กรมเจรจาการค้าฯโชว์แผนเจรจา FTA พร้อมรับเจ้าภาพ APEC

ส่งออก

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศตั้งเป้าทำ FTA กับคู่ค้า 80% ของการค้าไทยกับโลก กางแผนทำงานปี 65 ลุยปิดดีล FTA

วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ของกรม เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนากรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ครบรอบ 80 ปี ว่า กรมได้กำหนดวิสัยทัศน์การทำงานในอีก 5 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2565-2570) โดยตั้งเป้าที่จะผลักดันการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศคู่ค้า ให้ครอบคลุม 80% ของสัดส่วนการค้าไทยกับโลก

ซึ่งปัจจุบันการทำ FTA กับคู่ค้า มีสัดส่วนอยู่ที่ 64% เมื่อเทียบกับอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ทำ FTA กับประเทศทั่วโลก สูงถึง 96% เวียดนาม 73% อินโดนีเซีย 67% และฟิลิปปินส์ 71% ดังนั้น กรมจึงต้องเร่งผลักดันการเจรจาจัดทำ FTA กับคู่ค้าเพิ่มขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าสินค้า บริการและการลงทุน ให้กับผู้ประกอบการไทย

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ภายใต้วิสัยทัศน์ดังกล่าว ทำให้ในปีนี้ กรมมีแผนที่จะผลักดันการเจรจา FTA คงค้างให้ได้ข้อยุติ อาทิ ไทย-ตุรกี ไทย-ปากีสถาน ไทย-ศรีลังกา โดย FTA ไทย-ตุรกี มีแนวโน้มที่จะสรุปผลการเจรจาได้ภายในปีนี้ และจะเร่งเปิดเจรจา FTA ฉบับใหม่ ได้แก่ ไทย-สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) และไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่ง FTA ไทย-EFTA และการอัพเกรด FTA ในกรอบอาเซียนกับคู่เจรจา

ได้แก่ จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กำลังอยู่ระหว่างการเสนอกรอบการเจรจาให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา รวมทั้งมีแผนศึกษาทำ FTA กับประเทศที่ภาคเอกชนเสนอ อาทิ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และละตินอเมริกา

สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปก (MRT) ระหว่างวันที่ 19-22 พฤษภาคมนี้ โดยมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งจะผลักดันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Model) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน การฟื้นฟูการท่องเที่ยว การเปิดการค้าเสรี การรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค การก้าวไปสู่สังคมดิจิทัล

การส่งเสริมแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดี ความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร และที่สำคัญจะให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการค้า การลงทุน ให้รองรับรูปแบบการค้าใหม่สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 การอำนวยความสะดวกทางการค้าเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีน สินค้าจำเป็น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของสมาชิกเอเปก

ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก (WTO) ในเดือนมิถุนายนนี้ จะร่วมกับสมาชิกผลักดันการจัดทำความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมง การลดการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตร การปฏิรูป WTO เพื่อให้เป็นองค์กรที่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มบทบาทของ WTO ในการรับมือกับโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

กรมยังมีแผนใช้เวทีการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมการเจรจาการค้า (Joint Trade Committee : JTC) กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคทางการค้า และกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยในปีนี้ ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม JTC ระดับรัฐมนตรี กับเวียดนามและภูฏานแล้ว เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และมีแผนจะประชุม JTC กับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สิงคโปร์ สหราชอาณาจักร มัลดีฟส์ จีนและบังกลาเทศ ในปีนี้ด้วย

นอกจากนี้ จะเดินหน้านำผลสำเร็จจากการเจรจา FTA ในกรอบต่าง ๆ ไปสู่การปฏิบัติจริง โดยจะลงพื้นที่ไปพบปะกับเกษตรกร และผู้ประกอบการในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อไปแนะนำ ให้ข้อเสนอแนะ ชี้โอกาสและลู่ทางการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการทำตลาดต่างประเทศ โดยมีแผนที่จะลงพื้นที่ อาทิ โครงการสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์ FTA Center ระดับจังหวัด ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2565 ณ จ.พะเยา

โครงการพัฒนาความพร้อมทางการค้าของสหกรณ์ไทยสู่การค้าเสรี (ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 10-12 มิถุนายน 2565 ณ จ.นครศรีธรรมราช โครงการการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สู่ตลาดการค้าเสรีอาเซียน ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-18 มิถุนายน 2565 ณ จ.นราธิวาส โครงการเพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี (ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ) ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 18 – 20 สิงหาคม 2565 ณ จ.แม่ฮ่องสอน

นางอรมนกล่าวอีกว่า แม้กรมจะเร่งเดินหน้าการเจรจา FTA เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน แต่จะดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร และผู้ประกอบการ โดยได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุน FTA แบบถาวร ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนของกระทรวงการคลังแล้ว และอยู่ระหว่างการเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา กรมได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการทำงาน สร้างเครือข่าย และสร้างการมีส่วนรวม ตลอดจนส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลในการปฏิบัติราชการ

โดยสนับสนุนการทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์และผลประโยชน์ส่วนรวมตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างรวดเร็วและโปร่งใส ซึ่งมีการพัฒนาบุคลากรและระบบการทำงานของกรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กรมได้รับรางวัลที่น่าภาคภูมิใจ อาทิ รางวัลเลิศรัฐ สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม รางวัลเลิศรัฐ สาขาการบริการภาครัฐ และรางวัลศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการโดดเด่น