ซีอีโอ GC นำทัพ พลิกเกมโตนอกบ้านต่อยอด “ปิโตรเคมี”

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง
สัมภาษณ์พิเศษ

ปี 2565 ถือเป็นปีทองของบิ๊กธุรกิจปิโตรเคมี “บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)” หรือ GC โดยสามารถทำรายได้สูงถึง 465,128 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% มีกำไรสุทธิ 44,982.38 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีกำไรเพียง 199.61 ล้านบาท ที่สำคัญยังเป็นปีแห่งการขับเคลื่อนการลงทุนใน “ธุรกิจมูลค่าสูง” หรือ high value business (HVB) โดยใช้เงินลงทุนมหาศาลกว่า 1.48 แสนล้านบาท ขยายการลงทุนในสหรัฐตามกลยุทธ์สร้างการเติบโตนอกบ้าน

“Step Out” 1 ใน 3 กลยุทธ์ “3 Step” (Step Out-Step Change-Step Up) โดยปิดดีลระหว่าง PTTGC International (Netherlands) B.V. บริษัทย่อยที่เข้าซื้อบริษัท Allnex Holding GmbH ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสารเคลือบและสารเติมแต่งสำหรับใช้กับวัสดุทุกประเภท (coating resins) อันดับ 1 ของโลก ที่มีฐานลูกค้ามากที่สุด มีพนักงาน 4 พันคน โรงงาน 30 กว่าแห่ง มีศูนย์ R&D พัฒนาผลิตภัณฑ์อีก 20 แห่งทั่วโลก เป็นจุดแข็งที่เติมเต็ม GC ก้าวสู่การเป็นบริษัท global อย่างแท้จริง

รับรู้รายได้ Allnex

“ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC) สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” โดยคาดการณ์ภาพรวมรายได้ของบริษัทในปีนี้ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีก 2-3% จากการมุ่งหน้าสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ในโครงการ Allnex ที่เข้าไปถือหุ้น 100% เมื่อปีที่แล้ว ทำให้รายได้ กำไร EBITDA ทั้งหมดมาอยู่กับบริษัท และคาดว่าจะทำรายได้ให้ถึง 2,000 ล้านยูโรภายในปีนี้

“Allnex สามารถทำ EBITDA ได้ 300-400 ล้านยูโรถือว่าค่อนข้างคงที่ในแต่ละปี ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด เราจึงวางเป้าไว้ว่าใน 4-5 ปีข้างหน้า กำไรจาก Allnex จะเพิ่มขึ้น 50%”

และในปี 2564 ที่ผ่านมาถือเป็นปีที่ดี บริษัทเติบโตเยอะมากจากการกระจายการลงทุนไปในหลายธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ส่วนในปี 2565 กรณีน้ำมันแพงส่งผลกับธุรกิจโรงกลั่นทั้งดีและไม่ดี แต่เป็นเรื่องของอุปสงค์และอุปทาน โดยในปีนี้ธุรกิจการกลั่นมีกำไรดีกว่าปีที่แล้ว ส่วนธุรกิจอะโรเมติกส์ปีที่แล้วดี แต่ปีนี้จะไม่ดีเพราะ “ล้น” มีกำลังการผลิตใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะ

ขณะที่โพลิเมอร์จะทรง ๆ ใกล้เคียงกับปีก่อน ในแง่ความต้องการยังดี แต่ต้นทุนแพงจากราคาน้ำมันแพงกระทบราคา “แนฟทา” (บายโปรดักต์จากน้ำมัน) แต่ยังดีที่ GC ใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบด้วยบางส่วน ไม่ใช้เฉพาะแนฟทา

“ถ้าดูวอลุ่มการผลิตโดยรวม ๆ ของ GC จะลดลง 2-3% แต่ Allnex จะมาช่วยเพิ่มกำลังผลิตอีก 1 ล้านตัน ทำให้ภาพรวมโต 2-3% จุดแข็งเป็นธุรกิจที่คู่แข่งน้อย สมมุติต้นทุนเขาสูงขึ้น น้ำมันแพง วัตถุดิบแพงก็ยังรักษา margin เอาไว้ได้”

