“กานต์”ชี้ไทยไร้อนาคตถ้าไม่เร่งผลิตงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ห่วงงานวิจัยไทยใช้จริงได้แค่ 5% เร่งนักวิจัยยุคใหม่ปรับตัว

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดงานประชุมวิชาการครั้งที่3 หัวข้อ “จุดประกายความคิด สร้างเศรษฐกิจนวัตกรรม ด้วยพลังงานวิจัย/ A FUELING INNOVATIVE ECONOMY WITH R&D” ณ ห้องบอลรูม โซนเอ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีนายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และประธานโครงการประสานพลังประชารัฐ 2 คณะ คือ คณะทำงานด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ และคณะทำงานด้านการปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถานำ

นายกานต์ กล่าวถึงความสำคัญของงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ว่า เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจ และเชื่อว่าประเทศไทยในวันนี้จะสามารถพัฒนาไปข้างหน้าได้ด้วยการให้ความสำคัญกับการวิจัย ซึ่งควรเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถาบันศึกษา

“การพัฒนาด้านนวัตกรรมของไทยยังต่ำอยู่มากเมื่อเทียบกับด้านอื่น แต่เชื่อว่าจากนี้ไปประเทศไทยจะเริ่มเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ไทยไม่มีอนาคตแน่ถ้าไม่มีงานวิจัย ผมขอยกตัวอย่างบริษัทซัมซุง เมื่อปี 2005 เขาบอกว่ามูลค่าบริษัทนั้นแซงหน้าโซนี่เรียบร้อยแล้ว เขากวาดต้อนนักวิจัยจำนวนมาก เช่นเดียวกับบริษัทหัวเหว่ยซึ่งปี 2015 เขามีนักวิจัยถึง 70,000 คนและเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 คนในปีถัดมาโดยที่จำนวนพนักงานด้านอื่นยังมีจำนวนเท่าเดิม ขณะที่ในไทยตอนนี้มีนักวิจัยจำนวนมากอยู่ในภาครัฐบาลแต่กลับขาดแคลน ในภาคเอกชน ผมคิดว่าภาครัฐควรถ่ายเทนักวิจัยมาสู่ภาคเอกชนซึ่งเชื่อว่าเป็นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันผลลัพธ์เชิงเศรษฐกิจเป็นหลัก และผมมั่นใจว่าอนาคตซีอีโอในหลายๆ บริษัทจะเป็นนักวิจัย”นายกานต์กล่าว

นอกจากนี้ยังมองว่าในปัจจุบันการทำวิจัยในไทยยังเน้นที่เอกสารงานวิจัยมากกว่าการประยุกต์ใช้จริงเชิงพาณิชย์ เมื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้กลับคืนจึงนับว่าไม่คุ้มค่า ขณะที่ในส่วนของผู้วิจัยเองควรมีความสามารถด้านการสื่อสารระหว่างนักธุรกิจจากภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปเพื่อให้เกิดการต่อยอดวิจัยในทางเศรษฐกิจ

“ผมเชื่อว่าตัวเองเป็นซีอีโอที่ไปเยี่ยมบริษัทวิจัยมากที่สุดในโลก ทุกวันนี้มีงานวิจัยเพียง 5% ที่สามารถนำมาขายเชิงพาณิชย์ได้ ส่วน 95% ที่เหลือยังเป็นตัวเล่มงานวิจัยอยู่ นักวิจัยต้องเข้าใจว่าวิจัยเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพรวมใหญ่ๆ ยังมีการบริการหลังการขาย มีบริการเชิงเทคนิค มีการประสานงานกับลูกค้า เป็นต้น ที่สำคัญนักวิจัยต้องพูดภาษาคนได้ คือต้องสื่อสารให้นักธุรกิจเข้าใจโดยง่ายและควรเน้นขายงาน”นานกานต์กล่าว


กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวด้วยว่าโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม(พวอ.) เป็นโครงการสนับสนุนทุนวิจัยปริญญาโท-เอก จากความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอด แลกเปลี่ยนความรู้ และการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยครั้งนี้มีการแสดงผลงานนักศึกษาที่ได้รับทุนทั้งสิ้นมากกว่า 150 ผลงาน แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอาหารและแปรรูปอาหาร กลุ่มเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มยา สมุนไพร วิทยาศาสตร์การแพทย์ เครื่องสำอาง กลุ่มวัสดุศาสตร์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มโลหะ ยานยนต์ ขนส่งและโลจิสติกส์ และกลุ่มพลังงาน สิ่งแวดล้อมและปิโตรเคมี