือ 586,400 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งที่ 2 นับจากก่อตั้งบริษัทมา และยังมีผลกำไรที่เติบโตเป็น 2 เท่าของปีที่ผ่านมาด้วย ถือว่าปี 2564 เป็นปีที่ดีของเรา และถือว่าเป็นปีที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย โดยมียอดขายที่เติบโตขึ้นในทุกเซ็กเมนต์

โดยเฉพาะสินค้าหลักคือ โพลิคาร์บอเนต ซึ่งต้องบอกว่าสินค้านี้มีคุณภาพดีที่สุดในโลก เราผลิตที่มาบตาพุด โดยเป็น regional hub ไม่ได้ขายเฉพาะในประเทศ แต่เรายังส่งออกไปในหลายภูมิภาค สัดส่วนประมาณมากกว่า 50% และยังมีผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อย่างโพลิยูรีเทน หรือสารเคลือบต่าง ๆ ที่ผลิตเพื่อทำตลาดขายในประเทศไทยด้วย

“แม้ว่าจะเป็นปีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด แต่อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้หรือดีมานด์ของตลาดค่อนข้างเติบโตจากกลุ่มความต้องการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ก่อสร้าง เพราะคนมองว่าควรจะใช้ช่วงเวลานี้ในการต่อเติมหรือการก่อสร้าง

รวมถึงการเติบโตสินค้าที่ใช้กับกลุ่มการแพทย์มีความต้องการสูง และเราก็สามารถซัพพลายสินค้าได้อย่างเต็มที่ เต็มกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการป้องกันโควิดในโรงงานซึ่งเรามีพนักงานที่ฉีดวัคซีนแล้วเกือบ 100% ให้ทุกอย่างสามารถดำเนินการผลิตได้ในทุกส่วนต่อเนื่อง”

“แนวโน้มธุรกิจปี 2565 ปัจจัยหลักหนึ่งก็คือ ความท้าทายเรื่องโลจิสติกส์ ซึ่งมันจะมีผลกับการได้วัตถุดิบในการผลิตสินค้า แต่เบื้องต้นยังสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างไม่มีปัญหา และเรื่องของการส่งออกก็ประสบปัญหาเรื่องโลจิสติกส์เช่นเดียวกัน แต่เราก็สามารถบริหารจัดการได้อย่างราบรื่น ซึ่งที่มาบตาพุดก็ยังสามารถดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มกำลัง

ส่วนปัญหาเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่กระทบตลาดหลัก แต่มีผลกระทบทางอ้อมต่อราคาพลังงาน ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเชื่อมโยงกับราคาวัตถุดิบของเรา ซัพพลายสต๊อก และปัจจัยหนึ่งต้องติดตามเรื่องการล็อกดาวน์ของจีนที่อาจจะมีผลต่อสินค้าด้วย”

ขึ้นโรงงานใหม่

ดร.สลาวินกี้กล่าวถึงแผนการลงทุนว่า ขณะนี้บริษัทกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนพัฒนาการผลิตฟิล์มชนิดพิเศษ (specialty film) ที่มาบตาพุด ซึ่งจะใช้วัตถุดิบคือโพลิคาร์บอเนตเป็นหลัก นำมารีดให้เป็นแผ่นบาง ๆ ในลักษณะที่เป็นฟิล์ม เพราะสินค้ากลุ่มนี้กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดในการผลิตบัตรประชาชน พาสปอร์ต ใช้ฟิล์มนี้ในการเคลือบบัตร

“ตอนนี้พยายามจะขออนุมัติบริษัทแม่ให้พิจารณาโครงการนี้ให้มาลงทุนที่มาบตาพุด เพื่อให้ขยายการลงทุนมาที่ประเทศไทย โครงการนี้จะมีการลงทุนไม่น้อยกว่าโครงการอีลาสโตเมอร์ก่อนหน้านี้เลย อีกโปรเจ็กต์หนึ่งเป็นโครงการลงทุนในระยะยาว 5 ปี ระหว่างปี 2025-2030 คือ การขยายกำลังการผลิตของโรงงานโพลิคาร์บอเนตที่มาบตาพุด ซึ่งโครงการนี้หากจะมาลงทุนจริง ๆ จะมีขนาดมากกว่า 100 ล้านยูโร หรือกว่า 3,600-3,700 ล้านบาท แน่นอน เป็นหนึ่งในโครงการหลัก

