PERMAเจ๋งรับรางวัลนวัตกรรม พัฒนา”เส้นใยแอนติแบคทีเรีย”รุกตลาด

นวัตกรรมเส้นใยผ้า - นายไชยยศ รุ่งเจริญชัย ซีอีโอ บริษัท PERMACORPORATION จำกัด (คนซ้าย) รับรางวัล International Innovation Award จากพัฒนานวัตกรรมการผลิตเส้นใยไฟเบอร์ที่เป็นเพอร์มาเนนซ์แอนติแบคทีเรีย

“PERMA” ผู้ผลิตผ้าไทยสุดเจ๋งผลิตเส้นใยไฟเบอร์เป็น “เพอร์มาเนนซ์แอนติแบคทีเรีย” รับรางวัลนวัตกรรมสากล เตรียมผนึกเครือสหพัฒน์-เสื้อเด็กอองฟองต์ ทำตลาดในประเทศ พร้อมรุกตลาดเสื้อผ้าอินเตอร์แบรนด์ เล็งต่อยอดนวัตกรรมผสมกับไฟเบอร์เพิ่มฟังก์ชั่น “cross section fiber”

นายไชยยศ รุ่งเจริญชัย ซีอีโอ บริษัท PERMA CORPORATION จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทประสบผลสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมการผลิตเส้นใยไฟเบอร์ที่เป็นเพอร์มาเนนซ์แอนติแบคทีเรีย ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษคือ แห้งง่าย ลดความอับชื้น ลดปัญหาเรื่องกลิ่น สามารถป้องกันยูวีได้ 25% ภายใต้แบรนด์ “PERMA” จึงได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ประกอบการ 1 ใน 2 รายจาก 30 รายที่ได้รับรางวัล International Innovation Award (นวัตกรรมสากล) จากสถาบันเอ็นเตอร์ไพรส์ เอเชีย ที่ประเทศจีนเมื่อเร็ว ๆ นี้ และแสดงวิสัยทัศน์ในฐานะ success story

ส่วนสเต็ปต่อไปมองถึงการพัฒนานวัตกรรมผสมกับไฟเบอร์ตัวอื่นเพื่อเพิ่มฟังก์ชั่น หรือ cross section fiberซึ่งเป็นการผสมเพื่อให้ได้คุณสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น เพิ่มความแห้งเร็ว (ควิกดราย) เพิ่มขึ้นมาก จากเดิมเป็นแอนติแบคทีเรีย เป็นต้น

สำหรับรางวัล International Innovation Award นี้ คัดเลือกจากประเทศสมาชิกที่อยู่ในทวีปเอเชีย โดยใช้การส่งสินค้าเข้าไปประกวด แต่ทางทีมคณะกรรมการจะคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในตลาดต่าง ๆ ในลักษณะสุ่มสินค้าเป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด ซึ่งปีนี้มีผู้ประกอบการไทยผ่านคุณสมบัติทั้งหมด 10 ราย และยังมีกลุ่ม CSR และ CRM รวมเป็น 30 ราย

จุดเริ่มต้นการพัฒนามองแนวโน้มความต้องการของตลาดผ้าในอีก 3-4 ปีข้างหน้า มีการแข่งขันสูง หากไม่พัฒนาต่อยอดตลาดจะเล็กลงไปเรื่อย ๆ ประกอบกับเห็นทิศทางการเติบโตของสินค้ากลุ่มผ้าทางเลือก หรือ functional textile ในต่างประเทศเกิดมาพักหนึ่งแล้ว แต่ไทยยังมีไม่มาก มีช่องว่างในตลาดดังกล่าว เส้นใย PERMA สามารถนำไปใช้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม ทั้งเสื้อผ้าเด็ก ผ้าปูที่นอนขจัดเชื้อแบคทีเรีย เสื้อผ้ากีฬา ที่นอนสัตว์เลี้ยง ถุงเท้า ชุดชั้นในผู้หญิงผู้ชาย ซึ่งบริษัทได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)