สำหรับสารเคลือบผิวที่ Allnex ผลิตนี้จะมีการนำไปใช้ในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นก่อสร้างตึก ยานพาหนะ อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ GC มีจุดแข็งเรื่องการผลิตเคมีชนิดพิเศษ ซึ่งมีคู่แข่งน้อย และเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด

อีกทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยง ทำให้มีรายได้เข้ามาจากหลายประเทศและหลายอุตสาหกรรม โดยการเข้าไปลงทุนใน Allnex เป็นการกระจายความเสี่ยงไปในหลายธุรกิจ ทั้ง packaging, พลาสติก, อุตสาหกรรมรถยนต์, โพลิเมอร์ และมีฐานโรงงานอยู่ใน 30 ประเทศ แบ่งเป็นในสหภาพยุโรป 40% เอเชีย 30% และ 20% ในอเมริกา

แนวทางสร้างการเติบโตกำไร 50%

“GC เข้าไปอยู่ในบอร์ด Allnex แล้ว โดยอยู่ระหว่างการทำ workshop ซึ่งน่าจะมี synergy กันได้ เหตุผลที่เราไปซื้อ เพราะเขาโตในหลายประเทศ และมีแผนจะโตอีกเยอะ เราจึงไปช่วยเสริม เราเก่งเอ็นจิเนียริ่ง ก่อสร้าง operation แต่เขาเก่งกว่าเราเรื่อง marketing นวัตกรรม เมื่อผสมผสานกัน ก็ทำให้เขาขยายธุรกิจในเอเชียได้

มีโรงงานในจีนหลายโรง มีแผนขยายมากขึ้น ใกล้เซี่ยงไฮ้อาจเอามารวมกัน มีในมาเลเซียและไทย 2 โรง และที่จะขยายในไทยแน่ ๆ คือ ศูนย์ R&D ที่ระยอง ที่จะมาทำร่วมกัน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี คนไทยก็จะได้ความรู้ตรงนี้ด้วย”

ดร.คงกระพันขยายความด้วยว่า โรงงานหลายโรงในโลกมีกำลังการผลิต (capacity) ค่อนข้างเต็มแล้ว ทำให้แต่เดิมไม่ค่อยมีการเพิ่มการลงทุนใหม่ ๆ ซึ่งในฐานะผู้ถือหุ้นระยะยาวที่มีความเข้าใจในเชิงกลยุทธ์ จึงช่วยแนะนำในการหาเงินลงทุน (funding) ให้ถูกลง เพื่อให้สามารถขยายการลงทุนไปในสิ่งที่จะต้องลงทุนมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่ได้ลง จึงจะโตไปเซิร์ฟตลาดได้ดีขึ้น

ดังนั้น การโต 50% คือ การลงทุนเพิ่มเพื่อไปต่อยอดให้ ภายใต้หลักการ คือ เอาแผนกลยุทธ์ที่มีอยู่แล้วมาหารือ และเสริมในสิ่งที่เขาขาด ทำให้โฟกัสมากขึ้น

แผนลงทุน M&A

สำหรับภาพรวมการลงทุนในปีนี้ ซีอีโอ “GC” ระบุว่า ยังไม่มีแผนการทำ M&A ขนาดใหญ่แบบ Allnex แต่จะมุ่งเก็บเกี่ยวดอกผลจากโครงการที่ลงทุนไปแล้ว ซึ่งไม่เพียง Allnex แต่ยังมีโครงการที่ไปลงทุนกับบริษัทจากญี่ปุ่น ที่จะเสร็จในปลายปี โครงการกับอาซาฮี (บริษัท ไทยอาซาฮีเคมีภัณฑ์ จำกัด) การร่วมลงทุนกับกลุ่มวีนิไทย

ซึ่งอยู่ระหว่างการทำดีลเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้น จาก 25% เป็น 35% เพื่อต่อยอดธุรกิจ PVC ครบวงจร ที่ไม่เพียงมีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน แต่หากเชื่อมต่อโครงการทั้งหมด (integrade) จะทำให้กำลังการผลิตแข็งแกร่งที่สุดในเอเชีย มีกำลังการผลิตพีวีซี 450,000 ตัน โซเดียมไฮดรอกไซด์ 720,000 ตัน คลอรีน 680,000 ตัน และอีพิคลอโรไฮดริน 120,000 ตัน

