ธุรกิจฟื้นแจกโบนัสสะพัด ค่ายรถ-อสังหาอู้ฟู่5-7เดือน

ธุรกิจฟื้นจ่ายโบนัสคึกคัก โตโยต้า-ฮอนด้า-อีซูซุ-มิตซูบิชิ 7-7.9 เดือน รับยอดขายเข้าเป้า มาสด้า เซอร์ไพรส์ ให้ล่วงหน้าสำหรับจับจ่ายช่วงปีใหม่ ท็อปไฟฟ์อสังหาฯ “เอพี-แสนสิริ-อนันดา-โกลเด้นแลนด์-ศุภาลัย” ไม่น้อยหน้า ซื้อใจพนักงาน 5-6 เดือน ส่วนแบงก์-ค่ายมือถือแจกทั้งโบนัส โบนัสพิเศษ เงินสวัสดิการ ชี้เน้นให้โบนัสตามผลงาน-ปรับสวัสดิการจูงใจ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นหลังชะลอตัวมานาน กับกำลังซื้อผู้บริโภคฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทำให้ยอดขายและรายได้ของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลากหลายสาขาเติบโตกว่าที่คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปี ประกอบกับเชื่อมั่นว่าปี 2561 ทิศทางเศรษฐกิจยังขยายตัวต่อเนื่อง จะทำให้ผลประกอบการและกำไรมีเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงาน องค์กรธุรกิจหลายแห่งใช้โอกาสช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ประกาศแจกโบนัส ให้เงินพิเศษ เงินสวัสดิการ รวมทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนเป็นการตอบแทน

โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ปีนี้คึกคักมากเป็นพิเศษ เช่นเดียวกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่แม้ปีนี้ตลาดที่อยู่อาศัยทั้งระบบจะชะลอตัว แต่บริษัทพัฒนาที่ดินบางรายกลับปั้นยอดขายได้แบบสวนกระแส โดยเฉพาะค่ายอสังหาฯท็อปไฟฟ์

ส่วนกลุ่มสถาบันการเงินทั้งธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ มีทั้งจ่ายโบนัสให้แบบการันตี จ่ายโบนัส โบนัสพิเศษ เงินช่วยเหลือ เงินสวัสดิการผลตอบแทน กับจ่ายตามยอดรายได้ผลประกอบการ และผลงานหรือความสามารถของพนักงาน

ค่ายรถอู้ฟู่โบนัส 7.9 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจโบนัสที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์มอบให้กับผู้บริหารและพนักงาน แม้ปีที่ผ่านมากับปีนี้ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนเผชิญกับปัจจับลบหลายด้าน ภาวะการขายรถยนต์หดตัวลง แต่ยังคงมีการจ่ายโบนัสเป็นปกติ โดยเฉพาะปีนี้ตลาดรถยนต์กลับมาฟื้นตัว จะทำให้แต่ละค่ายยอมทุ่มซื้อใจพนักงานกันเต็มที่

เริ่มจากค่ายโตโยต้า กำหนดจ่ายโบนัสในอัตรา 7.5 เดือน แบ่งจ่ายเป็น 2 รอบ คือ เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา 3.5 เดือน และในเดือน ธ.ค.นี้อีก 3 เดือน บวกเพิ่มเงินพิเศษมูลค่า 20,000 บาท เช่นเดียวกับค่ายฮอนด้า ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จ่ายโบนัส 7.5 เดือน บวกเงินพิเศษ 25,000 บาท ค่ายมิตซูบิชิกำหนดโบนัสไว้ 7 เดือน บวกเพิ่มเงินพิเศษ 35,000 บาท ใกล้เคียงกับอีซูซุที่เตรียมโบนัสให้พนักงาน 7.9 เดือน บวกเพิ่มเงินพิเศษเช่นเดียวกัน