ตอนนี้เรามีพื้นที่พร้อมหมดแล้ว ขณะนี้ทางเราอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ และเตรียมรายละเอียดของโครงการเพื่อเสนอบริษัทแม่ให้ตัดสินใจมาลงทุนที่เมืองไทย การลงทุนโครงการนี้เราจะนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน โดยจะนำเทคโนโลยีล่าสุดมาใช้ในกระบวนการผลิตที่มาบตาพุด”

ขณะเดียวกันในไตรมาส 3 ปีนี้ โรงงานอีลาสโตเมอร์แห่งใหม่ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ลงทุนต่อเนื่อง 5 ปีของเราที่ได้ขยายการลงทุนในมาบตาพุดจะแล้วเสร็จ โรงงานแห่งนี้จะถือว่าเป็นโรงงานที่ 2 ของโคเวสโตรทั่วโลก รองจากโรงงานแห่งแรกที่อยู่ในเยอรมนี ขณะนี้การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมาก น่าจะเสร็จสมบูรณ์ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ เป้าหมายต้องการขยายกำลังการผลิตเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

เปิดไลน์ผลิต รง.อีลาสโตเมอร์

นายชัยยุทธ แจ้งเจนรบ ผู้จัดการโรงงานโพลิคาร์บอเนต บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับโรงงานอีลาสโตเมอร์ หรือยางสังเคราะห์ที่ทนความร้อนและทนแรงกระแทกได้ดี ถือเป็นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่โปรเจ็กต์หนึ่งที่โคเวสโตรลงทุน แพลนต์นี้เป็นแผนที่ 2 ที่ตัดสินใจลงทุนนอกบริษัทแม่คือ เยอรมนี

ชัยยุทธ แจ้งเจนรบ

“เมื่อโรงงานนี้ก่อสร้างเสร็จในไตรมาส 3 จากนั้นไตรมาส 4 จนถึงต้นปี 2566 จะเริ่มทดลองเครื่องจักรตามแผนที่วางไว้ หากสำเร็จ สินค้าชนิดนี้จะเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการสูง แล้วก็เป็นโปรเจ็กต์ที่มีความสำคัญสำหรับเรามาก เป็นสินค้าที่สามารถนำไป support ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย เป็นชิ้นส่วนของอุปกรณ์ในรถยนต์ ซึ่งเรากำลังโฟกัสที่โปรเจ็กต์นี้อย่างเต็มที่ มีการใช้งบประมาณลงทุนเบื้องต้นประมาณ 50 ล้านยูโร หรือ 1,800-1,900 ล้านบาท กำลังการผลิตเรียกได้ว่าเป็นอันดับ 2 ของโลก”

กางแผนลงทุนต่อ

ขณะเดียวกันตอนนี้บริษัทกำลังทำคอมพาวน์ดิ้ง ซึ่งจะเป็นส่วนขยาย โดยจะรับตัวโพลิคาร์บอเนตไปเอาไปปรับปรุงคุณภาพให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น ให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ซึ่งเป็นที่ต้องการของลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพ ซึ่งก็มีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอาเซียน เป็นตลาดที่มีความต้องการสูง โคเวสโตรก็สนใจที่อยากจะลงทุน

“ตอนนี้เรามีโรงงานอยู่แล้ว แต่เราก็เสนอเพื่อขยายการลงทุนในโรงงานนี้โดยได้รับการอนุมัติจากบริษัทแม่ที่เยอรมนีแล้ว กำลังจะเริ่มโครงการขยายกำลังการผลิตในฐานที่มาบตาพุดเหมือนกัน คาดการณ์ว่าการก่อสร้างจะสิ้นสุดลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หรือ 2023-2024

ซึ่งกระบวนการพิจารณาขออนุมัติต่าง ๆ เป็นไปได้ด้วยดี และได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่ในเรื่องของการก่อสร้างและผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงได้รับการอนุมัติจากในส่วนของไทย บีโอไอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทันกับไทม์ไลน์ที่เราต้องการ”