เกษตรฯ หนุนเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง แปรรูปหมอนยางพาราส่งขายในจีน เผยยอดสั่งซื้อ 2.4 แสนใบต่อปี

เกษตรฯ หนุนเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง แปรรูปหมอนยางพาราส่งขายในจีน เผยยอดสั่งซื้อ 2.4 แสนใบต่อปี เล็งขยายความร่วมมือไปยังประเทศอื่น พร้อมสั่งการยางฯ เร่งวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราให้มีคุณภาพสูงตรงตามความต้องการของผู้ใช้

นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อ-ขาย หมอนยางพาราเพื่อจำหน่ายในสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่าง เครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง หมอนยางพารา “สิรี” ในฐานะผู้แทนจำหน่ายในไทย และบริษัท Sichuan Kennan Trading Co,.LTD. ผู้จัดจำหน่ายในสาธารณรัฐประชาชนจีน ว่า ยางพาราเป็นสินค้าเกษตรที่มีราคาผันผวน ส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรเป็นอย่างมาก กลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชาวสวนยางพารา จึงได้นำน้ำยางพารามาแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะหมอนยางพารา ซึ่งได้มีการผลิตมาระยะหนึ่ง แต่หลายแห่งมีปัญหาด้านการตลาด

สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้เกิดจากความตั้งใจของเกษตรกรชาวสวนยาง และเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง โดยมีนายธีระชัย แสนแก้ว ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพารา และ นายบัวสอน ประชามอญ ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายผลิตหมอนยางพารา “สิรี” มีความตั้งใจที่จะดูแลเกษตรกรชาวสวนยางให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์จากยางพาราโดยเฉพาะน้ำยางสด จึงได้ตกลงร่วมกันผลิตหมอนยางพารา ส่งให้กับแบรนด์ “สิรี” ซึ่งจะรับผิดชอบในการรวบรวม รับซื้อหมอนยางพาราจากกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจเครือข่าย ไปจำหน่ายยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ ภายใต้แบรนด์ “สิรี” ในการผลิตหมอนยางพาราแท้ 100% ซึ่งเป็นที่ต้องการสูงมากในประเทศจีน และมีการซื้อขายกันมาเกือบ 2 ปีแล้ว โดยขณะนี้มียอดสั่งซื้อเบื้องต้น 2 หมื่นใบต่อเดือน หรือ 2.4 แสนใบต่อปี ซึ่งเป็นปริมาณใกล้เคียงกับกำลังการผลิตเบื้องต้นของกลุ่มสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน หากอนาคตมียอดสั่งซื้อมากขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสนับสนุนเพื่อขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับตลาดเพิ่ม อย่างไรก็ตาม พบว่าในประเทศจีนมีทั้งหมอนจำหน่ายที่มีคุณภาพ และไม่มีคุณภาพ แต่ภายใต้ความร่วมมือนี้จะทำให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจได้ว่า การผลิตหมอนยางพาราภายใต้แบรนด์ “สิรี”ของไทย จะสามารถควบคุมคุณภาพที่ผู้ใช้จะได้รับประโยชน์อย่างคุ้มค่าแน่นอน


“ความร่วมมือดังกล่าวทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่า ต่อไปนี้สหกรณ์การเกษตรเล็กๆ จะสามารถรวบรวมน้ำยางดิบน้ำยางสดจากเกษตรกรชาวสวนยางแล้วผ่านกระบวนการแปรรูปเป็นหมอนยางที่มีคุณภาพได้ ส่วนก้าวต่อไปนั้น ทางการยางแห่งประเทศไทยจะต้องทำการศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์หมอนยางพาราให้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ใช้ทั้งในประเทศจีนและประเทศอื่น ส่วนภาครัฐต้องส่งเสริมดูแลให้สหกรณ์รายย่อยได้รวมตัวกันผลิตสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่มต่อไปในอนาคต โดยความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะขยายไปยังความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ซึ่งต้องสร้างความมั่นใจให้ทั่วโลกเห็นว่า หากซื้อหมอนยางพาราจากประเทศไทยจะต้องได้หมอนยางพาราแท้ 100% ขณะเดียวกันทางการยางแห่งประเทศไทยจะต้องสนับสนุนให้สหกรณ์เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมลดต้นทุนการผลิต หากระบบสหกรณ์มีความต้องการเงินทุนที่จะขยายการผลิต ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องจักร หรืออาคารโรงเรือนสถาบันการเงินของรัฐก็ต้องเข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรมีเงินลงทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำมาขยายการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย”นายสุพัฒน์ กล่าว