จ่ายล่วงหน้าให้จับจ่ายรับปีใหม่

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปีนี้ยอดขายมาสด้าดีมาก ทำได้เกินเป้าที่กำหนด ดังนั้นการจ่ายโบนัสน่าจะอยู่ในเกณฑ์ 6 เดือน และจะมีคำนวณเพิ่มเติมจากความสามารถอื่น ๆ ซึ่งปกติมาสด้าจะจ่ายตามปีงบประมาณแบบญี่ปุ่น คือ เริ่มจ่ายเดือน เม.ย. แต่มาสด้าอนุมัติจ่ายก่อนในเดือน ธ.ค.นี้ เพื่อให้พนักงานได้มีเงินไปจับจ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ค่ายซูซูกิอนุมัติแล้วสำหรับเงินโบนัส โดยพิจารณาให้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 6 เดือน พร้อมบวกเงินพิเศษอีก 28,500 บาท ขณะที่นิสสันยังอยู่ระหว่างพิจารณา แต่คาดว่าน่าจะราว ๆ 6 เดือนเช่นกัน ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท โดยจะสรุปอีกทีเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2560 คือ เดือน มี.ค. 2561 แต่เดือน ธ.ค.นี้ บริษัทได้มอบเงินโบนัสให้กับพนักงานในอัตรา 1 เดือนก่อน ส่วนพนักงานระดับบริหารจะได้ในอัตรา 1.5 เดือน

ไม่ต่างจากค่ายฟอร์ด ที่จะปิดปีงบประมาณราวเดือน มี.ค.ปีหน้า กำหนดมอบโบนัสพิเศษให้กับพนักงาน 1 เดือน เป็นอัตราฟิกซ์ปกติ ส่วนเงินโบนัสประจำปีต้องรอดูผลประกอบการทั้งปีอีกครั้ง คล้าย ๆ กับค่ายเชฟโรเลต

“ส่วนค่ายรถยนต์ที่ได้น้อยที่สุดตอนนี้น่าจะเป็นค่ายเอ็มจี ในกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ กำหนดให้เงินโบนัส 2 เดือน” ผู้สื่อข่าวรายงาน

อสังหาฯแจก 5-6 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปีนี้มีบริษัทมหาชนหลายรายที่มีผลงานโดดเด่น ทั้งในด้านยอดขาย และยอดรับรู้รายได้ โดยมีอย่างน้อย 5 ราย ที่สามารถทำยอดขาย (พรีเซล) สูงเกินเป้าที่ประกาศไว้ตอนต้นปีจนต้องมีการปรับเพิ่มเป้า ได้แก่ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์), แสนสิริ, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, โกลเด้นแลนด์, ศุภาลัย ทำให้คาดว่าในภาพรวมของวงการ อัตราการจ่ายโบนัสตอบแทนพนักงานน่าจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

แหล่งข่าวจาก บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า ปีที่แล้วพนักงานได้โบนัสเฉลี่ยคนละ 5 เดือน สำหรับปีนี้มีผลดำเนินงานเป็นบวกหลายด้าน โดยเฉพาะยอดพรีเซลจากเดิม 14,500 ล้านบาท มีการปรับเป้าเป็น 20,000 ล้านบาท ทำให้แนวโน้มโบนัสปีนี้ไม่ต่ำกว่าเดิม อย่างน้อยเฉลี่ยคนละ 6 เดือน

เช่นเดียวกับ บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท ระบุว่า ปีนี้เป้ายอดพรีเซล 53,000 ล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปีผลดำเนินการอาจต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย แต่ยังเกิน 50,000 ล้านบาท โดยปีที่แล้วได้รับโบนัสเฉลี่ย 6 เดือน คาดว่าปีนี้มีโบนัสใกล้เคียงกัน

ในขณะที่แหล่งข่าวจาก บมจ.แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเม้นท์ ระบุว่า โบนัสปีที่แล้วเฉลี่ย 5 เดือน ปีนี้ผลดำเนินงานทรงตัว ในด้านยอดพรีเซลมีการปรับลดจาก 20,000 ล้านบาท เหลือเป้า 16,000 ล้านบาท และคาดว่าทำได้ตามเป้าที่ปรับใหม่ จึงคาดว่าโบนัสปีนี้อาจได้ใกล้เคียงปีที่แล้ว