“เราใช้เวลาพัฒนาเส้นใยชนิดนี้ 3.5-4 ปี ลงทุนไปหลายสิบล้านบาท โดยวัสดุใช้นาโนซิงก์ออกไซด์ผสมในเส้นใยโพลิเมอร์ แล้วนำมาผลิตเป็นเส้นใย จึงได้คุณสมบัติเรื่องความคงทนถาวร ไม่ว่าจะซักกี่ครั้ง และไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม จากเดิมผู้ผลิตเส้นใยส่วนใหญ่มักใช้การเคลือบ ซึ่งหลุดหายหลังผ่านการซัก 5-20 ครั้ง บางรูปแบบมีสารที่ทำให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและคน

ทั้งนี้ นาโนซิงก์ออกไซด์เดิมมีการใช้สารนี้ผสมในสินค้ากลุ่มเครื่องดื่ม ยารักษาโรค และเครื่องสำอางมานานแล้ว เป็นสารที่ผ่านการรับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลังจากนี้ต้องเปลี่ยนการทำตลาด ต้องเปลี่ยนองคาพยพทั้งหมด จากเดิมเป็นธุรกิจในครอบครัว” นายไชยยศกล่าว

สำหรับแผนการตลาดของ PERMA ได้ประสานกับทางสหพัฒนพิบูล ผ่านบริษัทเอราวัณ โดยทาง PERMA จะส่งผ้าให้กับแบรนด์ “Arrow” นำไปผลิตเสื้อเชิ้ต ซึ่งผู้บริโภคไม่ต้องกังวลว่าผ้าที่ดีมีนวัตกรรมจะมีราคาสูง เพราะเท่าที่ประเมินผู้ผลิตเสื้อสามารถจำหน่ายได้ในราคาตัวละ 1,000 บาท ใกล้เคียงเสื้อที่จำหน่ายในตลาดทั่วไป และมีแผนจะเชื่อมโยงกับผู้ผลิตเสื้อผ้าเด็กแบรนด์อองฟองต์ (Enfant) นอกจากนี้ บริษัทเริ่มทำตลาดส่งออกไปญี่ปุ่น ฝรั่งเศส สหรัฐ โดยเจาะเข้าไปในอินเตอร์เนชั่นแนลแบรนด์

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าภาพรวมยอดขายปี 2560 ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่หากแยกรายชนิดสินค้า พบว่ามีการขยายตัวบางประเภท เช่น เสื้อผ้ากีฬา ส่วนแนวโน้มปี 2561 คงเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มสหพัฒน์ และเสื้อผ้าเด็กอองฟองต์

นายไชยยศได้ให้มุมมองในการพัฒนาสินค้านวัตกรรมว่า สิ่งแรกต้องประเมินความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่คิดอยากทำเพียงอย่างเดียว หลังจากนั้นคำนวณเรื่องต้นทุนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะมีต้นทุนเท่าไร หากต้นทุนสูงมากไม่มีโอกาสจะทำตลาดได้ กลายเป็นงานขึ้นบนหิ้งอย่างเดียว

“ผู้ผลิตเสื้อมีต้นทุนคุ้ม ของเราขายได้ก็จบ หัวใจสำคัญต้องมองว่าเราขายได้หรือไม่ หรือคู่แข่งเป็นอย่างไร เรามีอะไรเหนือคู่แข่ง มองไปถึงอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้า การพิจารณาตัดสินใจลงทุนโดยตัวเราเอง อาศัยจากประสบการณ์ในอุตสาหกรรม ส่วนราคาขึ้นกับโพซิชันนิ่งของแบรนด์ที่นำไปตัดเย็บเป็นระดับไหน เพราะสามารถนำไปใช้ผลิตเสื้อผ้าที่มีนวัตกรรมเส้นใย สร้างมูลค่าเพิ่มได้”