นอกจาก Step Out แล้ว บริษัทยังมุ่งดำเนินการกลยุทธ์ Step Change ทำบ้านหลังเดิมให้แข็งแรงจากธุรกิจเดิม โดยในปีนี้มี 2 โครงการใหม่ในไทย เช่น โครงการพลาสติกรีไซเคิลที่จะเสร็จในไตรมาส 2 และโรงงานพลาสติกที่ญี่ปุ่น ที่จะเสร็จปลายปี

รวมถึงเดินหน้าหาพันธมิตรร่วมลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์เดิมที่โอไฮโอต่อ แม้ปัจจุบันจะมีวิกฤตพลังงาน แต่สหรัฐไม่ได้รับผลกระทบต่อธุรกิจนี้ และมาร์จิ้นปิโตรเคมียิ่งดี

และกลยุทธ์ Step Up ยกระดับด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมเคมี ซึ่ง GC เป็นที่ 1 ของโลก 3 ปีซ้อนแล้ว แต่ต้องทำให้มากขึ้นไปอีก หลังจากปีที่ผ่านมาประกาศแล้วว่าจะ net zero ภายในปี 2050 ปีนี้จึงมีแผนงานชัดเจน มีงบประมาณ 5 พันล้านเหรียญ ลงทุนในแผนงานลดก๊าซเรือนกระจก

ปรับโฟกัสสู่ธุรกิจมูลค่าสูง

ดร.คงกระพันกล่าวว่า พอร์ต GC ในปี 2030 จะปรับเปลี่ยน จากการเพิ่มสัดส่วน “high value business” จาก 30% เป็น 35% อาจดูไม่มาก แต่เป็นการเติบโตมากกว่า 2 เท่า ส่วนธุรกิจไบโอและ circular จะเพิ่มสัดส่วนจาก 5% เป็น 7-8% และโพลิเมอร์ 30% ที่เหลือก็เป็นเคมิคอล

“ตอนนี้ GC มองเรื่องธุรกิจผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง คู่แข่งน้อย รายได้คงที่ คล้าย Allnex เป็นสเปเชียลตี้เคมิคอล รับเมกะเทรนด์ กลุ่มไบโอ รีไซเคิล circular ที่มี 5% ต้องการให้โตด้วยกระแสเมกะเทรนด์ ซึ่งปัจจุบันธุรกิจพลาสติกเราน่าจะเป็นที่ 1 ของโลก เพราะดึงเนเจอร์เวิร์ก เบอร์ 1 โลกมาเป็นพาร์ตเนอร์ และสร้างโรงงานไบโอ 2 โรงที่ จ.นครสวรรค์

ส่วนธุรกิจกลุ่มเดิมที่เป็นเบสอย่างเคมิคอลกลุ่มโอเลฟินส์ อะโรเมติกส์ จะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้แข็งแรงขึ้น ต้องรักษาเป็นฐานการเจริญเติบโตในไทย และเป็นฐานที่ช่วยให้ตัวอื่นมันดี”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปีนี้จะมีความเสี่ยงจากหลายปัจจัย แต่ GC ดีกว่าคู่แข่ง เพราะผ่านเรื่องหนัก ๆ ทั้งด้านการค้า น้ำมันมันลบ แต่ต้องอย่าลืมว่า “โลกเปลี่ยนได้ตลอด” ซึ่งการกระจายพอร์ตการลงทุนช่วยลดความเสี่ยงได้

แต่สิ่งเดียวที่ห่วง คือ “ภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวม” จากสงครามการค้ารัสเซีย-ยูเครน ที่แม้ว่าอาจเลิกรบกันในอีก 2 วันข้างหน้า แต่บาดแผลจะกินเวลาไป 3-5 ปีไม่จบ มีการแบ่งค่าย การแซงก์ชั่น และส่งผลต่อราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนพื้นฐานของหลายอุตสาหกรรม