แบงก์กรุงไทยให้เงินสวัสดิการ

สำหรับการจ่ายโบนัสของสถาบันการเงิน นายผยง ศรีวนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า โบนัสประจำปี 2560 ของธนาคารกรุงไทย ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการธนาคาร ว่าจะมีหรือไม่ ซึ่งก็ต้องพิจารณาจากสถานะการดำเนินงานของธนาคารด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรุงไทยมีการจ่ายผลตอบแทน โดยไม่ได้อยู่ในรูปเงินโบนัส แต่จ่ายให้เป็นเงินสวัสดิการผลตอบแทนของพนักงาน ซึ่งจะจ่ายในช่วง มี.ค.ของทุกปี แต่ละคนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความสามารถ หรือผลงานของแต่ละคน แต่เฉลี่ยแล้วให้เงินตอบแทนเฉลี่ยแล้ว 3 เดือน

แบงก์แจกโบนัส-โบนัสพิเศษ

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ มีการรายงานว่าจะจ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงานในอัตราคงที่ต่อเนื่องมาหลายปี โดยคิดเป็นเงินโบนัส 2 เดือน โดยแบ่งจ่ายเป็นสองรอบ คือ จ่าย 1 เดือนในงวด ธ.ค.ของปีนั้น ๆ ขณะที่อีก 1 เดือนแบ่งไปจ่ายในช่วง มิ.ย.ของปีถัดไปและนอกจากการจ่ายโบนัสปีละ 2 เดือน 2 ครั้งแล้ว ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ ยังจ่ายเงินโบนัสพิเศษ ให้พนักงานโดยอิงผลประกอบการธนาคาร และผลงานของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งเงินโบนัสพิเศษนี้จะจ่ายในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ของทุกปี

ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารกรุงเทพ นอกจากมีการจ่ายโบนัส และโบนัสพิเศษ แล้วยังมีการจ่ายเงินช่วยเหลือให้พนักงานของธนาคารอีก 1.5 เดือน ในแต่ละปีด้วย ซึ่งรวม ๆ แล้วธนาคารกรุงเทพจ่ายเงินโบนัส บวกเงินช่วยเหลือพนักงาน รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 3.5 เดือนในแต่ละปี

ส่วนธนาคารกสิกรไทย และธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยนั้นจะพิจารณาการจ่ายโบนัสตามผลประกอบการและผลงานแต่ละคน ซึ่งธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จ่ายโบนัสในช่วงมีนาคมของทุกปี

ค่ายมือถือให้เงินพิเศษ-โบนัส

แหล่งข่าวจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจ่ายโบนัสให้พนักงานของบริษัทโดยปกติแล้วจะพิจารณาจากผลงานโดยจะมีตัวชี้วัดหรือเคพีไอในการประเมินเข้ากับเป้าหมาย และผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละปี และที่เอไอเอสจะมีการจ่ายโบนัสในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และของปีที่แล้วที่จ่ายในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 3 เดือน

นอกเหนือจากโบนัสแล้ว ในบางปีอาจเป็นเงินเพิ่มเติมพิเศษเพื่อเป็นกำลังใจให้พนักงาน เช่น ปีก่อนหน้านี้ที่มีการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ พร้อมกับการเร่งโอนย้ายลูกค้าจากคลื่นเดิมที่หมดสัมปทานไปยังคลื่นใหม่ภายใต้ใบอนุญาตก็มีการให้เงินพิเศษเป็นหลักหมื่นบาท โดยโอนเข้าในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ “เอ็มเปย์” (mPay) ทั้งเพื่อตอบแทนพนักงานและกระตุ้นให้มีการใช้บริการอีวอลเลตเพิ่มขึ้น เป็นต้น

