พาณิชย์แจงมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตามที่สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีข้อเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีนั้น กระทรวงพาณิชย์ ขอชี้แจงว่า ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และราคาข้าวโพดปรับตัวลดต่ำลง โดยมีสาเหตุมาจากผลผลิตออกกระจุกตัวมากในช่วงเดือน ก.ย. – พ.ย. ซึ่งมีปริมาณมากกว่าความต้องการใช้ ส่งผลให้โรงงานอาหารสัตว์กำหนดโควตารับซื้อจากเกษตรกรและผู้รวบรวมและให้ผู้รวบรวมจัดเก็บปริมาณข้าวโพดส่วนที่เกินไว้ ประกอบกับราคาข้าวสาลีโลกปรับตัวลดลง โรงงานอาหารสัตว์จึงมีการนำเข้าข้าวสาลี เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ดังนั้น ในปี 2560 เพื่อป้องกันปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ รัฐบาลจึงได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยคณะกรรมกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกอบการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่มีปริมาณตั้งแต่ 50 ตันขึ้นไปต้องแจ้งปริมาณ ราคา สถานที่เก็บ และจัดทำบัญชีคุมสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการ อีกทั้งมีการเชื่อมโยงตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในแต่ละจังหวัดระหว่างเกษตรกร ผู้รวบรวม โรงงานอาหารสัตว์ และผู้เลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อบริหารจัดการผลผลิตส่วนเกิน รวมทั้งมีการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีในอัตรา 1 : 3 ส่งผลให้เกษตรกรจำหน่ายข้าวโพดได้ในราคาสูงขึ้น
ปัจจุบัน (ณ วันที่ 26 ธ.ค. 60) ราคาข้าวโพดเมล็ดที่โรงงานอาหารสัตว์รับซื้อ ณ ความชื้น 14.5% อยู่ที่ 9.50 9.60 บาท/กก. ซึ่งใกล้เคียงกับราคาข้าวโพดเฉลี่ยในระหว่างปี 2556 – 58 ซึ่งอยู่ที่ 9.07 – 9.40 บาท/กก. ยกเว้นราคาเฉลี่ยของ ปี 2559 ซึ่งอยู่ที่ 8.49 บาท/กก. เนื่องจากมีการนำข้าวสาลีเข้ามาจำนวนมาก ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 60 เห็นชอบการกำหนดนโยบายและมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2561-63 โดยภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และ ACMECS กำหนดภาษีนำเข้าร้อยละ 0 โดยให้ อคส. นำเข้าได้ตลอดทั้งปี สำหรับผู้นำเข้าทั่วไป กำหนดช่วงเวลานำเข้าระหว่างเดือน ก.พ. – ส.ค. ของแต่ละปี เนื่องจากในช่วงเดือน ก.ย. – ม.ค. ผลผลิตภายในประเทศออกสู่ตลาดจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องจำกัดการนำเข้าเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคาข้าวโพดในประเทศ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการสามารถนำเข้าข้าวโพดผ่าน อคส. ซึ่งนำเข้าข้าวโพดได้ตลอดทั้งปี


อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีนิวซีแลนด์ยื่นฟ้องมาตรการ 1 : 3 ว่าผิดกฎองค์การการค้าโลก (WTO) ปัจจุบันไทยยังไม่ได้รับแจ้งจาก WTO ซึ่งโดยปกติผู้ยื่นฟ้องจะเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ที่ผ่านมาไทยไม่เคยนำเข้าข้าวสาลีจากนิวซีแลนด์ โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ ยูเครน และอาร์เจนตินา ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะได้ติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดผลกระทบน้อยที่สุดกับทุกภาคส่วน ทั้งผู้เลี้ยงสัตว์และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระทรวงพาณิชย์จะได้ประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการที่เหมาะสมต่อไป