“วุ้นเส้นมังกรคู่” ผงาดหมื่นล้าน ดันสินค้าใหม่ฝ่าวิกฤต-จ่อปั้นสตาร์ตอัพ

ไทยวา ผู้ผลิตวุ้นเส้น มังกรคู่ กิเลนคู่ หงส์ ฝ่าวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ดันยอดขายไตรมาสแรกโต 30% คาดทั้งปีรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้าน ปั้น “ไทยวา เวนเจอร์” รุกลงทุนสตาร์ตอัพในอินโดฯ สหรัฐ ออสเตรเลีย เกาะกระแสเมกะเทรนด์ new S-curve-BCG จ่อเดินเครื่องผลิตโรงงานไบโอพลาสติกจากมันสำปะหลังย่อยสลายได้ เฟส 1 จ.ระยองในไทย มองโอกาสลงทุนโปรตีนทางเลือก-เอทานอล

นายโฮ เรน ฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) หรือ TWPC ผู้ผลิตผลิตผลทางการเกษตรและผู้ผลิตมันสำปะหลังแบรนด์ “มังกรคู่ กิเลนคู่ และหงส์” เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดขายให้เติบโตระดับ 2 หลัก หรือไม่ต่ำกว่า 10% หรือคิดเป็น 10,015.5 ล้านบาท จากยอดขายรวมปี 2564 อยู่ที่ 9,105 ล้านบาท

พร้อมมุ่งเพิ่มกำไรหลังจากหักค่าเสื่อม (EBITDA) เพิ่มขึ้นอีก 70% โดยปัจจัยหลักมาจากการพัฒนาสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงอีก 8-10 รายการ และการขยายการส่งออกไปยังประเทศตลาดที่มีศักยภาพ เช่น อินเดีย ไต้หวัน สหรัฐ สหภาพยุโรป (EU)

โดยเร็ว ๆ นี้บริษัทมีแผนจะเปิดออฟฟิศร่วมกับพันธมิตรที่เมืองซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก และลอนดอน เพื่อประกอบธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีด้านการเกษตร อาหารและชีวภาพ โดยอยู่ระหว่างเจรจาและเตรียมแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ของบริษัท คือ ไทยวา เวนเจอร์ ซึ่งจะมุ่งลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพ 3 แห่งในประเทศสหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีที่มีการเติบโตสูง ทั้งในกลุ่มเกษตรและอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ และดิจิทัลซัพพลายเชนอีกด้วย

ประกอบกับได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่องให้เข้ากับท้องถิ่น เช่น ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ซองลอง (Song Long) ซึ่งเป็นแบรนด์แฟลกชิปของบริษัทในเวียดนาม ผลิตภัณฑ์วุ้นเส้นที่ได้รับการตอบรับและโตรวดเร็ว ส่วนผลิตภัณฑ์แป้งประกอบอาหารและส่วนผสมอาหารที่ขายให้กับกลุ่มธุรกิจนั้น บริษัทยังคงเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง แป้งดัดแปลง และแป้งมันสำปะหลังออร์แกนิก กลูเตน โดยมีเป้าหมายส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) อีกด้วย

“ปีนี้เศรษฐกิจโลกท้าทายทุกบริษัทมาก อีกทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบต้นทุนพลังงานและโลจิสติกส์ ขนส่งทางเรือที่ยังคงแพง แต่ธุรกิจเกษตรและอาหารเป็นธุรกิจระดับโลก ความท้าทายเกี่ยวกับความมั่นคงด้านอาหาร ทำให้ตลาดมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น บริษัทได้ปรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มานับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มระบาด ดัดแปลงซัพพลายเชนผลิตภัณฑ์ใหม่”

“ซึ่งช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาพบว่ายอดขายและการทำตลาดทั่วโลกของเราเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงขึ้นมาก เฉพาะกำไรไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 30% โดยยอดขายรวมทั่วโลกเพิ่มขึ้น 15% ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ปีนี้เป้าหมายจะเห็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นอีก 2 หลัก จากธุรกิจใหม่ไบโอพลาสติก โรงงานที่ จ.ระยองเพิ่ม จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตรวม 1.2 ล้านตันต่อปี จะมาสร้างโอกาสการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มอีก”

สำหรับธุรกิจของไทยวาไตรมาส 1 เติบโต 30% มูลค่า 2,465 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจแป้งมันสำปะหลัง 1,321 ล้านบาท คิดเป็น 54% แป้งมันสำปะหลังดัดแปลงมูลค่าเพิ่ม 664 ล้านบาท (27%) และธุรกิจอาหาร 480 ล้านบาท (19%) สำหรับสัดส่วนรายได้จากตลาดในประเทศ 86% และตลาดต่างประเทศ 14% ซึ่งตลาดหลักต่างประเทศคือ เวียดนาม จีน และสหรัฐอเมริกา

นายธนชาต เหล่าศิริพงศ์ AVP, Specialty Business TWPC กล่าวว่า กลยุทธ์ปีนี้บริษัทมุ่งเป้าขยายกลุ่มธุรกิจมูลค่าสูง อย่างไบโอพลาสติก หรือเม็ดพลาสติกชีวภาพ ภายใต้แบรนด์ “ROSECO” ซึ่งจะสอดคล้องกับเมกะเทรนด์อุตสาหกรรมใหม่ new S-curve นับเป็นการบุกเบิกพลาสติกชีวภาพจากแป้งมันสำปะหลังเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มวางจำหน่ายเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตเฟสแรกไว้ 3,000 ตันต่อปี คาดว่าจะสร้างรายได้ให้บริษัท 1,000 ล้านบาท และภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะมีกำลังผลิตเป็น 10,000 ตัน

สำหรับสินค้าพลาสติกชีวภาพชนิดนี้ ผลิตจากแป้งมันสำปะหลัง สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และนำไปขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ เช่น ภาชนะบรรจุอาหาร บรรจุภัณฑ์ พลาสติกคลุมดิน ฯลฯ บริษัทมีฐานการผลิตที่ จ.ระยอง ซึ่งเป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลัง โรงงานแห่งนี้เน้นการลดการปล่อยคาร์บอน และใช้โซลาร์เซลล์

“บริษัทยังมุ่งมองหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจอาหารทางเลือกจากโปรตีน (plant based food) โดยอยู่ระหว่างศึกษาเรื่องวัตถุดิบที่จะนำมาใช้นอกจากแป้ง อาจเป็นถั่วเขียว ถั่วเหลือง ต้องดูราคาต้นทุนและจังหวะที่เหมาะสม อีกทั้งยังเห็นโอกาสการลงทุนด้านเอทานอล ที่บริษัทมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบมันสำปะหลัง คาดว่าภายในปีนี้จะเห็นโอกาสขยายการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ BCG มากขึ้น”

“แผนการขยายดังกล่าวนั้น ล้วนสอดรับกับนโยบายรัฐบาล การผลักดัน BCG ภาคเอกชนลงทุนรัฐบาลโดยบีโอไอจูงใจด้วยการลดภาษี ด้านสิ่งแวดล้อม เร่งรัดพัฒนา ecosystem และลงทุนด้าน R&D นวัตกรรม ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขัน สร้างความมั่นคงทางอาหาร และผลักดันการขยายตลาด โดยมีความตกลง FTA มาช่วยสร้างแต้มต่อ เช่นเดียวกับที่ทางเวียดนามได้เปรียบเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นจังหวะและโอกาสเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศได้มาก” นายธนชาตกล่าว