แหล่งข่าวจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เนื่องจากผลประกอบการของบริษัทยังไม่มีกำไร แต่เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพนักงานที่ทุ่มเททำงานอย่างหนักต่อเนื่องมาตลอด บริษัทจึงมีเงินจัดสรรพิเศษให้กับพนักงาน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 เดือน โดยมีการจัดสรรให้ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา แต่สำหรับปีใหม่ที่จะถึงนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร

จ่ายโบนัสตามผลงาน

นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ผลสำรวจอัตราโบนัสของพนักงานไทย ประจำปี 2560 เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2560 ที่ผ่านมา มีผู้ร่วมตอบแบบสำรวจเป็นพนักงาน 2,020 คน จาก 26 สายงาน และผู้ประกอบการ 322 องค์กรทุกภูมิภาค พบว่า รูปแบบการให้โบนัสมี 2 แบบ คือ แบบการันตี คิดเป็น 53% และแบบพิจารณาผลงาน 50% โดยบางบริษัทจ่ายโบนัสทั้ง 2 แบบ และคาดว่าอนาคตเทรนด์การจ่ายโบนัสจะเป็นแบบพิจารณาผลงานมากขึ้นพิจารณาธุรกิจที่จ่ายโบนัสแบบการันตี ธุรกิจยานยนต์จ่ายสูงสุดเฉลี่ย 2.33 เดือน ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ เฉลี่ย 1.31 เดือน ธุรกิจบริหารการเงิน เฉลี่ย 1.16 เดือน ธุรกิจอาหาร/เครื่องดื่ม/จัดเลี้ยง 0.89 เดือน ธุรกิจไอที 0.86 เดือน

ส่วนที่จ่ายโบนัสตามผลงาน อันดับหนึ่งธุรกิจยานยนต์สูงสุด เฉลี่ย 2.14 เดือน ธุรกิจบริหารการเงิน 1.96 เดือน ธุรกิจอุปกรณ์ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ 1.26 เดือน ธุรกิจอาหาร/เครื่องดื่ม/จัดเลี้ยง 1.11 เดือน ธุรกิจไอที 0.92 เดือน

ปรับสวัสดิการจูงใจ

ด้าน น.ส.พิชญ์พจี สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิลลิส ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจรายงานการวางแผนจัดสรรงบประมาณเงินเดือนในเอเชีย-แปซิฟิก ปี 2560 ไตรมาส 3 ซึ่งมีกลุ่มตัวอย่าง 250 บริษัท พบว่า โบนัสปี 2560 อยู่ที่ 1.8-5.5 เดือน แตกต่างกันไปตามกลุ่มอุตสาหกรรม โดยกลุ่มผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มประกันภัย จ่ายโบนัสต่ำสุด 1.8 เดือน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยของทุกอุตสาหกรรมที่ 2.4 เดือน

โดยกลุ่มบริหารสินทรัพย์ จ่ายโบนัสสูงที่สุด 5.5 เดือน รองลงมาคือ กลุ่มประกันชีวิต, การเงินการธนาคาร, อุตสาหกรรมทั่วไป 2.4 เดือน กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค และกลุ่มอุตสาหกรรมการขนส่งและโลจิสติกส์ 2.3 เดือน


นอกจากการจ่ายโบนัสแล้ว นายจ้างไทยมีแนวโน้มปรับรูปแบบสวัสดิการให้ตรงตามความต้องการของพนักงาน ลูกจ้างแรงงานมากขึ้น เช่น เพิ่มแผนดูแลครอบครัว การดูแลบุตร สวัสดิการซื้อขายวันลาหยุด แผนสวัสดิการเพื่อสภาวะการเงิน เนื่องจากนายจ้างส่วนใหญ่เชื่อว่า สวัสดิการจะเป็นตัวช่วยจูงใจพนักงานให้ผูกพันกับองค์กร และรักษาคนมีฝีมือไว้ได้