“กฤษฎา” รับโจทย์ “สมคิด” ปฏิรูปเกษตร-ลด พท.ปลูกยาง-เกษตรเข้มแข็ง

สถานการณ์สินค้าเกษตรตกต่ำ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก การปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีเกษตรฯที่รับผิดชอบมาเป็น “กฤษฎา บุญราช” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ก่อนนับถอยหลังสู่การเลือกตั้งในอีกประมาณ 1 ปีข้างหน้า จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาตั้งแต่การผลิต ถึงการตลาดแบบครบวงจร

Q : นโยบายเร่งด่วน

ล่าสุดเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ท่านสมคิด (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี) ให้นโยบายเพิ่มเติม 3 เรื่อง คือ 1.ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เตรียมแผนปฏิบัติการโครงการปฏิรูประบบเกษตรไทย ต่อไปนี้ข้าราชการจะแนะนำให้ชาวบ้านปลูกหรือเลี้ยงสัตว์อะไร ต้องรู้คำนวณดีมานด์ให้ชัดเจน พื้นที่มีเท่าไหร่ ไม่ใช่ไปแนะนำแล้วไม่มีตลาดรองรับให้ ต้องวางแผนการปลูกกับแผนการขายให้สอดคล้องกัน โดยผมได้ประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) เพื่อร่วมมือกัน โดยจัดให้ “เกษตรจังหวัด” จับคู่กับ “พาณิชย์จังหวัด” มาประชุมร่วมกันเป็นครั้งแรก เมื่อรัฐมนตรี 2 กระทรวงควงแขนมาบูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อให้ข้าราชการเริ่มต้นปรับความคิดมาทำงานร่วมกัน

เช่น สมมุติในตลาดกำลังต้องการกล้วย เกษตรกรไม่แน่ใจว่าปลูกแล้วจะขายใคร พาณิชย์จังหวัด และเกษตรจังหวัด ช่วยกันเข้าไปสร้างความมั่นใจ และควรมีกระทรวงอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมเพื่อผลักดันเรื่องการแปรรูป และกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา เพื่อปรับสวนเกษตรบางแห่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ต้องเสริมให้มาเชื่อมโยงกัน

2.ท่านสมคิดบอกให้ไปคิดให้เบ็ดเสร็จ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายให้ลดพื้นที่การปลูกยางพารา การปลูกข้าว ชาวบ้านเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง ให้ไปหาวิธีคุยกับชาวบ้านให้เชื่ออย่างมีเหตุผล โดยรัฐอาจจะต้องยอมลงทุนแสดงให้เห็นชัดเจน สมมุติข้าวที่ชาวบ้านปลูกขายได้ไร่ละ 5,000-6,000 บาทต่อไร่ โครงการใหม่ที่จะทำอาจจะต้องยอมเช่าที่ดินนี้จากชาวบ้าน และจ่ายเงินให้ตามที่ชาวบ้านเคยได้ หลังจากนั้นจะนำที่ดินตรงนี้มาปลูกพืชตามดีมานด์ของตลาดที่มีแผน ให้ชาวบ้านเห็น ยกตัวอย่าง ถ้าเปลี่ยนจากปลูกข้าวมาปลูกกล้วยหอมจะมีรายได้ต่อไร่เพิ่มขึ้น พอฤดูกาลผลิตต่อไป ชาวบ้านจะหันมาลงทุนปลูกกล้วยหอมเอง ท่านสมคิดให้กระทรวงเกษตรฯไปคิดให้เป็นสเกลใหญ่ ให้มีผลต่อการแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ล้นตลาด โดยรัฐบาลมีงบประมาณกลางปี 2561 ให้ประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท

3.ในส่วนงบประมาณกลางปี 2561 ให้ใช้งบประมาณส่วนหนึ่งมาใช้พัฒนาองค์กรเกษตรกรที่เข้มแข็งแล้ว ให้มีความรู้ หรือต่อยอดสินค้าเกษตรที่ทำอยู่ โดยเฉพาะการนำศาสตร์พระราชาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การทรงงานของในหลวง ร.9 มาใช้ และทำให้ดูเป็นตัวอย่าง แต่ไม่ใช่ไปทำทั้งหมดให้ชาวบ้าน ต่อไปการทำเกษตรต้องทำให้ชาวบ้านเห็นจริงจัง แต่ยอมรับว่า การปรับเปลี่ยนนิสัย หรือความเชื่อของชาวบ้านเป็นเรื่องยาก แต่ต้องพยายามทำ

ดังนั้น สิ่งที่จะเน้นข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ คือ ให้มีความรับผิดชอบต่อประชาชนจริง ๆ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ เวลาทำงานจะแยกส่วนทำงานไม่ได้แล้ว เราจะปรับทีมข้าราชการกระทรวงเกษตรฯที่อยู่ในพื้นที่ 30,000 กว่าคนมาใน 76 จังหวัด ได้มาทำงานเชื่อมโยงร่วมกัน เห็นได้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ท่านจะนำนักวิชาการแต่ละแผนกลงไปทำงานอยู่ด้วย ทั้งด้านคน พืช สัตว์ ทางกระทรวงเกษตรฯจะทำแบบเดียวกัน

Q : เกษตรกรที่จะเข้าโครงการ

จะคัดเลือกจากฐานข้อมูลทะเบียนคนจนของกระทรวงการคลัง ที่มีเกษตรกรจำนวน 3.96 ล้านคน ที่ยากจนและมีรายได้ 30,000-100,000 บาท/ปี ที่ลงทะเบียนไว้ โดยจะนำคน 3.9 ล้านคนมาดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง ผมบอกให้ข้าราชการแยกคุณสมบัติของเกษตรกรออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1.เกษตรกรที่มีความรู้ความสามารถ ขยัน ขันแข็ง 2.เกษตรกรทำพอเลี้ยงชีพ มีรายได้ไม่เพียงพอ ไม่มีความรู้เรื่องการใช้เครื่องจักรเทคโนโลยี โดยกลุ่มที่เข้มแข็งจะไปเติมความรู้ประเภทหนึ่ง เกษตรกรที่เป็นชาวบ้านอยู่ห่างไกลต้องทำอีกวิธีการหนึ่ง โดยจะกระจายไปทุกภาค ภายใน 3 เดือนจะเห็นว่ากระทรวงเกษตรฯจะทำอย่างไรกับเกษตรกร ส่วนผลจะเป็นอย่างไรคงเริ่มเห็นในไตรมาสที่ 2 หรือไตรมาสที่ 3 ของปี 2561

Q : แก้ปัญหายางพาราตกต่ำ

ล่าสุดได้ออก 3 มาตรการ ทั้งระยะกลาง-ยาว จะดูว่าแต่ละแห่งจะทำอาชีพอย่างอื่นได้หรือไม่ แนวโน้มที่จะแปรรูปต่าง ๆ ปีหน้าจะมีมากขึ้น ต้องไปดูเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้เป็นกลุ่มจะมีความสามารถปั่นน้ำยางสดให้มาทำยางแผ่นเพิ่มมูลค่า

ส่วนระยะยาวในเมื่อไทยส่งออกยางพารามากที่สุด และพ่อค้าไทยมีเครือข่ายมากกว่าประเทศอื่น ต่อไปจะทำอย่างไรให้ตลาดยางไทยเป็นตลาดหลักของโลก เพราะเวลาอ้างอิงราคายางจะมาจาก 3 ประเทศ คือ ตลาดโตคอม ญี่ปุ่น ตลาดเซี่ยงไฮ้ของจีน และตลาดไซคอมสิงคโปร์ ปรากฏว่าประเทศเหล่านี้ไม่มียางเลย ผมกำลังศึกษา ทำยังไงจะพัฒนาตลาดยางไทยเป็นตลาดยางหลัก ผมว่าท้าทายมาก

ในเร็ว ๆ นี้จะเชิญพ่อค้ายาง 5 รายหลักมาคุยอีก วันนี้ราคายางขึ้นมาเรื่อย ๆ จาก กก.ละ 39-41 บาท เป็น กก.ละ 44-45 บาท แต่ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าผมเก่งนะ คือต้องดูเรื่อย ๆ ว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ต้องดูข้อมูลว่า ประเทศอื่นปลูกยางมากขึ้นจริงหรือไม่ ไทยส่งออก 3 ล้านกว่าตัน เหมือนกับว่าไม่ล้นตลาด แต่มีการซื้อขายล่วงหน้าเก็งกำไรกันมาก ระยะยาวต้องมาดูกันว่าจะวางแผนอย่างไร รวมทั้งพืชเกษตรหลายตัว

ส่วนระยะเร่งด่วน คือ มาตรการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐที่มีงบประมาณปี 2561 พร้อมซื้อแล้ว 9 หมื่นตันแห้ง หรือคิดเป็นน้ำยางสด 1.8 แสนตัน จะช่วยลดซัพพลายได้มาก จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ขอกู้เงิน 1.2 หมื่นล้านบาทจากสถาบันการเงินมารับซื้อน้ำยางจากชาวสวน แล้วให้หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท แก้สเป็กในทีโออาร์มาซื้อยางจาก กยท.ในส่วนถนนที่ไม่ใช่สายหลัก นี่เฉพาะปี 2561 และหากดูดออกมาได้ 1 แสนตันแห้ง ถ้าเวิร์กก็เพิ่มเติมเข้าไปอีก

Q : ความคืบหน้าแก้ไอยูยู

สิ่งที่สหภาพยุโรป (อียู) ทักท้วงมา 2 ปีกว่า รัฐบาลแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) มาในระดับหนึ่งแล้ว แต่เมื่อเราออกกฎหมาย พ.ร.ก.การประมง 2558 ชาวประมงอ้างว่าเราออกกฎไปเกินกว่าที่อียูทักท้วง เกิดความเสียหายแก่ชาวประมงมาก แนวทางของผมคือ ให้ไปจัดตั้งตัวแทนสมาคมชาวประมงมา ส่วนผมจะมอบหมายท่านนิวัตน์ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีและอดีตอธิบดีกรมประมง เป็นหัวหน้าฝ่ายรัฐมานั่งคุยกัน แล้วเอาข้อเรียกร้องมาดู เช่น จำนวนวันประมง ผ่อนผันและขยาย หรือเรือที่ทำผิดกฎหมาย ระหว่างอุทธรณ์ จะทำอย่างไร สรุปเราเดินมาถูกทางแล้วเพียงแต่ให้ทั้งสองฝ่ายมาคุยกัน

ส่วนเรื่องประเด็นซื้อเรือคืน แต่ละปีจะมีการเอาเรือไปจมสร้างปะการังเทียม มีงบฯแต่ละปีประมาณ 30 ล้านบาท ไปซื้อเรือเก่า คือซื้อเปลือกเรือ ไม่เอาเครื่องมือ และขณะนี้อธิบดีกรมประมงกำลังเดินทางไปบรัสเซลส์ เบลเยียม ต้องรอฟังผล ที่มีการกล่าวว่าอียูเน้นเรื่องประเด็นคดีความที่ล่าช้า ท่านนายกรัฐมนตรีให้ผมไปดูว่าติดขัดเรื่องอะไร อย่างไร